Skip to main content
sharethis

ประชาไท-9 ก.ย. 47 "สองนักวิจัยไทบ้าน" หวังบอกเล่าปัญหาสู่สังคมผ่านงานวิจัย ระบุการแก้ปัญหาเขื่อนยังไม่คืบหน้า แต่ความสัมพันธ์ของชุมชนกลับคืนมา ด้าน "นักวิชาการมนุษย์ศาสตร์มช." ชี้เป็นงานด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ชิ้นสำคัญ ขณะที่ "นักวิชาการ มมส." แนะขยายสู่ประชาสังคมเป็นหลักสูตรท้องถิ่น

นายอภิรักษ์ สุธาวรรณ นักวิจัยไทบ้านด้านระบบนิเวศน์ กล่าวว่าการทำวิจัยในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเก็บข้อมูลในส่วนของชาวบ้าน โดยแรงบันดาลใจเกิดจากปัญหาเรื่องเขื่อนราษีไศลที่สะสมมานาน พยายามเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาแต่ก็เหมือนเดิม ทำให้คิดมาโดยตลอดว่าตนเองจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้รัฐกำลังรองานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหิดลมาพิจารณาในการตัดสินใจในการดำเนินการเรื่องเขื่อนราษีไศลต่อไปแต่ก็ยังไม่เสร็จ

"ภูมิใจในงานวิจัยนี้เพราะถึงแม้ว่าอนาคตเราจะไม่ได้ค่าชดเชยก็ตาม แต่เราอยากให้สังคมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา" นายอภิรักษ์ กล่าว

นายพุทธา กมล นักวิจัยไทบ้านด้านเกษตร กล่าวว่าตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนชาวบ้านราษีไศลแตกแยกออกเป็นกลุ่มๆจนได้ชื่อเรียกว่า 12 ราศีเพราะมีทั้งคนที่เชื่อรัฐ และไม่เชื่อรัฐ หลังเปิดเขื่อนแล้วป่าทามกลับมาจึงเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พบปะพูดคุยเวลาไปเลี้ยงวัวควาย ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น และการทำวิจัยก็ทำให้ชาวบ้านได้มาคุยกัน ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่ค้านเขื่อนแต่ คนที่เคยขัดแย้งกัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนันที่เมื่อก่อนไม่คิดแม้แต่เผาผีกันก็ได้มาคุยกัน

รศ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าความรู้ในสังคมไทยทำให้เกิดความยากจนมหาศาลทำให้คน 20% ระดับบนได้ทรัพยากรไป 60%เพราะมองความจริงไม่เห็น ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือวิกฤติทางสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ในปัจจุบันที่เป็นแบบแยกส่วน ปลายท่อเพราะหยิบส่วนเสี้ยวความรู้มาจากต่างประเทศและมาถูกซ้ำเติมด้วยความรู้ด้านเศรษฐกิจ โดยงานวิจัยไทบ้านจะเข้ามาสร้างความรู้ชุดใหม่ให้สังคมไทย จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม ปลา และเกลืออยู่ด้วยกัน ซึ่งนี่คือรากฐานความหมายทุกมิติของชีวิต ถ้าดูที่ปฏิทินการเพาะปลูกของชาวบ้านจะเห็นว่านี่คือปฏิทินของชีวิต มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ทำให้เห็นถึงสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างไกล โดยสิ่งเหล่านี้คือความรู้มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สำคัญที่สุด

"ความสำคัญของงานวิจัยคือทำให้เกิดความเสมอภาค อ่านแล้วจะทำให้เกิดจินตนาการและเข้าใจในพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นสมบัติร่วมของชุมชน เป็นความรู้ที่ทุกคนสามารถหยิบใช้นำไปสู่การคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน" รศ.อรรถจักร กล่าว

ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าการทำวิจัยไทบ้านถือว่าเป็นการขยายประชาสังคมอย่างหนึ่งเพราะเป็นการนำจุดยืนของชาวบ้านมาสู่สังคม ความจริงเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านเคยถูกทำให้เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องงมงาย เป็นชีวิตพื้นๆของคนไม่มีการศึกษา แต่วิจัยไทบ้านได้อธิบายถึงชีวิตจากผู้ที่มีประสบการณ์จริง การนำเสนอมีเงื่อนไขที่เอื้อเพราะปัจจุบันมีกระแสชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้น โดยหลักสูตรท้องถิ่นน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการกระจายออกไป

"ต้องทำให้งานวิจัยไทบ้านได้รับการยอมรับในฐานะเป็นความจริงชุดหนึ่ง ยอมรับเหมือนความจริงที่รัฐนำเสนอ เพราะถ้าเปลี่ยนให้มีสถานะเท่ากันจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี" ดร.สมชัย กล่าว

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net