Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 ก.ย.47 นักวิชาการจากสมิธโซเนียน หนุนหลักการกระจายอำนาจ เปิดช่องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานสมิธโซเนียนไทย ย้ำต้องสรุปบทเรียนอย่าปล่อยธุรกิจครอบปัญญา ทำลายความลุ่มลึกของงานสร้างสรรค์

"ความไม่ไว้ใจบทบาทของรัฐบาลกลางในเรื่องของวัฒนธรรม ความรู้ ความเชื่อ มีมากพอๆ กับความมั่นใจว่า ความคิดสร้างสรรค์จะงอกงามในสถาบันที่มีการกระจายอำนาจ ซึ่งโลกทัศน์นี้สนับสนุนให้มีความหลากหลายของแนวทางและสถาบันในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ในอเมริกาจึงมีจำนวนและความหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ" ดร.แฟรงค์ โพรแชน ผู้ประสานงานศูนย์ชีวิตชาวบ้านและมรดกวัฒนธรรม สถาบันสมิธโซเนียน กล่าว

ดร.แฟรงค์ แสดงปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง "บทเรียนจากสถาบันสมิธโซเนียน : สิ่งที่ประเทศไทยควรและไม่ควรเอาอย่าง" จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมฟัง

วัตถุประสงค์ของการเชิญ ดร.แฟรงค์ มาปาฐกถาครั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลตัวอย่างและประสบการณ์ของสมิธโซเนียนทั้งที่ดีและไม่ดี ประกอบการพิจารณาในโอกาสที่ประเทศไทยมีแนวคิดจะสร้าง
"สมิธโซเนียนไทย"

ดร.แฟรงค์ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของสถาบันสมิธโซเนียนก่อตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ความรู้ โดยผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ จะเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการสาขาต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความเชี่ยวชาญและรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งของบางชุดหรือสาขาวิชาบางสาขา ซึ่งผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เหล่านี้จะได้รับอิสระทางความคิดและวิชาการสูงมาก ทำให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง

อย่างไรก็ดี การมีความรู้มากและความหัวดื้อของบรรดานักวิชาการผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ทำให้พิพิธภัณฑ์หลายแห่งยกเลิกตำแหน่งประจำของผู้ดูแล แล้วหันมาจ้างแรงงานทางวิชาการชั่วคราวจนนักวิชาการกลายเป็นนักจัดนิทรรศการ ที่เน้นรูปลักษณ์ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดผู้คนจำนวนมาก

"การศึกษากลายเป็นสาระบันเทิง (infotainment) ขาดความลุ่มลึกและละเอียดอ่อนทางปัญญา ทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นคู่แข่งระดับบ๊วยของสื่อมวลชนและสวนสนุก" ดร.แฟรงค์ สรุป

ทั้งนี้แม้สถาบันสมิธโซเนียนจะรับงบอุดหนุนจากรัฐถึงร้อยละ 64 แต่ก็ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ และปลอดพ้นจากความแปรผันทางการเมือง เพราะมี" คณะกรรมการกำกับดูแล" ซึ่งตัวแทนมาจากหลายฝ่าย อย่างไรก็ดี เมื่องานขยายเพิ่มเติมในขณะที่งบประมาณจำกัดยิ่งขึ้น ทำให้สถาบันนี้ต้องหันมาประกอบธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ในระยะหลัง

"ปัจจุบันความจำเป็นที่ต้องหาเงินเอง อาจมีผลทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของเนื้อหาสาระ หรือทำให้พลังทางปัญญาที่เคยแหลมคมและขาวสะอาดต้องทึบทื่อและแปดเปื้อน" ผู้ประสานงานฯ จากสถาบันสมิธโซเนียนกล่าว

สถาบันสมิทโซเนียน ก่อตั้งในปีพ.ศ.2389 โดยนายเจมส์ สมิธสัน ได้ยกทรัพย์สมบัติของเขาให้แก่สหรัฐอเมริกาเพื่อดำเนินการ ณ กรุงวอชิงตัน การดำเนินการผ่านการถกเถียงกันภายในรัฐสภากว่า 20 ปี จนปัจจุบันสถาบันสมิธโซเนียนได้เติบโตจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดยักษ์ ที่ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์และห้องจัดแสดง 17 แห่ง และศูนย์วิจัย 9 แห่งทั่วโลก โดยมีผู้ปฏิบัติงานราว 6,000 คน และมีอาสาสมัครจำนวนพอๆ กัน แต่สมิธโซเนียนไม่ต้องการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งเดียวของสหรัฐ

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net