พลังงานและความเสียเปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การะเกด* : earthsbestdefense@yahoo.com

ในท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์พลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กลับนำเสนอแผนการผลิตไฟฟ้าที่ขัดกับสามัญสำนึกของปุถุชน ผิดหลักการลงทุนของนักธุรกิจ และผิดหลักยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan, PDP2004) ดังกล่าว ตั้งเป้าลงทุน 550,000 ล้านบาทภายในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2554 เริ่มตั้งแต่ปี 2550 จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทั้งหมด 21 โรง โดยแหล่งไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ

21 โรงไฟฟ้าภายในสี่ปี นั่นหมายถึงการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยอัตรา 4 โรงต่อปี !

เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติสูง เป็นอัตราส่วนกว่า 75% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แผนการณ์สร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยถูกผูกมัดกับก๊าซธรรมชาติมากขึ้นไปอีก

ก๊าซธรรมชาติ เป็นแหล่งพลังงานที่เรามีไม่มากและกำลังแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาของน้ำมัน ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเพียง 20% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่าย สำหรับก๊าซธรรมชาติที่เราผลิตได้เองในประเทศ กลับตกอยู่ในมือของ บรรษัทข้ามชาติซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซในผืนแผ่นดินและแผ่นน้ำของเราเอง

นอกจากนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในประเทศไทยนั้น ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เพราะขณะนี้ เนื้อที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเหลือน้อยลง ในช่วงที่ผ่านมาการเลือกสถานที่ที่เหมาะสมกับการตั้งโรงไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า สายจำหน่ายไฟฟ้า และท่อก๊าซ มีแนวโน้มที่จะก่อความขัดแย้งกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตชุมชนมากขึ้น อย่างกรณีการต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด ก็ได้ยืดเยื้อโครงการจนไม่เกิดขึ้น ซึ่งในที่สุดคนที่จะแบกภาระ ก็คือประชาชนผู้เสียภาษีเอง กรณีโรงงานบ่อนอกที่ไม่เกิดขึ้นนั้น รัฐถูกฟ้องโดยบริษัทรับเหมา และอาจต้องใช้เงินภาษีของประชาชนจ่ายทางบริษัทเป็นเงินถึง 4,000 ล้านบาท หรือมิฉะนั้นผู้ใช้ไฟก็ต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้น เรียกว่า เป็นการเสียค่าโง่ นั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐได้เซ็นสัญญากับบริษัทก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องที่ได้กระทำประชาพิจารณ์

ซ้ำร้าย การลงทุนกับก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ยังเพิ่มความเสี่ยงในแง่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ

ระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ ซึ่งประกอบไปด้วยระบบโรงงานไฟฟ้า สายไฟ สายจ่ายไฟ และท่อก๊าซที่เชื่อมโยงกันนั้น ยิ่งรวมศูนย์มากเท่าใด โอกาสที่เราจะเป็นเป้านิ่งของการก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้ายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ท่อก๊าซธรรมชาติที่ต่อจากมาเลเซีย และพม่านั้น หาไม่ยากและเป็นจุดล่อผู้ก่อการร้ายที่ดีเยี่ยม สำหรับท่อก๊าซไทย-มาเลเซียแม้ว่า ส่วนหนึ่งจะถูกฝังใต้น้ำ แต่อีกเกือบ 90 กิโลเมตรอยู่บนพื้นดินในบริเวณจุดอ่อนของภาคใต้ จึงง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ไม่ประสงค์ดี

ส่วนการทำให้ไฟฟ้าดับนั้นเป็นสิ่งที่ง่าย การโยนวัสดุโลหะ ไปที่สายไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลัดวงจรไฟฟ้าสู่พื้นดิน ส่งผลต่อเนื่องให้สายไฟอื่นๆต้อง ต้องจ่ายไฟมากขึ้นจนเกิดร้อน และดับตามไปด้วย เกิดไฟฟ้าดับต่อเนื่องเป็นลูกโซ่แบบ domino effect

อันจะก่อความเสียหายมหาศาลต่อธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เนตมีบทบาทมากขึ้น ทำให้ระบบสื่อสารโทรคมนาคม รถไฟฟ้า และรถใต้ดินของเรา อาจต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟดับขึ้น

จริงอยู่ที่ทหาร และตำรวจ สามารถตระเวณเฝ้ารักษาความปลอดภัยของระบบส่งก๊าซและไฟฟ้าเหล่านี้ แต่มันอาจเป็นหน้าที่ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเครือข่ายระบบท่อก๊าซและสายส่งไฟฟ้าของไทย ครอบคลุมระยะทางหลายพันกิโลเมตร นอกจากนี้ การใช้กำลังทหารและตำรวจ ยังจะเป็นการสร้างบรรยากาศข่มขู่ที่ไม่จำเป็น ทั้งยังจะทำให้พี่น้องประชาชนไทยต้องตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวตลอดเวลา การก่อสร้างท่อก๊าซไทย-มาเลเซียนั้น ได้ใช้กองกำลังตำรวจหลายร้อยคน ทำให้ประชาชนเกิดอาการหวาดระแวงมาแล้ว

เราต้องการสร้างภาวะแห่งความหวาดกลัว หรือจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ?

ความฝันของประเทศไทยที่จะเป็น ศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคเอเชียนั้น มีความเป็นไปได้สูง แต่ต้องมาจากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย ปัจจุบันแผนดังกล่าวได้เริ่มสร้างระบบสายไฟเชื่อมต่อจากเขตลาวและพม่า ท่อก๊าซเชื่อมต่อจากพม่าและมาเลเซีย แต่ฝันดังกล่าว อาจกลายเป็นฝันร้าย เพราะเป็นการสร้างโครงสร้างแบบรวมศูนย์ที่ง่ายต่อความล้มเหลว ในสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบของพลังงานรวมศูนย์ให้ไทยนั้น เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับบ่อยครั้งขึ้นทุกๆ สี่ปี และแต่ละครั้งก็ส่งผลต่อผู้คนเป็นล้านคน และเสียหายทางเศรษฐกิจกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

การทุ่มทุนเร่งสร้างระบบไฟฟ้าแบบรวมศูนย์โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก สร้างความพึ่งพิง ทำให้เงินตรารั่วไหล ก่อความขัดแย้งกับภาคประชาชน และเพิ่มความเสี่ยงต่อวินาศกรรมมากขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่เคยถูก "เลือก" อย่างเต็มที่ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล พลังงานลม และพลังงานจากขยะ แหล่งพลังงานเหล่านี้ นอกจากจะเป็นโอกาสทางการลงทุนครั้งสำคัญที่จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังเสริมความแข็งแกร่งและแน่นอนให้กับระบบไฟฟ้าของไทย เนื่องจากมีความกระจายศูนย์ และ มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ธุรกิจพลังงานทางเลือกทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่มีวิสัยทัศน์อย่างญี่ปุ่น เยอรมันนี และเดนมาร์ก ก็ได้ทุ่มทุนในการเร่งพัฒนาพลังงานทางเลือกเหล่านี้แล้ว เนื่องจากตระหนักดีว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะหมดไปภายในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ในขณะที่ประเทศอเมริกาล้าหลังทางด้านนี้เพราะถูกปิดตาด้วยบริษัทน้ำมันใหญ่ที่มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งกำลังสร้างภาพว่าน้ำมันยังไม่หมดไป

แต่เราๆ ท่านๆ ก็ทราบดีอยู่ว่า น้ำมันของโลกกำลังหมดไป และผู้ที่คุมน้ำมันที่เหลืออยู่ก็มีเพียงไม่กี่ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงนี้หรือไม่

ในแทบทุกตารางนิ้วของประเทศไทย มีแหล่งพลังงานทางเลือกที่อุดมสมบูรณ์ มีพลังงานลมที่มีศักยภาพถึงกว่า 1,600 เมกะวัตต์ในคาบสมุทรทางภาคใต้ พลังงานชีวมวล จากโรงเลี้ยงหมูและโรงสีที่มีอยู่ทั่วไปในภาคกลางและภาคอีสาน แหล่งน้ำในภาคเหนือที่เหมาะกับพลังน้ำขนาดเล็ก และแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ทั่วทั้งประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานทางเลือกเพียง 0.5% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดและตั้งเป้าลงทุนเพิ่มเพียง 8% ภายใน 8 ปีข้างหน้า ทว่า เป้าหมายนี้ไม่เพียงพอที่จะเทคโนโลยีที่จะกระตุ้นให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมในประเทศขึ้นมาได้

แหล่งพลังงานทางเลือกนอกจากจะไม่สร้างมลพิษแล้ว ยังประหยัด เพราะไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง จึงไม่เกิดการรั่วไหลของเงินออกนอกประเทศ ในทางตรงข้าม ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากพลังงานจากโรงไฟฟ้าใหญ่และน้ำมันกลับเป็นผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติที่ไม่สนใจว่าสภาพแวดล้อมและวิถีชุมชนของไทยจะถูกทำลายเท่าใด และไทยจะเกิดความพึ่งพิงพลังงานนำเข้ามากแค่ไหน

นอกจากนี้ พลังงานทางเลือกยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะสามารถสร้างงานได้เป็น 3 เท่าของพลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่แผนการตั้งโรงไฟฟ้าที่ใดๆ ก็ตามมักถูกต่อต้านโดยคนท้องถิ่น แผนการใช้พลังงานทางเลือกกลับได้รับการต้อนรับเพราะสามารถสร้างงานให้คนท้องถิ่น และไม่ทำลายสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต

ที่สำคัญ เนื่องจากระบบที่ใช้พลังงานทางเลือกจะมีลักษณะกระจายศูนย์ จึงถูกติดตั้งใหม่ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่ถูกทำลายเนื่องจากภัยธรรมชาติ หรือวินาศกรรม ในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่ถูกทำลายด้วยแผ่นดินไหวก็ถูกกู้กลับมาด้วยเทคโนโลยีพลังงานที่เคลื่อนที่ได้ อย่างแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น

แม้ว่าทางรัฐบาลจะได้ให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือกหลายทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตพลังงานครั้งแรก แต่โครงการและการลงทุนต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นเสมือนไฟไหม้ฟางที่เกิดแล้วดับไป แม้แต่โครงการเร่งรัดดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในชนบท ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นั้น ก็อาจเป็นอีกโครงการที่ล้มเหลวและสิ้นเปลืองเงินภาษี เพราะโครงการดังกล่าวต้องนำเข้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนมหาศาล โดยไม่ได้สร้างงาน และสร้างศักยภาพในการผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศ

วันนี้ รัฐ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทบทวนนโยบายพลังงานเสียใหม่ โดยจะต้องทุ่มให้พลังงานทางเลือกเกิดเป็นอุตสาหกรรมขึ้นอย่างจริงจัง โดยการเร่งวิจัย และเร่งให้เกิดความสามารถในการผลิตเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานทางเลือกได้ในประเทศ ซึงอาจเริ่มโดยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาใช้พื้นที่และแรงงานไทยในการผลิตกังหันลม หรือแผงโซลาร์ เพื่อให้เราเกิดการเรียนรู้กระบวนการผลิตเทคโนโลยีเหล่านั้น ดังที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย และฟิลิปปินส์กำลังทำอยู่

นอกจากนี้ เราควรเร่งผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานทางเลือกและจัดโครงการอบรม ให้บุคคลากรมีความสามารถในการติดตั้ง ซ่อมแซม ระบบพลังงานทางเลือกอีกด้วย

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ไฟใต้ไม่มีท่าว่าจะลดละ ประกอบกับสถานการณ์การก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกนั้น ประเทศไทยสามารถเลือก ที่จะปิดหูปิดตาตัวเองและถูกมัดมือชกต่อไปไปกับแหล่งพลังงานที่กำลังหมดไปจากศตวรรษที่แล้ว แหล่งพลังงานที่สร้างแต่ความขัดแย้งในทุกๆ ที่ที่มันถูกลงทุน

ในขณะเดียวกัน เราก็เลือกได้ที่จะก้าวกระโดดไปเป็นศูนย์กลางทางด้านแหล่งพลังงานที่สะอาด โดยใช้ระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่สร้างจากแหล่งพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่น ฟื้นตัวได้ง่ายหากถูกทำลาย ใช้เวลาก่อสร้างน้อย ไม่เสียค่าเชื้อเพลิง สร้างเงินสร้างงานให้ท้องถิ่น และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท