Skip to main content
sharethis

ประชาไท-1 ส.ค. 47 "เอกซิมแบงก์" แจงปล่อยกู้รัฐบาลพม่า4 พันล. ซื้อของชินแซทฯ เป็นการสนองนโยบายรัฐบาล ระบุสเปคบรอดแบนด์ เป็นเรื่องของ "พม่า" ล้วนๆ ขณะที่กมธ.ต่างประเทศห่วงกลายเป็นแหล่งฟอกเงินจากยาเสพติด

เมื่อเวลา 13.30 น.กรรมธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้เชิญตัวแทนจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)หรือเอ็กซิมแบงก์ ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และตัวแทนบริษัท ชินแซทเทลไลท์ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกรณีที่รัฐบาลพม่าอนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์สื่อสารโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมเชื่อมสัญญาณดาวเทียมกับระบบโทรศัพท์(Broadband Satellite System) จากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ วงเงิน 600 ล้านบาท โดยเป็นหนึ่งในสินเชื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่พม่ารวม 4,000 ล้านบาท

นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.)หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่าการให้เงินกู้กับรัฐบาลพม่าในครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ เป็นการให้เงินกู้กับรัฐบาล โดยเอ็กซิมแบงก์เป็นผู้สนองนโยบายของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือประเทศพม่า เนื่องจากปัจจุบันพม่าขาดแคลนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งหลังจากสหรัฐอเมริกาแซงชั่นพม่าจึงมีเพียงประเทศจีนและประเทศไทยเท่านั้นที่ยังให้ความช่วยเหลืออยู่

"เราเป็นเพียงผู้ปล่อยให้กู้ ไม่ได้มีอำนาจบังคับในเรื่องการใช้เงิน โดยเรารู้เพียงสัดส่วนว่าจะใช้ในด้านไหน นอกจากนี้การเลือกเสปคสินค้า เช่น Broadband Satellite System ก็มีการกำหนดมาจากพม่าเอง เอกซิมแบงก์เป็นเพียงผู้จัดทำสัญญาเท่านั้น" นายสถาพร กล่าว

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าตนเห็นว่าเอ็กซิมแบงก์เป็นธนาคารน่าจะมีความเป็นอิสระไม่ควรทำตามนโยบายรัฐบาลหากขัดกับภารกิจขององค์กร ต้องมีธรรมาภิบาลเพราะเราเคยว่า ADBว่าJBIC ที่ให้เงินก็กับโครงการที่มาสร้างผลกระทบให้บ้านเรา วันหนึ่งอาจจะมีนักการเมืองจากพม่าเขามาว่าเราบ้างก็ได้

"ผมไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าต้องทำตามนโยบายรัฐบาล เพราะนี่คือวิธีคิดของรัฐบาลนี้ที่บอกเราว่ารายละเอียดเป็นเรื่องภายในประเทศ เอ็กซิมแบงก์เลยให้กู้ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเขาจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เราอาจจะโปร่งใสแต่ไม่มองว่าเขาโปร่งใสหรือไม่ ทำให้กลายลูกเล่นทางธุรกิจ ลูกเล่นทางการเมืองไป" นายเจิมศักดิ์ กล่าว

กมธ.หวั่นไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่าในประเทศพม่ากำลังประสบวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก ธนาคารต่างๆมีกฎระเบียบที่อ่อนแอเนื่องจากบริหารไม่เป็นเอกเทศต้องขึ้นกับคำสั่งรัฐบาล นอกจากนี้พม่ายังเป็นสวรรค์ในการฟอกเงินจากยาเสพติด และประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิก FATF ซึ่งเป็นบริษัทไฟแนลซ์ระดับโลกที่มีธนาคารใหญ่ในระดับต้นๆของเอเชียเป็นสมาชิกด้วย ได้ออกแถลงการณ์ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับพม่าเนื่องจากมีปัญหาความไม่โปร่งใสดังกล่าว ทำให้น่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยเองต้องระมัดระวังเนื่องจากอาจจะถูกแซงชั่นจากFATF ได้

ในส่วนเรื่องความเสี่ยงนั้น นายสถาพร กล่าวว่าการให้เงินกู้กับรัฐบาลพม่าโดยผ่านธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศของพม่า(MFTB) และมีกระทรวงการคลังของพม่าเป็นผู้ค้ำประกันนั้นน่าจะสร้างความมั่นใจได้ เนื่องจากมั่นใจว่าเอกสารเงินกู้นั้นสมบูรณ์ถูกต้อง และMFTB ก็อยู่ในมาตรฐานที่ดีถึงแม้ว่าความสามารถในการชำระเงินจะอ่อนแอลง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเองก็ไม่เคยผิดนัดในการชำระหนี้ รวมทั้งยังมีรายได้จากการให้สัมปทานไม้ การส่งออกข้าว และการขายก๊าซธรรมชาติให้ประเทศไทย ซึ่งการฟอกเงินนั้นก็เป็นเรื่องที่เอ็กซิมแบงก์เข้มงวดอยู่แล้ว

"ประชาชนในพม่าตอนนี้ยากจนมาก การส่งออกก็ยากขึ้นเนื่องจากมีการแซงชั่นจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงต้องดูว่างบประมาณที่ให้ไปเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ ซึ่งเราอาจจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินได้ นี่คือหน้าที่ของเอกซิมแบงค์ต้องมีข้อมูลเพื่อนำเสนอรัฐบาล" ประธานกรรมาธิการฯ กล่าว

ทั้งนี้ตัวแทนจากกระทรวงการคลังมาร่วมประชุมแต่ไม่ได้ชี้แจง และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ไม่ได้ส่งตัวแทนมาชี้แจงโดยได้ส่งจดหมายแจ้งมาว่าได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมาพร้อมกับแนบข้อมูลที่ชี้แจงไปแล้วส่งมาแทน โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะมีการติดตามรายละเอียดสัญญาเงินกู้ทั้งหมด เนื่องจากคาดว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับหลายกลุ่ม รวมทั้งจะมีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลต่อไปในสมัยประชุมนี้

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท [

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net