Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 13 ก.ย.47 "องค์กรเครือข่าย 40 องค์กร" ทั่วประเทศ เปิดเอกสารลับ ชี้ TOR "รัฐ" งุบงิบ ไม่โปร่งใส ให้ต่างชาติเข้าดำเนินการแต่ไม่มีความคืบหน้า หวั่นธรรมชาติถูกทำลายเพราะศึกษาแค่ผิวเผิน พร้อมจดหมายเปิดผนึกถึง "พ่อเมืองเชียงใหม่" ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

ที่บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ กลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว 40 องค์กร เครือข่ายนักวิชาการ และศิลปินนักคิดนักเขียนจากทั่วประเทศ เปิดแถลงข่าวโดยนายอัคนี มูลเมฆ กลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว นำเอกสารปกปิด "ลับมาก" มาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มีมูลเหตุความเคลือบแคลงหลายประการ คือขณะนี้ได้มีการว่าจ้างบริษัทต่างชาติ คือ บริษัท สวิส แพลนนิ่ง ในวงเงิน 3 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศกรรมในโครงการสร้างกระเช้า ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินว่ามาจากส่วนใดที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีของประชาชน

" ที่สำคัญคือ คณะผู้เชี่ยวชาญที่คณะกรรมการได้เสนอให้ศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม ด้านพืชและสัตว์นั้น แผนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ(TOR) กำหนดให้เพียงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของดอยเชียงดาวได้ หากมีโครงการขนาดใหญ่นี้เข้ามา " นายอัคนี กล่าว

โดยจดหมายเปิดผนึกถึง ผวจ.เชียงใหม่ ระบุว่า การดำเนินงานทั้งหมดอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดเดียวกันกับคณะกรรมการสวนสัตว์กลางคืน หรือไนท์ซาฟารี ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนงว่า การดำเนินการโครงการกระเช้าไฟฟ้าทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่โครงการนี้ควรอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาคมในจังหวัด รวมถึงสาธารณชนทั่วไป ไม่ควรจำกัดให้อยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรหรือหน่วยงานเดียว

ในปี 2546 นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้ตั้ง คณะทำงานพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายปริญญา ปานทอง รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนทั้งชาวบ้าน ภาคเอกชนและส่วนราชการในจังหวัดเข้าร่วม

นายปริญญา ปานทอง รองผวจ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยในช่วงนั้นว่า คณะทำงานมีแนวโน้มจะพัฒนาการท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวให้ยั่งยืน โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และอาจถึงขั้นเสนอให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากดอยหลวงเชียงดาวมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่นและหายาก

โดยหยุดชะงักการทำงานทั้งหมดเมื่อนายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ตั้งคณะกรรมการในส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการและว่าจ้างบริษัทต่างชาติดังกล่าว ลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษา TOR

รายงานโดย : องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net