Skip to main content
sharethis

ถ้าหากเอ่ยถึง "กำแพงที่สี่" (The Fourth Wall) ขึ้นในหมู่ผู้คนทั่วไป ก็คงได้รับสายตาที่มีเครื่องหมายคำถามตามมา แต่สำหรับเหล่านักละครแล้ว กำแพงที่สี่ เป็นทฤษฎีที่ Denis Diderot (1713-1784) นักการละครชาวฝรั่งเศสได้ให้ความหมายเกี่ยวกับพื้นที่หรือเวทีละครว่าเป็นประหนึ่ง "ห้อง" ที่มีผนังด้านหนึ่งโปร่งใส ให้ผู้ชมได้มองทะลุเข้าไปในห้องนั้นที่มีละครชีวิตดำเนินอยู่ ผู้ชมจึงเป็นเสมือนผู้เห็นเหตุการณ์ที่ราวกับว่าได้เกิดขึ้นจริงบนเวทีละคร

ถ้าหากเปรียบว่า "ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ ชายหญิงไซร้เปรียบตัวละครนั่น ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา" ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแปลจากบทละครเรื่อง "ตามใจท่าน" (As You Like It) ของ William Shakespeare แล้วละก็ ผู้ที่ถอยออกจากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมาเป็นผู้มองอยู่ห่างๆ ก็คือผู้ชมนั่นเอง

หลายต่อหลายครั้งที่คนเราอยู่ในสถานการณ์หนึ่งๆ เราก็เล่นบทบาทนั่นนี่ไปตามสถานการณ์ บางครั้งเราก็เล่นกันจนหลงเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ มีอารมณ์ร่วมไปด้วย จนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไรระหว่างความคิดกับอารมณ์ หรือระหว่างตัวตนกับการงาน พูดภาษาอังกฤษที่กลายเป็นไทยได้ว่า "อิน" ไปกับเรื่องราว แล้วก็เลยเป็นเหตุให้ทะเลาะเบาะแว้ง กินแหนงแคลงใจกันไป ส่วนคนที่ถอยห่างออกมา ทำตัวเป็นผู้ชมเหตุการณ์สร้างกำแพงที่สี่ (บางท่านเรียก "กำแพงแก้ว" ) ก็อาจจะมองเห็นอะไรได้รอบด้านขึ้น ใช้ความคิดวิเคราะห์เหตุและผลได้มากขึ้น หรือบางคนก็อาจเกิดอาการมองแต่ไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่มอง ไม่คิด ขี้เกียจวิเคราะห์ ปวดหัว เปลืองสมอง ก็เป็นได้ กระนั้น ผู้ชมก็ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองประเภทเสมอไป

กรุงเทพเมืองฟ้าสีเทา ก็เปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ ฉากการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่เพิ่งจะผ่านไปสดๆร้อนๆ มีตัวละครหลากหลายที่เล่นในฉากนี้ ไม่ว่าจะเป็น นักบริหาร นักการตลาด(สด) แม่พระ นักวิชา(เกิน)การ นักเลง ฯลฯ ที่มีผู้ชมทั้งประเทศรับชมอยู่ ฉากสุดท้ายของละครเรื่องผู้ว่าฯเมืองฟ้าสีเทาก็จบลงในองก์แรก องก์ต่อไปจะเป็นอย่างไร ผู้ชมจะก่นด่าตัวเองที่ไม่น่าเสียค่าบัตรเลือกเข้าไปชิม เอ้ย! ชมไปบ่นไปเหมือนละครเรื่องที่แล้ว หรือผู้ชมจะลุกขึ้นยืนปรบมือให้ก้องโรง ก็โปรดติดตามตอนต่อไป

คำถามที่นักชมละครมักจะตั้งไว้ก่อนเลือกเสียค่าบัตรคือ ละครเรื่องนี้ ใครเป็นผู้กำกับการแสดง และผู้กำกับมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายอย่างไรในการเลือกที่จะกำกับเรื่องนี้ การวางตัวนักแสดงให้เล่นบทต่างๆนั้น ผู้กำกับมีเหตุผลอะไรเบื้องหลัง ละครเรื่อง ผู้ว่าฯเมืองฟ้าสีเทา มีผู้กำกับการแสดงอยู่หลายคน บางคนก็เปิดเผยตัว บางคนก็ทำตัวเป็นนินจา หรือบางคนเป็นทั้งผู้กำกับนินจาและแมวมองไปด้วย นักแสดงคนไหน ที่เล่นเรื่องนี้ในแบบเดี่ยวไมโครโฟนโดยไม่มีผู้กำกับการแสดง และสามารถชนะใจผู้ชมได้ ก็อาจถูกทาบทามให้เข้าคณะละครเพื่อเล่นละครเรื่องต่อไปตามที่ผู้กำกับนินจาได้วางบทเอาไว้ และผู้ชมก็จะได้นั่งชมละครโรงใหญ่ตาปริบๆ

บ่อยครั้งที่นั่งชมละครเวที ผู้ชมที่นั่งมองผ่านกำแพงที่สี่ ก็ไพล่จินตนาการมองทะลุกำแพงที่อยู่ด้านเดียวกันกับกำแพงที่สี่ เข้าไปหลังเวที ว่าบรรดาผู้จัดการเวทีเขาทำอะไรกันบ้าง กำลังเตรียมเปลี่ยนฉาก หรือแต่งเนื้อแต่งตัวให้นักแสดง ตามคำสั่งหรือตามที่ซักซ้อมกันมา เพื่อให้ละครเรื่องนั้นสมจริงสมจัง สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้มากที่สุด อาจารย์ ดร. ท่านหนึ่งได้พูดไว้ว่า "ละคร(เวที)เป็นศาสตร์โบราณ เป็นวิชาของหมอผี" ละครมีอำนาจที่จะย้อมใจผู้ชม และขับเคลื่อนผู้คนได้ นักปกครองในโลกหลายๆคนรู้ว่าละครเป็น "เครื่องมือ" ที่ทรงประสิทธิภาพ ท่านประธานเหมาที่หลายๆคนบอกว่า เป็นผู้ทำลายวัฒนธรรมจีน ก็ใช้ละครเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ หลวงวิจิตรวาทการก็ใช้ละครเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมในชาติในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากนักปกครองแล้วก็ยังมีอีกหลายๆคน ที่ใช้ศิลปะการละครสร้างความเป็นชุมชน และแน่นอนย่อมมีบางคนที่ใช้ศิลปะการละครขายความเป็นชาติ

นอกกำแพงที่สี่มีผู้ชมชมละครที่ผ่านไปฉากแล้วฉากเล่า ส่วนใหญ่แล้วผู้ชมถูกกำหนดให้ชมเรื่องราวโดยที่ไม่มีโอกาสบอกผู้กำกับการแสดงเลยว่า ต้องการชมละครแบบไหน ตัวละครเล่นบทบาทนั้นนี้อย่างไร และอยากให้ตอนจบเป็นอย่างไร ผู้ชมทำได้แต่เพียงเลือกที่จะเสียค่าบัตรเข้าชม หรือไม่เสียค่าบัตรเข้าชม เท่านั้นหรือ?

ถ้าหากผู้ชมลุกขึ้นมาทลายกำแพงที่สี่ พร้อมประกาศว่าต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอกำกับการแสดงเอง ละครเรื่องนั้นคงจะสนุกไม่น้อย และเรื่องแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันอ่านในครั้งหน้า ว่าด้วยเรื่องที่ผู้ชมลุกขึ้นมากำกับการแสดง และก้าวจากที่นั่งคนดูมาเป็นผู้แสดงเสียเอง เพื่อ "ซักซ้อมชีวิตจริง" (rehearsal for reality) ในละครของประเทศบราซิล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net