Skip to main content
sharethis

ประชาไท-6 ก.ย. 47 "ตัวแทนองค์กรแรงงาน" ชี้ กม.แรงงานฯ ขาดความชัดเจน เปิดช่องโหว่ทางกฎหมายละเมิดสิทธิ ด้าน "นักกฎหมายมธ." แนะยกระดับกฎหมายสู้ทุนต่างชาติ พร้อมติงกฎหมายซับซ้อนจนเป็นหมัน ขณะที่ "ตัวแทนรัฐ"

อนุกรรมการศึกษาและตรวจสอบปัญหาแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาเรื่อง "สิทธิมนุษยชนด้านแรงงานกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541" ในโอกาสครบรอบ 6 ปีเพื่อระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้สามารถคุ้มครองและปกป้องสิทธิแรงงานได้อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน

โดยน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่าปัญหาที่พบคือ หลายมาตราของพรบ.คุ้มครองฯไม่มีการกำหนดรายละเอียด กระบวนการ ขั้นตอนและการลงโทษที่ชัดเจน จึงมีการตีความได้หลากหลายและเป็นช่องว่างทางกฎหมาย ทำให้กฎหมายช่วยเหลือคนงานได้น้อยมาก เช่น การล่วงละเมิดทางเพศพบว่ามีแรงงานหญิงที่ถูกละเมิดอยู่ทั่วไป ซึ่งหลายคนไม่พร้อมที่จะเปิดเผยเนื่องจากอับอายหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน นอกจากนี้ข้อกฎหมายก็ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนทำให้ไม่รู้ว่าจะสามารถร้องเรียนได้อย่างไร

"อยากให้มีการแก้ไขในสาระสำคัญของกฎหมายเพื่อให้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกในรายละเอียด ซึ่งหากรัฐมีความตั้งใจและจริงใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้กฎหมายใช้ในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน ควรมีการนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กระจัดกระจายอยู่มารวมกันเพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง" ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าว

ผ.ศ.มาลี พฤกพงษ์ศาวลี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน สิทธิการเรียกร้องต่างๆ นั้นเกี่ยวโยงถึงพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยด้วย จากอดีตที่สังคมไทยต้องเผชิญกับระบอบเผด็จการ เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยและปัจจุบันต้องเผชิญกับโลกาภิวัฒน์ ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถฝากกลไกการคุ้มครองไว้กับพนักงานตรวจแรงงาน เนื่องจากไม่มีจำนวนที่เพียงพอและการต้องเผชิญกับภาวะของทุนเล็กทุนใหญ่ที่มีเงื่อนไขมากมาย การย้ายฐานการผลิตออกไปบริเวณชายแดนนำไปสู่การกดขี่ขูดรีดแรงงานข้ามชาติราคาถูกดังนั้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานจึงควรพิจารณาให้ครอบคลุมถึงแรงงานกลุ่มนี้ด้วย

"ร่างกฎหมายใหม่ยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ภายในและนอกประเทศ ปัจจุบันมีการผลักดันเรื่องข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ซึ่งต่อไปเราต้องสู้กับทุนต่างชาติ ดังนั้นรัฐต้องฝากความหวังไว้กับกระบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเนื่องจากรัฐเองอาจจะออกหน้าไม่ได้ รวมทั้งต้องมีการผลักดันในระเบียบที่ไม่ได้มาตรฐานโดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยไปลงนาม เช่น การขจัดการเลือกปฏิบัติ สิทธิเด็ก สิทธิแรงงาน ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนของเราในระยะยาว" ผ.ศ.มาลี กล่าว

ผศ.มาลี กล่าวต่อว่านอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่พบคือกลไกรัฐเป็นหมันเพราะมีการเขียนให้สลับซับซ้อน ทำให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายมีน้อย เมื่อลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบก็ไม่สามารถเรียกร้องได้เนื่องจากไม่รู้สิทธิ์ รวมทั้งนักกฎหมายเองก็ไม่ได้เข้ามาช่วยในเรื่องนี้เท่าที่ควร

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net