ผู้ผลิต-ผู้บริโภคจับมือตรวจมะละกอจีเอ็มโอทั่วปท.

ประชาไท - 10 ก.ย. 47 เครือข่ายเกษตรฯ จับมือพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 450 องค์กร ร่วมตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอ ไม่เชื่อผลตรวจกระทรวงเกษตรฯ ประเดิมรอบแรกตรวจซ้ำ15 ตัวอย่างจากอำเภอพล

"เราไม่ได้มีปัญหากับการตรวจสอบร่วมกับกระทรวงเกษตร แต่เท่าที่ผ่านมามีแต่การบอกจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยไม่เคยทำจดหมายหรือแจ้งมายังหน่วยงานไหนเลย ทั้งที่เรายินดีร่วมด้วย ถึงจะระแวงอยู่บ้างเพราะภาคเกษตรเคยมีประสบการณ์กรณีฝ้ายบีทีมาแล้ว" นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลายหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทยกล่าว

นายวิฑูรย์กล่าวระหว่างการเปิดตัว "โครงการตรวจสอบและติดตามการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอโดยองค์กรประชาสังคมทั่วประเทศ" โดยมีตัวแทนองค์กรร่วมแถลงข่าวอาทิ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) สหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศต้องการเข้าร่วมโครงการกว่า 450 องค์กร เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลราชธานี สมาคมคนรักท้องถิ่นอำนาจเจริญ เครือข่าวสิ่งแวดล้อม จ.เลย เครือข่ายผู้หญิงรากหญ้าอีสาน เป็นต้น ซึ่งจะมีองค์กรประสานงานหลักอยู่ทุกภูมิภาค

"ขณะนี้การปนเปื้อนน่าเป็นห่วงมาก เพราะเราคิดว่ามันคงออกไปนอกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยผ่านทางการแจกจ่ายพันธุ์มะละกอจากสถานีวิจัยฯ ท่าพระไปยังแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากที่ได้ข้อมูลว่าที่จังหวัดอุบลฯ มีการนำต้นกล้ามะละกอไปแจกเต็มคันรถเป็นหมื่นๆ ต้น" นางสาวสารีกล่าว

เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวต่อว่า จะมีการขอรายชื่อจากคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วสำรวจส่วนที่นอกเหนือจากรายชื่อในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ขอนแก่น น่าน ชุมพร ราชบุรี ฉะเชิงเทรา สกลนคร แล้วส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานทางวิชาการคาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะรู้ผล จากนั้นจะเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบต่อองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดประชุมระดับพื้นที่และระดับประเทศเพื่อหามาตรการและข้อเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมเอง

นางสาวสารีกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน เพื่อให้ทันการประชุมว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Reculator) ซึ่งมีตัวแทนผู้ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารจากทั่วโลกมาประชุมกันในประเทศไทยระหว่างวันที่10-14 ต.ค.นี้ โดยภาคประชาชนที่ร่วมโครงการนี้จะจัดเวทีคู่ขนานขึ้นในวันที่ 10 ต.ค.

ชาวเมืองพลเก็บตัวอย่างตรวจซ้ำ

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวยังมีตัวแทนเกษตรกร และผู้นำเครือข่ายเกษตรฯ จากอำเภอพลและภาคอีสานร่วมด้วย โดยมีการเก็บตัวอย่างใบมะละกอจาก15 ต้นในแปลงของเกษตรกร 2 รายในอ.พล มาตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการ โดยเกษตรกรรายแรกเป็นรายเดียวกับที่คณะกรรมการสิทธิฯ เคยเก็บตัวอย่างไป ส่วนรายที่สองเป็นเกษตรกรในพื้นที่เดียวกันที่สงสัยว่ามะละกอของตนเองจะเป็นมะละกอจีเอ็มโอ

"15 ตัวอย่างนี้ทางเครือข่ายฯ จะส่งตรวจเอง แต่สำหรับตัวอย่างต่อๆ ไป ก็มีความคิดอยู่เหมือนกันว่าอาจจะส่งให้คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นผู้ตรวจสอบ เพราะค่าใช้จ่ายค่าห้องทดลองค่อนข้างสูง ประมาณชิ้นละ 1,500-1,600 บาท" เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท