Skip to main content
sharethis

หากจะสาวไปให้ถึงต้นตอของกระแส "มะละกอจีเอ็มโอ" คงต้องเริ่มนับกันตั้งแต่ครั้งที่ "กรีนพีซ" ปฏิบัติการสอยมะละกอแขกดำท่าพระที่ต้องสงสัยว่าเป็นจีเอ็มโอ ในแปลงทดลองของสถานีทดลองพืชสวนอ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น เมื่อราว 2 เดือนก่อน ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังด้วย "ชุดอวกาศสีขาว" เตะตา และ "การจู่โจม" ชนิดเจ้าของบ้านตื่นตระหนกตกตะลึง จนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

หลังจากนั้นนายกฯ ก็มีแนวคิดจะเปิดให้มีการทดลองและนำเข้าจีเอ็มโอได้อย่างเสรี ยิ่งหนุนให้กระแส "จีเอ็มโอ" ก็กลายเป็นพลุที่ยากจะดับในสังคม และถกเถียงกันในหลายแง่หลายประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ

หากก้าวข้ามข้อถกเถียงเรื่องอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ดูเหมือนยังถกไม่ตก ขบไม่แตก คำถามที่ว่าทำไมกรีนพีซจึงเริ่มสงสัย ? เริ่มต้นการตรวจสอบอย่างไร? มะละกอเจ้าปัญหานี้กระจายไปถึงไหนบ้าง? ก็คงยังเป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างนัก ซึ่งนั่นทำให้เรื่องเหล่านี้น่าค้นหา โดยเฉพาะเมื่อรัฐปฏิเสธแข็งขันทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบจริงจัง

.................................
การทดลองมะละกอจีเอ็มโอของศูนย์เกษตรท่าพระ (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใครๆ ก็รู้รวมทั้งเอ็นจีโอในภาคอีสานที่เป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านเรื่องนี้ด้วย ทั้งเครือข่ายเกษตรทางเลือก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคฯลฯ แต่ดูเหมือนที่ผ่านมาไม่มีใครเอะใจ

กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2546 กรีนพีซรับทราบข้อมูลว่าทางศูนย์ฯ มีการวิจัยในแปลงเปิด (คือ แปลงทดลองที่อยู่ในสภาพแวดล้อมจริงภายนอกโรงเรือน ซึ่งภาครัฐบอกว่ายังไม่ถึงกับเป็นสภาพไร่นา แต่ภาคประชาชนบอกว่ามีค่าเท่ากัน) จึงเข้ามาติดต่อประสานงานกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคภาคอีสานให้ช่วยเก็บตัวอย่างมะละกอแขกดำท่าพระของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำไปตรวจสอบด้วยเกรงว่าจะปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ

ด้วยความร่วมมือของเอ็นจีโอและชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ ทำให้กรีนพีซได้ตัวอย่างจากแปลงเกษตรกรไปในเดือนมิถุนายน 2547 พร้อมๆ กับการเข้าไปขอซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากศูนย์ฯ เพื่อนำไปตรวจสอบ นั่นเป็นครั้งแรก ซึ่งผลที่ออกมาทำให้ต้องมีการตรวจสอบเป็นครั้งที่สองในเดือนกรกฎาคม 2547 ก่อนที่จะมีมติลุยปลิดมะละกอในแปลงทดลองเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2547

ระหว่างนั้นฝั่งเครือข่ายเกษตรฯ และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ก็เริ่มตื่นตัว ทำกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องจีเอ็มโอให้คนในเมืองและชาวบ้าน โดยผ่านผู้นำท้องถิ่น มีทั้งเวทีสัมมนา และนิทรรศการ โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคมในงานเกษตร ของม.ขอนแก่น

เดือนเมษายน 2547 ส่งตัวแทนเข้าไปดูแปลงทดลองของสถานีฯ และถ่ายรูปเก็บไว้ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นหลักฐานชั้นสำคัญสำหรับโต้แย้งเรื่องการปรับเปลี่ยนแปลงทดลองอย่างกระทันหัน อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นผู้อำนวยการสถานีทดลองให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้าที่จีเอ็มโอจะเป็นประเด็นโด่งดัง ศูนย์เกษตรท่าพระเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในเรื่องมะละกอจีเอ็มโอ จึงยินดีที่จะให้ผู้นำเกษตรกรต่างๆ เข้าชมงานภายในแปลงทดลอง

ความสัมพันธ์มาแตกหักอย่างเป็นทางการ เมื่อกรีนพีซตัดสินใจ "ลุย" สอยมะละกอในแปลงทดลอง ของศูนย์เกษตรท่าพระ อันนำมาซึ่งความตื่นตะลึงและคดีความที่ตอนนี้ยังไม่สิ้นสุด เอ็นจีโอในพื้นที่ถูกเหมารวมด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ในฐานะที่ช่วยเหลือกรีนพีซ แม้ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการบุกครั้งนั้นก็ตาม

"แต่เราก็โอเคกับสิ่งที่กรีนพีซทำ มันทำให้มะละกอจีเอ็มโอกลายเป็นประเด็นอย่างรวดเร็ว เพราะทางกรีนพีซมีทั้งทุนและเครื่องมือ ถ้าเป็นพวกเราเคลื่อนไหวกันเองก็คงอีกนานกว่าจะเป็นข่าวกว้างขวาง" เจ้าหน้าที่ประสานงานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคภาคอิสานเล่าให้ฟัง

......................................
ภาพปฏิบัติการของกรีนพีซที่ออกจะรุนแรงครั้งนั้น คงสร้างความแปลกใจให้คนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกรีนพีซอยู่ไม่น้อย แต่กรีนพีซยืนยันว่า ปฏิบัติการนั้นไม่สามารถคำนึงถึงการตลาดได้ เพราะการปนเปื้อนเป็น "อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม" ที่ไม่สามารถรอช้าและประนีประนอม ซึ่งทั้งหมดอยู่บนความมั่นใจว่า "จีเอ็มโอ" หลุดไปแล้ว !!! และเพียงแค่คำประกาศนี้ก็ทำให้ได้องค์กรพันธมิตรร่วมต้านจีเอ็มโออย่างมากมาย ทั้งเครือข่ายอโศก กลุ่มผู้ส่งออกเกษตรอินทรีย์ กลุ่มจับตาเอฟทีเอ ฯลฯ นอกจาเหนือจากเครือข่ายผู้บริโภคและเกษตรกรรมทางเลือก

เลี้ยวกลับมาที่สถานการณ์ในพื้นที่ หลังกรีนพีซบุกไม่นาน วันที่ 31 ก.ค.เครือข่ายเกษตรฯ เคลื่อนไหวขอรายชื่อผู้ที่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากศูนย์เกษตรท่าพระ แต่ถูกปฏิเสธห้ามเข้าตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมง่ายๆ วันที่ 3 ส.ค.จึงยกขบวนมายื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นกรรมการข้อมูลข่าวสารระดับจังหวัดอีกครั้ง(ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร) เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อดังกล่าว แต่ทุกฝ่ายก็ปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจ จนเรื่องต้องวุ่นวายมาถึงนายกฯ สั่งผ่านรมว.เกษตรฯ เพื่อให้รายชื่อ 2,600 รายไปถึงมือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่างเป็นการเดินทางอันยาวไกลของข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะมากที่สุดชิ้นหนึ่ง

การเคลื่อนไหวให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ยังไม่หยุดแค่นั้น มีการจัดเวทีสัมมนาทั้งในระดับผู้นำชาวบ้าน นักวิชาการ ส่วนราชาการ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมีการแจกซีดีว่าด้วยเรื่องจีเอ็มโอให้ชาวบ้านในพื้นที่แล้ว

"กระแสตอบรับยังมีความสับสนอยู่มากว่า ทำไมข้อมูลของกรมวิชาการกับของเครือข่ายเกษตรฯ ถึงไม่เหมือนกัน" เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายเกษตรฯ สรุป

................................................
ความเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไป โดยที่มีความพยายามจะติดตามการแพร่กระจายของมะละกอเจ้าปัญหาด้วยในขณะเดียวกัน ..... ดังนั้น.....ต้องติดตามตอนต่อไป.

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net