เขื่อนน้ำเทินกับสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งธนาคารโลกเพิ่งจัดเวทีพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงเทพฯเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะจัดเวทีรูปแบบเดียวกันในประเทศของผู้มีหุ้นในโครงการฯ รวมทั้งที่สปป.ลาว ช่วงปลายเดือนนี้ด้วยนั้น น่าจะเกี่ยวพันกับคนไทยอย่างลึกซึ้ง

เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งนอกจากการฟังความเห็นอย่างรอบด้านแล้ว ผู้จัดเห็นว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ ถึงกิจกรรมขององค์กรด้วย เพราะที่ผ่านมาธนาคารโลกมักจะถูกโจมตีว่า ให้การสนับสนุนโครงการฯ โดยไม่พิจารณาว่า โครงการนั้นๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างไร

เขื่อนน้ำเทินซึ่งเป็นที่มาของโครงการฯ ตั้งขวางลำน้ำเทิน ลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงในแขวงคำม่วน ห่างจากนครเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 250 กิโลเมตร โดยเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จจะเกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กินพื้นที่ราว 450 ตารางกิโลเมตร

โครงการมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท) ดำเนินงานโดยบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 หรือNTPC ซึ่งมีหุ้นส่วนใหญ่คือ การไฟฟ้าฝรั่งเศส ถือหุ้น35% รองลงมาคือ บริษัทผลิตไฟฟ้าไทยหรือEGCO และบริษัทไฟฟ้าลาว(EDL) แห่งละ 25 % อีก 15%เป็นของบริษัทอิตาเลียนไทย จำกัด(มหาชน)

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกฟผ. พ.ศ. 2547-2558 บรรจุ โครงการน้ำเทิน 2 ไว้ในแผนการผลิตไฟฟ้าโดยพลังน้ำ ในเดือนพ.ย. 2552 โดยจะมีไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 920 เมกกะวัตต์ จากกำลังการผลิตสูงสุดของเขื่อนที่ 1,070 เมกกะวัตต์

หมายความว่า ภายในปี 2552 คนไทยจะได้ใช้ไฟฟ้าที่กฟผ.รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยมีการโยงสายไฟจากข้ามประเทศจากน้ำเทิน 2 เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของ 17 จังหวัดในภาคอีสานไทย แทนการสร้างเขื่อนหรือสร้างโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งมักจะสร้างประสบการณ์ที่ขมขื่นให้กับคนไทยมาโดยตลอด

ขณะที่ทางการลาวเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้กับสปป.ลาวถึง 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 25 ปีข้าวหน้า ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของลาว

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโครงการน้ำเทินจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านลบใดๆ เลย เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเขื่อนปากมูลถึง 7 เท่า ก็น่าจะสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ไม่ยิ่งหย่อนเช่นกัน

ประมาณว่า นอกจากผลกระทบต่อลำน้ำเทินทั้งสาย สภาพแวดล้อม และสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นแล้ว ประชาชนชาวลาวกว่า 5,700 คน จะต้องอพยพโยกย้ายออกจากบริเวณดังกล่าว ไม่นับแหล่งโบราณคดีของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเพิ่งขุดพบในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน เมื่อไม่นานมานี้

แม้ว่า ผู้ใช้ไฟ(คนไทย) จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งบวกต้นทุนกำไรของผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่เป็นที่ทราบกันว่า ต้นทุนการผลิตโดยพลังน้ำถือเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าแหล่งพลังงานอื่นๆ แต่ประสบการณ์ที่ขมขื่นจากการก่อสร้างเขื่อนในประเทศไทย จะพบว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบมักจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐหรือเจ้าของโครงการฯ

เพียงแต่ว่า ผู้ที่ต้องจ่ายในราคาแพง(เพื่อแลกเปลี่ยนกับเม็ดเงินซึ่งจะแปรไปเป็นผลประโยชน์ของชาติ) มิใช่คนไทยผู้ใช้ไฟ แต่เป็นพี่น้องชาวลาวซึ่งไม่แน่ว่า จะมีโอกาสใช้ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนถิ่นฐานของบรรพบุรุษของเขาเองหรือไม่

ไม่ว่าเราคนไทยจะพอใจหรือไม่ แต่ ณ วันนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ได้นำพาประเทศไทยก้าวไปถึงจุดที่เป็นผู้กระทำ เช่นเดียวกันกับครั้งหนึ่งที่เราเคยถูกผู้อื่นๆ กระทำมาแล้ว

บรรณาธิการบันทึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท