ตามรอย...สานเจตนารมณ์ที่ปากแจ่ม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กว่า 12 ชั่วโมงที่รถตู้พาพวกเราทั้ง 8 คนเดินทางจากกรุงเทพมุ่งลงใต้สู่ปลายทางที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ประมาณ 7 โมงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม 2547 เรามาถึงบริเวณจัดงาน "สานเจตนา-ร่วมสู้ :ครบรอบ 2 ปี การคัดค้านสัมปทานเทือกเขาถ้ำแรด(เขาควนเหมียง) " ริมถนนห้วยยอด-น้ำผุด-ตรัง หน้าเทือกเขาถ้ำแรดที่ตั้งตระหง่านอย่างสะดุดตา โดยฝั่งตรงข้ามมองเห็นเทือกเขาบรรทัดทอดตัวยาวสงบนิ่งขนานไปตามแนวถนน อากาศยามเช้าเย็นสบาย มองเห็นหมอกบางๆปกคลุมบนยอดเขา

ที่นี่คือพื้นที่หมู่ 1 ตำบลปากแจ่ม ที่ตั้งของเทือกเขาถ้ำแรด ภูเขาหินปูนที่กำลังเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายบุญทิพย์ สุนาเสวีนนท์ แห่งบริษัทโจมทองศิลา บริษัทหินรายใหญ่ของจังหวัดตรังผู้ขอประทานบัตร ซึ่งหากการระเบิดหินเกิดขึ้นจริงคาดว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ราว 130 ครัวเรือน หมู่ 3 ราว 150 ครัวเรือน และหมู่ 5 บางส่วนที่มีสวนยางอยู่ในบริเวณที่จะมีการระเบิดหิน

วันนี้คือวันครบรอบ 2 ปีที่ชาวบ้านจากหมู่ 1 ,3 และ 5 ได้รวมตัวกันคัดค้านการระเบิดหินเขาถ้ำแรดในนาม "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมปากแจ่ม" ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการยืนหยัดต่อสู้รวมทั้งเชื่อมประสานเครือข่าย เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ต้องจับตาอีก 3 โครงการ คือ กรณีที่ดินเหมืองแร่ดีบุกหมดสัมปทานบ้านท่ามะปราง โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลลำภูรา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำชอน(เขื่อนเขาหลัก )

ประมาณตี 11 หรือ 5 โมงเช้า ชาวบ้านในพื้นที่นำทางพผู้ที่มาร่วมงานกว่า 30 ชีวิตเดินเท้าไปยังบริเวณที่จะมีการสัมปทาน ซึ่งบริเวณรอบๆเทือกเขาถ้ำแรดเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่มีการปลูกสวนยางพาราและผลไม้บางส่วน โดยชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุดห่างออกไปเพียงประมาณ 600 เมตร

เราเดินลัดเลาะไปตามร่มเงาของป่ายาง ก่อนจะไปหยุดแวะดูความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ณ ถ้ำหน้าผึ้ง ซึ่งเป็นถ้ำที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยชาวบ้านเล่าว่าแต่ละปีมีผึ้งมาทำรังบริเวณหน้าผาถ้ำดนนอกในฝั่งที่เป็นจุดอับลม ประมาณ 20-30 รัง โดยแต่ละรังให้น้ำผึ้งประมาณ 30 ขวด ราคาขายอยู่ที่ 350-400 บาท/ขวด ในแต่ละปีช่วงเดือนเมษายนจะมีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นมาเอาน้ำผึ้ง เนื่องจากเป็นจุดที่มีความสูงและต้องใช้ความชำนาญ แต่ในปีนี้ชาวบ้านไม่ให้มีการเก็บน้ำผึ้งเนื่องจากต้องการอนุรักษ์ไว้

เมื่อเดินตามแนวเขาที่ยาวต่อกันมาเรื่อยๆ จากนั้นเราจึงเดินขึ้นไปบนเขาซึ่งมีลักษณะเป็นเขาหินปูนที่มีความสูงชัน อากาศค่อนข้างเย็นเนื่องจากเป็นป่าดิบชื้นโดยไม้ขนาดใหญ่ที่พบคือ ต้นตะเคียนหิน นอกจากนี้ยังมี ต้นดงพญาเย็น ซึ่งเป็นอาหารของเลียงผาสัตว์ป่าสงวนพบกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆที่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ ความสมบูรณ์ของป่าที่เราพบสังเกตได้จากการพบร่องรอยของสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น เลียงผา หมูป่า นก ลิง และอื่นๆ

จุดที่สร้างความสนใจให้กับพวกเราอีกแห่งคือ ถ้ำหินงอกหินย้อย ซึ่งอยู่ในเขาลูกเดียวกันกับเทือกเขาถ้ำแรด เป็นประติมากรรมธรรมชาติที่งดงามซึ่งต้องใช้เวลายาวนานในการก่อกำเนิด เราเดินสำรวจดูความงดงามบริเวณถ้ำโดยมีไฟฉายสองนำทาง ประมาณ 30 นาทีเราจึงทะลุมายังทางออกอีกด้านซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชน โดยเป็นบริเวณที่มีการนำตัวหนังตะลุงที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาไว้ที่นี่นานมาแล้ว

ช่วงบ่ายหลังจากพักเหนื่อยเรามุ่งสู่อีกด้านของภูเขาซึ่งเป็นสวนยางและสวนผลไม้เช่นกัน จึงได้พบกับวิธีการที่น่าเศร้าใจ คือ กานไม้ ซึ่งเป็นการขูดรอบต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้น จนสุดท้ายต้นไม้ก็จะยืนต้นตายอย่างช้าๆ มีเพียงคำอธิบายว่าเป็นวิธีการที่นำมาใช้เพื่อให้ป่าบริเวณเทือกเขาถ้ำแรดกลายสภาพเป็นป่าไม่สมบูรณ์ก่อนที่จะสัมปทาน ส่วนต้นขนาดเล็กลงมาก็ถูกตัดโค่นล้มลงอย่างน่าเสียดาย

ประสบการณ์ที่ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นจากการระเบิดหินในพื้นที่หมู่ 5 การสูญเสียพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงความแตกแยกและการล่มสลายของชุมชน คือสิ่งที่ชาวบ้านมองเห็นอยู่ในวันข้างหน้า จึงทำให้มีการลุกขึ้นมารวมตัวตั้งแต่การคัดค้านมติที่ไม่ชอบธรรมของอบต. เมื่อการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่เคยพูดถึง รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม( EIA)ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยอยู่ระหว่างการแก้ไขนั้นจึงเป็นที่จับตาของชุมชน เนื่องจากล้วนขัดแย้งกับสิ่งที่ปรากฏอยู่

จากนั้นเราเดินทางโดยรถยนต์ไปยัง บ้านท่ามะปราง ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมากว่า 100 ปี ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำแรดออกไปประมาณ 5 กม.มีประชากรประมาณ 180 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านเชิงเขาตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาน้ำพราย มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งแร่ดีบุกและมีภูเขาหินอัคนีด้านติดภูเขาน้ำพราย มีแหล่งน้ำที่มีทรายเหมาะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง

หลังจากผ่านการสัมปทานเหมืองแร่มาหลายปี ปัจจุบันพื้นที่กว่า 1,092 ไร่จึงถูกทิ้งไว้พร้อมกับร่องรอยการขุดเจาะ การฉีด กลายเป็นพื้นดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเนื่องจากเหลือเพียงดินทรายและหลุมน้ำขนาดใหญ่หลายหลุม โดยเมื่อปี 2536 อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าได้ประกาศแนวเขตอุทยานทับพื้นที่การทำเหมืองเดิม จากนั้นชาวบ้านประมาณ 20 ครัวเรือนที่ไม่มีที่ทำกินและอยู่อาศัยได้เข้าไปปักหลักเป็นแหล่งที่พักอาศัย

ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ บริษัทเหมืองแร่ ลุ่นเส็ง จำกัด ซึ่งเคยเปิดสัมปทานเหมืองแร่ในอดีตมาบอกให้ชาวบ้านทั้ง 20 ครัวเรือนย้ายออกจากจากพื้นที่พร้อมกับอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อชาวบ้านไม่ย้ายออกจึงใช้วิธีการให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าจากบริษัทซึ่งมีชาวบ้านหลายคนที่ยอมทำ แต่หลายคนไม่เชื่อว่าบริษัทมีสิทธิ์ในพื้นที่ตามกฎหมาย จึงพยายามต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฎ

ปัจจุบันทางบริษัทได้นำหลักปูนพร้อมลวดหนามมาปักแสดงอาณาเขต แบ่งเป็น 16 แปลงและมีการนำต้นไม้มาปลูกเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ว่างเปล่า มีการคุกคามโดยการข่มขู่ รวมทั้งมีการรื้อถอนบ้านชาวบ้านที่กำลังก่อสร้าง นอกจากนี้ในทางกฎหมายบริษัทได้ทำการร้องขอเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแต่ได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานราชการมาตลอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จ.ตรัง(สปก.) ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดกับศาลปกครองโดยเรื่องยังอยู่ในชั้นศาล

วิโรจน์ เรือนเพ็ชร ชาวบ้านท่ามะปรางเล่าความกังวลใจของชาวบ้านให้ฟังว่า วันนี้ชาวบ้านไม่สามารถไปหาที่อยู่ที่อื่นได้ ซึ่งการอยู่อาศัยที่ผ่านมาก็ไม่เคยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ และชาวบ้านอยากพัฒนาฟื้นสภาพให้เป็นที่ส่วนรวม อาจจะใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นที่เล่นกีฬาของชุมชน และในส่วนชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยก็ต้องมีการหาทางออกร่วมกันต่อไป

เย็นย่ำหลังเสร็จสิ้นการลงพื้นที่กิจกรรมบนเวทีจึงเริ่มขึ้น โดยมีการผลัดเปลี่ยนขึ้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านจากหลายพื้นที่ สลับกับการแสดงดนตรี การสรุปบทเรียนผ่านหัวข้อ "ด้วย 2 มือแม่ที่กำสู้" ผ่านแกนนำหญิงจากกลุ่มอนุรักษ์ จ.ตรัง โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด โครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เพื่อร่วมกันบอกเล่าถึงบทบาทของผู้หญิงในการร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ รวมทั้งการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน คือ รองเง็ง และลิเกป่า ซึ่งบรรยากาศคึกคักไปด้วยชาวบ้านหลายร้อยชีวิตจนงานล่วงเลยไปกว่าค่อนคืน

เช้าวันที่ 7 สิงหาคม เราเดินทางสู่พื้นที่สุดท้ายคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำชอน หรือเขื่อนเขาหลัก ตั้งอยู่ที่ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ห่างจากเทือกเขาถ้ำแรด 5 กม. เรานั่งรถผ่านสวนยางไปก่อนที่จะเดินเท้าต่อเข้าสู่ความร่มครึ้มของป่าดิบชื้น สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ป่าควนหินแก้ว ระหว่างทางเราพบต้นสะตอป่า ต้นเหลียง และกล้วยเถื่อน (กล้วยป่า) ซึ่งชาวบ้านได้อาศัยเก็บขายเลี้ยงชีพตลอดปีกว่า 500 ครอบครัว โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เก็บขายเป็นอาชีพหลัก

จากนั้นเราเปลี่ยนเส้นทางจากถนนลงสู่ คลองลำชอนซึ่งเป็นลำน้ำขนาดกลางซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลเป็นแนวเขตโดยฝั่งหนึ่งคือ "เขาโดลันดา(เขาหินปูน)" อยู่ในเขตต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด ส่วนอีกฝั่งคือ "สันควนล้อม(ควนดิน)" อยู่ในเขตต.น้ำผุด อ.เมือง ความกว้างของคลองประมาณ 20 เมตร น้ำไม่ลึกแต่มีน้ำไหลตลอดปี ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม 350 ไร่หรือนับจากสันเขื่อนไปด้านบนยาว 7 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด

ชนะ โกษา หนึ่งในกลุ่มรักษ์ป่าต้นน้ำตรัง เล่าเพิ่มเติมว่าเริ่มมีการมาสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542 ต่อจากนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวโดยใช้ช่องทางของพรบ.ข้อมูลข่าวสารในการขอข้อมูล จึงได้รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนเนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมโดยตรง แต่ด้านใต้เขื่อนมีหมู่บ้านซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เขื่อนพังก็จะส่งผลกับชาวบ้านแน่นอน

"อีกเหตุผลหนึ่งที่เราคัดค้านเพราะพื้นที่น้ำท่วมเป็นป่าดิบชื้นสมบูรณ์หากต้องจมอยู่ใต้น้ำก็น่าเสียดาย มีชาวบ้านหลายคนที่หากินกับป่า คลองลำชอนเราก็ได้ใช้จับสัตว์น้ำ แต่พอมีโครงการชาวบ้านไม่ได้รับรู้" ชนะเล่า

ส่วนอีกหนี่งโครงการสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมร้อยให้เห็นภาพที่ชัดเจน คือ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลลำภูรา ตั้งอยู่ที่ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด ห่างจากเทือกเขาถ้ำแรดประมาณ 15 กม. เป็นโครงการของบริษัทกัลฟ์ อิเรคทริค เจนเนอเรชั่น ขนาด 20 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้น้ำประมาณ 3 ล้านลิตร/วันเป็นวัตถุหลัก โดยใช้น้ำจากแม่น้ำตรัง จึงสร้างความกังวลกับชาวบ้านว่าปริมาณน้ำที่ต้องใช้มากมายอาจจะส่งผลให้แม่น้ำตรังที่แห้งขอดลงอยู่แล้วเกิดภาวะวิกฤติ รวมทั้งระยะทางเพียง 1 กม.จากแม่น้ำตรังอาจจะทำให้มีการระบายน้ำเสียซึ่งมีส่วนผสมของคลอรีนลงสู่แม่น้ำได้

นอกจากนี้การใช้เชื้อเพลิงจากไม้ยางพารา ซึ่งมีการคำนวณตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่าจ.ตรังมีไม้ยางพาราจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม้ยางส่วนใหญ่ถูกส่งไปแปรรูปที่จังหวัดกาญจนบุรีทำให้ไม้ยางมีราคาสูงขึ้น จึงเป็นอีกคำถามหนึ่งว่าการได้ไฟฟ้าราคาถูกนั้นจะเป็นจริงได้เพียงใด และข้อห่วงใยที่เกิดขึ้นยังรวมถึงขี้เถ้าที่เหลือกว่าวันละ 16 ตันนั้นอาจจะส่งผลกระทบถึงคนในชุมชนกว่า 5 พันคน ที่อาศัยอยู่ห่างจากรัศมีโรงงานเพียง 3 กม. คำถามต่างๆที่เกิดขึ้นจึงทำให้ชาวบ้านลำภูรายืนหยัดต่อสู้มาโดยตลอด

เมื่อนำทุกโครงการมาเชื่อมโยงกันจึงทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าล้วนเอื้อและสัมพันธ์กันอย่างน่าตกใจ การระเบิดหินเทือกเขาถ้ำแรดเพื่อนำไปสร้างเขื่อนเขาหลัก จากนั้นจึงนำน้ำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าลำภูรา ซึ่งเป็นที่มาของการจัดสรรผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองและนายทุนท้องถิ่น การเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายของชาวบ้านจึงได้เริ่มขึ้นเช่นกัน

เรามาสุดทางที่ ถ้ำเงาะ ถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของเงาะป่าซาไก อีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อาจต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ พร้อมกับภาพที่ชัดเจนถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจากหลายสารทิศ หลายพื้นที่ที่พร้อมใจกันมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเพื่อร่วมกันเป็นพลังในการดูแลรักษาท้องถิ่น ปกป้องวิถีชิวิตและธรรมชาติที่ไม่อาจแยกขาดจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นการตระหนักรู้ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ที่เราควรนำมาเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาหรือการก่อเกิดโครงการใดๆต่อไป

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท