Skip to main content
sharethis

ประชาไท :ช่วยอธิบาย แนวคิดเรื่องการครอบงำเทคโนโลยีและสินค้าเกษตรจีเอ็มโอโดยประเทศมหาอำนาจ ที่คุณจิรากรณ์อ้างถึงว่าคือ สหรัฐฯกับไทย ?
จิรากรณ์ : อันนี้เป็นภาพที่ผมต่อขึ้นมา เพราะเวลานี้สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาในการส่งสินค้าเกษตรกรรมของตัวเองอย่างมาก ทั้งที่จริงแล้วสัดส่วนสินค้าออกของอเมริกาแล้ว มีพื้นฐานคล้ายไทยคือ ส่งสินค้าเกษตรกรรมมหาศาลออกตีตลาดโลก เมื่อก่อนไทยกับอเมริการก็สู้กัน เพราะเป็น 2 ประเทศหลักที่ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก แต่พออเมริกาเปลี่ยนไปเป็นจีเอ็มโอ ซึ่งคิดว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะทำให้ตัวเองผูกขาดอาหารของโลกทั้งหมด เป็นการสร้างอาณานิคมทางการค้ารูปแบบใหม่ แต่ปรากฏว่า ตลาดใหญ่ๆ ของโลกปฏิเสธ ในขณะที่ไทยยังขายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าว ดังนั้นจึงมีการใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอเมริกาเป็นมหาอำนาจบีบให้ประเทศไทยเปิดรับจีเอ็มโอ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเกิดการปนเปื้อน

ความพยายามที่เกิดขึ้นในกรณีของฝ้าย โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า เป็นความจงใจเช่นเดียวกับในกรณีนี้ แต่มันจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มันมีการยอมรับให้มีจีเอ็มโอในสังคม กินจีเอ็มโอก็ไม่เป็นไร ต่อไปก็จะเป็นข้าวจีเอ็มโอ ประชากรที่กินข้าว 3-4 พันล้านคนทั่วโลกก็ไม่มีทางเลือก เพราะประเทศที่ผลิตข้าวเหลือก็คือไทยกับสหรัฐเท่านั้น กลายเป็นมหาอำนาจในการส่งออกสินค้าเกษตร 2 ประเทศร่วมมือกัน

กรีนพีซหรือภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการทำแผนทางเลือกเสนอนายกฯ หรือไม่?
ไม่มีเลย มีแค่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์ไบโอเทคเท่านั้นเอง

เป็นเพราะเรามีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่ชัดเจนเพียงตรงนั้นหรือไม่?
ไม่ใช่ ถามว่าไบโอเทคตั้งมาเพราะอะไร ผมไม่แน่ใจแต่รู้สึกว่าเป็นเพราะต้องการโปรโมตเรื่องไบโอเทคโนโลยี แต่ถ้าถามเรื่องบทบาทหน้าที่ ไบโอเทคมีหน้าที่พิสูจน์ว่านี่คือข้อดี และนี่คือข้อเสีย ของไบโอเทคโนโลยี เอาเรื่องนี้ออกสู่สังคมให้ตรวจสอบและถกเถียงกันเพื่อมีทางเลือก แต่ที่ผ่านมาไบโอเทคทำหน้าที่อย่างเดียวคือส่งเสริมเกี่ยวกับเรื่องนั้น

เพราะอะไร?
ประการที่หนึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการวิจัยรวมถึงนักวิจัย นั้นได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหนึ่งชื่อ ISAAA ซึ่งบริษัทมอนซานโต้ สนับสนุนเงินทุน เพื่อส่งเสริมการใช้จีเอ็มโอในประเทศที่กำลังพัฒนา ความเป็นจริงนักวิจัยควรจะเป็นกลาง แต่คนให้ทุนเป็นคนสนับสนุน มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำการศึกษาแล้วคัดค้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักวิทยาศาสตร์เราไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ สร้างภูมิปัญญาให้สังคมไทยใช้ในการตัดสินอนาคต อย่างที่ดร.สุรวิทย์ วรรณไกรโรจน์ เล่าว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นทั้งคนทดลองและตรวจสอบความปลอดภัยทางชีวภาพเอง ใครจะกล้าออกมาคัดค้านว่าตัวเองผิด

ที่สำคัญที่สุด คือมันมีผลประโยชน์มหาศาล ข้อมูลที่ออกมาเป็นข้อมูลเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เมื่อวานที่กลุ่มกรีนพีซไปจัดสัมมนากับกลุ่มประชาสังคมที่ขอนแก่น คนที่ขอนแก่นไม่รู้เรื่องสิทธิบัตรใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่เคยออกมาพูดเรื่องนี้ และพยายามเปลี่ยนข้อถกเถียงเรื่องการปนเปื้อน มีแต่การจัดประชุมว่ามะละกอจีเอ็มโอดีๆๆๆ ขณะที่การปนเปื้อนเกิดขึ้นแล้วในไร่นาชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ข้อกล่าวหาของกรีนพีซเรื่องการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอที่สถานีพืชสวน จ. ขอนแก่นมีการตรวจสอบหรือยัง?
ไม่มีเลย กรมวิชาการเกษตรไม่ได้ตรวจสอบ หรืออาจจะมีบ้าง เท่าที่รู้ข้อมูลในลักษณะที่ไปบอกชาวบ้านที่เขาปลูกมะละกอจีเอ็มโอมา1 ปีแล้วว่าอย่าไปให้ข้อมูล และอย่าไปร่วมมือกับกลุ่มที่ต่อต้าน เพราะถ้ามีเงินส่งเสริมการเกษตรตรงนี้จะเอาเงินมาให้ แล้วชาวบ้านเขาจะทำยังไงได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ว่าการผลักดันเรื่องนี้เป็นเพราะกรมวิชาการเกษตรรู้ว่าตัวเองละเมิดกฎหมายที่ปล่อยให้เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอหลุดลอดออกไป จึงผลักดันให้ถูกต้องเสียแล้วกัน

นอกจากมะละกอจีเอ็มโอ เฉพาะหน้านี้มีพืชอื่นๆ ที่น่าห่วงหรือไม่?
มันไม่มีทางหยุดแค่มะละกอ พอนายกฯ พูดก็มีแนวโน้มในพืชอื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งพูดกันมาตั้งแต่ 2- 3 ปีที่แล้ว คงเคยได้ยินกรณี "ข้าวสีทอง" แต่ก็มีกระแสต่อต้านจนต้องเลิกรากันไป ถ้าเปิดช่องเมื่อไร มันต้องเข้ามาทันที เพราะเป้าหมายสูงสุดของไบโอเทคโนโลยี มันไม่ใช่มะละกอ แต่มันคือข้าว ซึ่งคนกว่าครึ่งโลกต้องบริโภค

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net