Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 31 ส.ค.47 ผลวิจัยเกษตรกรรายย่อย ยืนยันวิถีแนวทางเกษตรยั่งยืน ระบุ ไม่ใช่แค่อาชีพแต่เป็นชีวิตและวัฒนธรรม ทั้งยังจะเป็นทางออกสำหรับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย

"เกษตรกรรมยั่งยืนไม่ได้เกี่ยวกับการเกษตรอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงกับทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จากตัวอย่างที่คุยกันมาสองวันนั้นชัดเจนว่าเกษตรกรรมทางเลือกทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมแห่งการเกื้อxxxลกลับคืนมา ดังนั้นต้องยกระดับขึ้นเป็น ชุมชนทางเลือก หรือชีวิตทางเลือก ที่มีอยู่จริงและสามารถอยู่ได้จริง" นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) กล่าว

นายชัชวาลกล่าวถึง การยกระดับองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนว่าจะต้องรวบรวมความรู้แล้วจัดตั้งเป็นสถาบันเพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น จากนั้นเชื่อมโยงความรู้นอกกระแสนี้สู่การศึกษาในระบบ เพื่อยกระดับให้เกษตรกรรมยั่งยืนมีสถานะที่ชัดเจน รวมทั้งต้องเพิ่มการทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อสุดท้ายจะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายให้เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทิศทางการพัฒนาใหญ่ของประเทศ

นายวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย(ไบโอไทย) กล่าวถึงผลการวิจัยในหนังสือ "บทเรียนจากปฏิวัติเขียวสู่พันธุวิศวกรรม" ที่ศึกษาเรื่องปัญหาหนี้สินในภาคเกษตรพบว่า จากการสำรวจเกษตรกร 100 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ชาวบ้านเกือบ 90% ยังยืนยันว่าจะทำการเกษตรต่อไปแม้จะมีหนี้สินรุงรัง โดยให้เหตุผลว่าการเกษตรเป็นมากกว่าการประกอบอาชีพ แต่เป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และกว่า 70% บอกว่าอยากเปลี่ยนมาทำเกษตรยั่งยืน ทั้งที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเกษตรยั่งยืนแต่อย่างใด ถือเป็นสัญญาณชัดเจนว่า เกษตรกรรมยั่งยืนควรเป็นทางออกของภาคเกษตรในประเทศไทย

"โครงการนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สามารถนำเสนอโครงการและบริหารจัดการโครงการโดยเกษตรกรเอง เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้แต่ในประเทศข้างเคียงที่มีพื้นฐานการเกษตรเหมือนเรา" นายวิฑูรย์กล่าว

นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรฒน์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายทรัพยากร กล่าวว่า ในด้านกฎหมายเครือข่ายเกษตรกรสามารถผลักดันกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์การดำเนินโครงการให้เป็นกฎหมายท้องถิ่น ผ่านทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อแปลงสิทธิชุมชนในกระดาษมาสู่ชีวิตจริง โดยไม่ต้องหวังพึ่งกฎหมายระดับชาติซึ่งยังไม่มีผลจริงจัง

ด้านนางจงกลมณี วิทยารุ่งเรืองศรี ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สามารถผลักดันโครงการนี้ต่อโดยเชื่อมโยงไปยังโครงการอื่นๆ ของรัฐ โดยเฉพาะโครงการฟู้ดเซฟตี้ ซึ่งทำได้ในหลายพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ตลาด ตลอดจนซูเปอร์มาเก็ตบางส่วนที่สนใจแนวทางนี้ โดยเกษตรกรอาจตั้งเป็นเครือข่ายของตนเองแล้วประสานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลักดันแนวทางดังกล่าว

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net