Skip to main content
sharethis

ใจ อึ้งภากรณ์

การเลือกตั้งผู้ว่า กทมฯ ที่เน้นความเป็นปัจเจก และเพิ่มความไร้สาระของนโยบายในการบริหารเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ชี้ให้เห็นว่าขบวนการภาคประชาชนต้องเร่งรวมตัวกัน ประสานการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่พึงพอใจกับการผูกขาดของนักการเมืองน้ำเน่า

ทุกวันนี้ในหมู่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนบางคน โดยเฉพาะคนที่เบื่อหน่ายกับพรรคไทยรักไทย และผิดหวังกับความสามารถของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเป็นฝ่ายค้าน มีการพูดกันถึงความจำเป็นที่จะสร้าง "พรรคที่สาม" ขึ้นมา แต่พรรคที่สามที่ถูกเสนอขึ้นมามีสองรูปแบบ

รูปแบบที่หนึ่งคือรูปแบบที่เสนอมาโดยนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเสรีนิยมกลุ่มทุน คือเขามองว่า "ผู้ใหญ่" ในสังคมไทยน่าจะตั้งพรรคที่สามขึ้นมา โดยไม่ต้องพูดถึงนโยบาย จุดยืน หรือแนวคิดมาก ขอให้เป็น" คนดี" ก็พอ พวกนี้มองว่าในระบบประชาธิปไตยรัฐสภาชนิดที่ "สมบูรณ์แบบ" ต้องมีพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ และบางทีควรมีมากกว่าหนึ่งพรรค เพื่อตรวจสอบและคานอำนาจกัน มุมมองแบบนี้คือมุมมองที่เรียกว่าสำนักคิดรัฐศาสตร์ชนิด "โครงสร้างหน้าที่" จุดกำเนิดของแนวนี้คือนักวิชาการฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในสหรัฐที่มองว่าการเมืองสหรัฐและการเมืองในประเทศยุโรปตะวันตกเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ พวกนี้ละเลยประวัติศาสตร์และการต่อสู้ทางชนชั้นโดยสิ้นเชิงที่นำไปสู่ระบบการเมืองทางเลือกในหลายๆประเทศ เขาดูถูกการมีบทบาทหลักของคนชั้นล่าง และมองแต่รัฐธรรมนูญกับพฤติกรรมของกลุ่มชนชั้นนำ ทั้งนี้เพราะเขาต้องการสร้างทฤษฎีขึ้นมาเพื่อหนุนความมั่นคงของระบบทุนนิยม และเพื่อให้ความชอบธรรมกับตะวันตกในยุคสงครามเย็น ดังนั้นแทนที่เขาจะกล้ายอมรับว่าสิทธิเสรีภาพทั้งหลายในสหรัฐกับยุโรปมาจากการต่อสู้ของคนชั้นล่าง เขากลับมองว่าระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตกถูกสร้างขึ้นมาเหมือน "ผู้นำสร้างตึก" คือสั่งการจากบนลงล่าง แนวนี้จึงมองว่าถ้าประเทศด้อยพัฒนาจะมีประชาธิปไตย ต้องมีการสร้างสถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง และวัฒนธรรมทางการเมือง "โดยผู้รู้" และความคิดแบบนี้เป็นอิทธิพลสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของไทย สำหรับคนเหล่านี้ การต่อสู้ เช่น ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ เป็นแค่อุบัติเหตุ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะในสายตาของสำนักนี้ การต่อสู้เป็นสิ่งที่ "ผิดปกติ" และทำลายความมั่นคง สงบเรียบร้อยของสังคม สรุปแล้ว "พรรคที่สาม" ที่กลุ่มนี้เสนอ ไม่ต่างจาก ไทยรักไทย หรือ ประชาธิปัตย์ เลย และสิ่งที่เขาเรียกร้องในการปฏิรูปการเมืองคือการสลับไพ่ใบเก่าๆ แล้วมากองในรูปแบบใหม่เท่านั้น

อีกรูปแบบหนึ่งของ "พรรคที่สาม" ที่ถูกเสนอมา เป็นรูปแบบที่ก้าวหน้าหน่อย คือหลายคนในภาคประชาชนต้องการเห็นพรรคที่ยืนอยู่ข้างคนจนและคนที่ถูกกดขี่ทั้งหลาย แต่ส่วนใหญ่มักจะมองในกรอบแคบๆ เดิมๆ เก่าๆ ของรัฐสภาทุนนิยมหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่มีการปรับตัวกับสถานการณ์การต่อสู้ใหม่ในโลกเลย มีการมองว่าต้องเป็นพรรคที่ทำงานเฉพาะในรัฐสภา จดทะเบียนตามกฏหมายเลือกตั้ง และต้องไม่เน้นนโยบายชนชั้นหรือสังคมนิยม ยิ่งกว่านั้นในกรณีไทยมักมีการมองเสมอว่าต้องมีนายทุนหนุนหลังพรรคเพื่อให้มีเงินในการทำงาน ดังนั้นแทนที่จะเสนอ "พรรคแดง" มีการพูดถึงพรรคกรีนแทน แต่พรรคกรีนถูกสร้างขึ้นในยุโรปและนิวซีแลนด์ในยุคที่ฝ่ายซ้ายหดหู่ ลักษณะของพรรคไม่เน้นการลงไปหามวลชน แต่เน้นการให้การศึกษากับผู้มีอำนาจที่ใจกว้าง และมักพยายามมองปัญหาต่างๆ แบบแยกส่วน เช่นเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิสตรี เกย์ เลสเบี่ยน แต่ไม่เชื่อมกับทุนนิยมหรือปัญหาชนชั้นเลย ผลคือพรรคกรีนประนีประนอมกับทุนนิยมเหมือนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในอดีต พรรคกรีนเยอรมันหันมาสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์และสงครามจักรวรรดินิยม และเสนอมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่โยนภาระการเสียภาษีเพิ่มขึ้นให้กับคนจน เช่นการขึ้นภาษีนำมัน "เพื่อปกป้องธรรมชาติ" เป็นต้น

ในไทยคนที่พูดถึงพรรคกรีนในอดีตหลายคนตอนนี้ก็ไปเป็นที่ปรึกษานักการเมืองแบบเก่าท่ามกลางความล้มเหลวในการสร้างพรรคกรีน….. ส่วนคนที่พยายามสร้างพรรค "ทางเลือกใหม่" อีกชนิดหนึ่งโดยใช้แนวทางเดิม คือหาขุนทรัพย์มาหนุนหลัง ก็หนีไม่พ้นการเมืองเดิมๆ เน่าๆ บางครั้งร้ายกว่านั้นอีก เช่นในกรณีพรรคมหาชน มีการใช้พรรคเก่าเป็นเครื่องมือและอ้างว่า "สร้างทางเลือก" เหมือนเอาผลไม้เน่ามาห่อใหม่ พรรคเก่าที่ใช้นั้นล้าหลังยิ่งกว่าพรรค ไทยรักไทย เสียอีก แถมในความเห็นของคนไม่น้อยมีกลิ่นเหม็นของระบบอิทธิพลท้องถิ่นเดิมๆ ติดมาด้วย ความผิดพลาดแปรไปเป็นเรื่องตลก ไม่รู้จะร้องไห้หรือหัวเราะ

"พรรคแนวที่สาม" ในยุโรปเป็นพรรคที่เคยพยายามปฏิรูปสังคมในทิศทางสังคมนิยม เช่นพรรคแรงงานอังกฤษหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมัน การเลือก "แนวที่สาม" ในกรณีแบบนี้เป็นการนำนโยบายเสรีนิยมมาห่อใหม่ เป็นเสื้อคลุมเพื่อปิดบังการยอมรับกลไกตลาดและผลประโยชน์นายทุน แต่โชคดีที่ประชาชนไม่น้อยเริ่มมองเห็นความเน่าใต้เสื้อคลุม ไม่พอใจการทำสงครามและการทำลายรัฐสวัสดิการของรัฐบาลอังกฤษและเยอรมันที่อ้าง "แนวทางที่สาม" และมีการสร้างพรรคแนวร่วมสังคมนิยมขึ้นมาแข่ง

แข่ง

จริงๆ แล้วสิ่งที่สังคมไทยต้องการมากที่สุดและเราสามารถสร้างได้ในยุคนี้คือ "พรรคที่สอง" ที่มีจุดยืนทางชนชั้นที่สนับสนุนกรรมาชีพ ชาวนายากจน และผู้ถูกกดขี่ทุกคน พรรคแนวร่วมภาคประชาชนที่ออกแนวสังคมนิยม นั้นเอง เพราะทุกวันนี้ในไทยมีแค่พรรค "ชนิดเดียว-หลายชื่อ" เท่านั้น คือพรรคของนายทุน

หลังจากที่เรามีการเลือกตั้ง ส.ว. เป็นครั้งแรกและได้ ส.ว. แนว "เอ็นจีโอ" จากภาคประชาชนมาหลายคน เริ่มมีการสรุปกันว่าวุฒิสภาปัจจุบันถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองหลักๆ เรียบร้อยไปแล้ว ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญระบุว่าวุฒิสภาต้องไม่มีพรรคการเมือง ผมเองมองว่ากฏหมายห้ามพรรคการเมืองในวุฒิสภาเป็นเรื่องไร้สาระไร้เดียงสา เพราะนอกจากจะบังคับใช้ไม่ได้แล้ว ยังเป็นการบิดเบือนลักษณะแท้ของ "การเมือง" จากสภาพจริงที่เป็นการช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มและชนชั้นต่างๆในสังคม ให้กลายเป็นภาพลวงตาของการ "รับใช้ประชาชนโดยคนดีที่มีประสบการณ์" ภาพลวงตาหรือนิยายหลอกเด็กแบบนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้นคือการลดทางเลือกแท้ และการควบปกป้องกลุ่มอภิสิทธิ์ที่ครองความเป็นใหญ่ในสังคมเท่านั้น การเมืองเสรีต้องมีเสรีภาพในการเลือกระหว่างแนวทางทางการเมืองอย่างชัดเจน ไม่ใช่เลือกระหว่างนักการเมืองที่มีแนวเดียวกันหมดที่แอบอ้างว่าไม่สังกัดพรรคและโกหกว่า "เป็นกลาง" เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนำ

ดังนั้นภาคประชาชนไทยควรรวมตัวกันตั้งพรรค จะจดทะเบียนหรือไม่ ไม่สำคัญ ที่สำคัญที่สุดคือนโยบายและฐานสนับสนุน ฐานสนับสนุนต้องมาจากส่วนต่างๆ ของภาคประชาชน ไม่ควรรับเงินนายทุน รากหญ้าต้องร่วมกำหนดนโยบายที่ตกลงกันได้ ต้องควบคุมตรวจสอบผู้แทนอยู่อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดต้องมีการเชื่อมโยงการต่อสู้นอกรัฐสภากับการต่อสู้ภายในรัฐสภาหรือวุฒิสภาเสมอ การรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนจะต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงโดยทลายกรอบแคบๆ ของกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆ อีกด้วย ถ้าไม่ทำเช่นนี้การเมืองภาคประชาชนไทยจะไหลลงสู่บ่อน้ำเน่าของระบบเดิมและวนเวียนอยู่แค่นั้น ทั้งๆที่ปัญหาของพลเมืองส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพ ชาวไร่ชาวนา สตรี คนกลุ่มน้อย ฯลฯ ทวีคูณอยู่ทุกวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net