Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

8 กันยายน 2547 งานวิจัยไทบ้านป่าทามราษีไศล ฉบับสมบูรณ์ถูกถ่ายทอดสู่สาธารณะครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีตัวแทนนักวิจัยไทบ้านร่วม 10 คน เป็นผู้มาบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชุมชนหลังการเปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้แม่น้ำมูนได้ไหลเป็นอิสระอีกครั้ง และการกลับมาของป่าบุ่ง ป่าทามซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนกลางในอีสานใต้ ที่มาของวัฒนธรรมการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณ

ป่าทามราษีไศล นอกจากมีพรรณพืช พันธุ์สัตว์มากมายแล้วยังเป็น แหล่งเกลือโบราณ โดยมีบ่อเกลือถึง 150 บ่อ กระจายอยู่ทั่วไปก่อนการสร้างเขื่อน การต้มเกลือเป็นเสมือนวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่นี่ ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย มีการใช้เกลือในการบริโภคในครัวเรือน ใช้แลกข้าว แลกข้าวของเครื่องใช้ แม้กระทั่งซื้อขายในปัจจุบัน ภูมิปัญญาของคนต้มเกลือที่ราษีไศลไม่ใช่แค่การนำเกลือในดินขึ้นมาเท่านั้น แต่คือ การรู้จักอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

พ่อไมล์ แสงงาม วัย 57 ปี หนึ่งในนักวิจัยไทบ้าน เล่าให้ฟังว่าต้มเกลือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยในแต่ละปีต้มมากที่สุดก็เพียง 30 กระสอบปุ๋ย ส่วนใหญ่เก็บไว้กินเอง เป็นของฝากญาติที่มาเยี่ยม หรือถ้ามีคนมาซื้อก็ขาย ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 กว่าบาทแต่ถ้าเป็นเกลือที่ต้มไว้ค้างปีแล้วราคาจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 25 บาทเพราะเกลือจะแห้งทำให้น้ำหนักเบาขึ้น โดยก่อนสร้างเขื่อนครอบครัวของพ่อไมล์ต้มเกลือมาทุกปีจนมีการสร้างเขื่อนผืนดินที่เคยมีเกลือต้องจมอยู่ใต้น้ำก็ไม่ได้ต้มอีก จนเมื่อมีการเปิดเขื่อนเข้าสู่ปีที่ 2 จึงมีโอกาสหวนกลับมาต้มเกลืออีกครั้ง ปัจจุบันบ่อเกลือที่สามารถต้มได้มีเพียง 47 บ่อ โดยพ่อไมล์อธิบายว่าเกลือยังขึ้นอ่อนอยู่ ถ้าดูที่หน้าดินจะเห็นเพียงบางๆต้องขึ้นลักษณะเป็นช่อจึงสามารถต้มได้

"เกลือที่อื่นไม่เหมือนกัน มันไม่มีรสชาติ ถ้าเป็นเกลือต้มเองโรยกินกับข้าวหุงร้อนๆ จะเค็มหอมรสชาติมันผิดกัน น้ำปลาไม่ต้องมีเลย" พ่อไมล์เล่าถึงความแตกต่างของเกลือต้มกับซื้อให้ฟัง

นอกจากนี้วัฒนธรรมเกลือยังสัมพันธ์กับวัฒนธรรมปลา เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำปลาร้า อาหารยอดนิยมของชาวอีสาน พ่อสมบูรณ์ ร่มรื่น นักวิจัยไทบ้านที่ชำนาญในการต้มเกลืออีกคนหนึ่ง เล่าว่า

"เกลือที่ต้มเองเมื่อใช้ทำปลาร้าจะทำให้มีกลิ่นหอม ไม่เหม็นอับ และยังทำให้เนื้อปลามีสีแดง แต่ถ้าใช้เกลือทะเลจะทำให้มีกลิ่นอับ รวมทั้งทำให้เนื้อปลาเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ" ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อสมบูรณ์เรียนรู้จากการทำปลาร้าในช่วงที่ต้องเปลี่ยนมาใช้เกลือทะเลในช่วงที่ไม่ได้ต้มเกลือ

ฤดูกาลในการต้มเกลือของชาวบ้านจะเริ่มขึ้นในช่วงมีนาคมเมื่อลมร้อนพัดผ่านมาโดยจะผ่านพ้นไปในเดือนพฤษภาคมก่อนฝนมาเยือน ซึ่งชาวบ้านใช้วิธีต้มเกลือแบบโบราณ โดยวัสดุต่างๆยังคงใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากป่าทาม มีเพียงหม้อต้มเกลือที่เปลี่ยนจากหม้อดินเผามาเป็นหม้อที่ดัดแปลงมาจากปี๊บเนื่องจากหาง่ายและให้ความร้อนเร็ว

ขั้นตอนการต้มเกลือเริ่มตั้งแต่ไปสำรวจดูบ่อเกลือที่เคยต้มว่าส่าเกลือขึ้นมากพอที่จะต้มได้หรือไม่ โดยสังเกตดูว่าถ้ามีลักษณะเป็น ฟันปลาค้าว หรือเป็นแท่งคล้ายผงชูรสจะต้มได้เกลือมากและเกลือมีคุณภาพดี จากนั้นจึงขูดผิวดิน(บ่อเกลือไม่ได้มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำแต่เป็นพื้นดินที่มีเกลือ)หรือ ดินขี้ทามากองรวมกันไว้แล้วคลุมด้วยพลาสติกทิ้งไว้ 1 สัปดาห์เพื่อหมักให้ส่าเกลือที่ยังไม่แก่พอมีคุณภาพและให้ส่าเกลือแก่เสมอกัน

ก่อนต้มเกลือต้องผ่านขั้นตอนการหมักในรางหมักซึ่งเป็นรางดินแทนรางไม้ที่เคยใช้ในอดีต โดยขุดดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 1 เมตร นำดินเหนียวย่ำให้ละเอียดราดลงบนรางดิน นำผ้าพลาสติกรองไว้อีกชั้นหนึ่งไม่ให้น้ำซึมออกและขุดดินให้ลึกต่ำกว่ารางหมัก แล้วนำท่อไม้ไผ่ทำเป็นท่อน้ำต่อออกจากรางดิน โดยการหมักต้องปิดท่อไว้ก่อน และนำเศษฟางหรือเศษหญ้ามาวางทับรูพร้อมกับใช้เปลือกหอยปิดพอให้น้ำไหลสะดวก จากนั้นนำดินขี้ทาใส่ลงไปเหลือขอบปากหลุมไว้ 5-10 ซม.ตักน้ำใส่ทิ้งไว้ 1 คืนจึงเปิดท่อให้น้ำเกลือไหลลงภาชนะ

จากนั้นไทบ้านจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเกลือด้วยการนำครั่งมาต้มหรือเผาให้ละลายแล้วปั้นติดกับเชือกเมื่อนำไปหย่อนลงในถังน้ำเกลือถ้าครั่งลอยอยู่เหนือน้ำแสดงว่ามีความเค็มมาก โดยน้ำกรองครั้งที่สามจะเริ่มมีความเค็มน้อยลง และสามารถใช้ไม้น้ำแดงหรือลูกสีดา(ฝรั่ง)มาตรวจสอบโดยใช้วิธีเดียวกันได้ด้วย

การต้มเกลือจะใช้ไม้ฟืนจากป่าทามเป็นเชื้อเพลิงเนื่องจากอยู่บริเวณใกล้ แต่ปัจจุบันการยึดครองพื้นที่โดยไมยราบยักษ์ได้ทำให้แหล่งไม้ฟืนหายไป โดยการต้มจะนำน้ำเกลือที่เค็มจัดและปานกลางผสมเข้าด้วยกัน ส่วนที่มีความเค็มน้อยจะใช้ในการหมักดินขี้ทาต่อไป ระหว่างการต้มให้ปล่อยทิ้งไว้ไม่ควรคนบ่อยเพราะจะทำให้ได้เกลือเม็ดเล็กจนเกินไป เมื่อน้ำงวดปล่อยทิ้งไว้จนเกลือตกผลึกสีขาวจากนั้นตักใส่ตะกร้าไม้ไผ่ทิ้งให้แห้งแล้วตักใส่ถุงปุ๋ย ซึ่งเกลือที่ต้มใหม่สีจะขาวขุ่นเมื่อทิ้งไว้นานๆจึงจะขาว

ซึ่งการต้มเกลือนั้นต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ที่สั่งสมเรียนรู้จากการปฏิบัติมาจนเชี่ยวชาญเป็นเหมือนวิถีชีวิตที่อยู่คู่กันมาของชุมชนแถบนี้ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมความเชื่อ สำคัญที่ทำให้การต้มเกลือเป็นไปอย่างเพียงพอและไม่รบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป โดยก่อนที่จะมีการต้มเกลือชาวบ้านจะมีการบอกกล่าว พ่อเพียแม่เพีย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ่อเกลือเหมือนกับที่ชาวนาไหว้แม่โพสพนั่นเอง และหลังจากที่ต้มเกลือจนพอแล้วจะมีการ ปลูกเกลือ

โดยการนำเกลือใส่ถุงพลาสติกไปฝังไว้ลึกประมาณ 1 คืบบริเวณบ่อเกลือและบอกกับพ่อเพียแม่เพียเพื่อให้มีเกลือต้มอีกครั้งในฤดูกาลต้มเกลือในปีถัดไป ซึ่งมีความเชื่อว่าหากผู้ใดที่ปลูกเกลือแล้วยังกลับมาต้มอีกในฤดูกาลนั้นจะต้องมีอันเป็นไป

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งที่คอยควบคุมการต้มเกลือของชาวบ้านมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นั่นแสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ความคิดความเชื่อยังคงอยู่กลับชุมชน วิกฤติการที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นการต้มเกลือแบบอุตสาหกรรม มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินจนทำให้เกิดแผ่นดินทรุดตัว หรือความขัดแย้งในกรณีเหมืองโปแตสที่อุดรธานีก็จะไม่เกิดขึ้นหากเราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติในแบบที่ไม่ใช่ผู้ทำลาย แต่อยู่ร่วมอย่างรู้คุณเช่นเดียวกับคนต้มเกลือราษีไศล

เสียงแคนเปิดงานดังประกอบกับหมอลำพื้นบ้านเป็นท่วงทำนองบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากที่ชุมชนต้องเผชิญมากับการสร้างเขื่อน เสียงแคนจบลงแล้วแต่ท่วงทำนองของจังหวะชีวิตจากนี้คือการส่งเสียงบอกเล่าความจริงสู่สังคม การลุกขึ้นมาทำวิจัยไทบ้านบ่งบอกได้ว่าไม่ยอมฝากความหวังไว้กับงานวิชาการที่ไม่เคยมองเห็นชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ข้อมูลจากวิจัยไทบ้านป่าทามราศีไศล

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net