Skip to main content
sharethis

นิวยอร์ค-31 ส.ค.47 แพทย์สหรัฐฯ เตือนคน ห่วงสุขภาพโดยการทำซีทีสแกน เพื่อตรวจหาความผิดปรกติจากเนื้อร้ายเป็นประจำ เพิ่มโอกาสความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในระดับใกล้เคียงกับผู้ที่รอดชีวิตจากฮิโรชิมา

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างรายงานของวารสารเรดิโอโลจี ฉบับเดือนกันยายน ตีพิมพ์รายงานผลการศึกษาของนักวิทยาเนื้องอกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า การทำซีทีสแกนหรือการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดโดยอาศัยคอมพิวเตอร์ทั่วร่างกาย จะสร้างความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งได้

ทั้งนี้รายงานดังกล่าวระบุว่า การทำซีทีสแกนเป็นวิธีการที่ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องสัมผัสกับรังสีในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุระเบิดนิวเคลียร์ในฮิโรชิมาและนางาซากิ และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น

เดวิด เบรนเนอร์ นักวิทยาด้านเนื้องอก ที่ร่วมอยู่ในทีมวิจัยฯ กล่าวว่าปริมาณรังสีของผู้ที่เข้ารับการตรวจซีทีสแกนทั่วร่างกายเพียงครั้งเดียว มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง น้อยกว่าผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ที่ได้รับรังสีในปริมาณกลาง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า คนอายุ 45 ปีที่เข้ารับการตรวจทั่วร่างกายด้วยวิธีดังกล่าว 1 ครั้ง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งประมาณ 0.08 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 1,200 คนที่สามารถเป็นมะเร็ง

ส่วนคนอายุ 45 ปีที่เข้ารับการตรวจซีทีสแกนเป็นประจำทุกปีตลอด 30 ปี จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งประมาณ 1.9 เปอร์เซ็นต์ หรือจะระบุว่าเกือบ 1 ใน 50 คนที่มีโอกาสเป็นมะเร็งก็ได้

การทำซีทีสแกนยังเป็นปัจจัยเสริมในคนที่มีประวัติว่า มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง หรือคนที่มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงอยู่แล้วด้วย

ทั้งนี้ การทำซีทีสแกนเป็นวิธีการตรวจหามะเร็งโดยผู้รับการตรวจต้องสัมผัสกับรังสีโดยตรง แต่กลับเป็นที่นิยม เนื่องจากให้ภาพที่คมชัดกว่าการเอ็กซเรย์ทั่วไปและการถ่ายภาพแบบเอ็มอาร์ไอสแกน ซึ่งไม่มีการปล่อยรังสีออกมาสัมผัสกับผู้เข้ารับการตรวจ

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net