Skip to main content
sharethis

ดร.นเรศ ดำรงชัย
นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

การเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนักของภาคประชาชน ทำให้แนวนโยบายจีเอ็มโอที่เปิด "ให้สังคมมีทางเลือก" หรือเปิดให้ทำการค้นคว้าทดลองได้ในสภาพไร่นาและให้มีการนำเข้าพืชและสัตว์จีเอ็มโอได้นั้น มีอันต้องพับเก็บชั่วคราวเพื่อรอให้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Law) รวมทั้งมาตรการประเมินความปลอดภัยด้านต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อน

ถือเป็นความสำเร็จในขั้นต้นของภาคประชาชนที่คัดค้านเรื่องจีเอ็มโอ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดูเหมือนจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ที่จะตอบคำถามต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมการปนเปื้อน ในทัศนะของนักวิจัยจากไบโอเทคอย่าง ดร.นเรศ ดำรงชัย ก็เช่นกัน ที่มองว่าการวางแผนบริหารจัดการที่ดีจะเป็นตัวกำหนดให้มีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติได้มาก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ผล

กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ
"เวลานี้กลุ่มที่ต่อต้านเรียกร้องกฎหมายอย่างเดียวซึ่งไม่พอ เพราะกฎหมายบ้านเรามันอยู่บนกระดาษ โดยคนที่คิดเรื่องกฎหมายจะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ลงมือปฏิบัติ ถ้าเราไม่รวมเอาคนที่ลงมือปฏิบัติมาช่วยกันคิดวิธีการบริหารจัดการให้ดี ต่อให้มีกฎหมายก็ตาม กฎหมายนั้นก็ควบคุมไม่ได้" ดร.นเรศกล่าว

ดร.นเรศ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมการบริหารจัดการอย่างเพียงพอ โดยยกกรณีประกาศยกเว้นให้อนุญาตนำเข้า "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวโพด" ที่เป็นจีเอ็มโอได้ในพ.ร.บ.กักพืช ฉบับปรับปรุงครั้งที่2 (2542) ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเคยอยู่ใน 40 รายการที่ห้ามมีการนำเข้า

"ถามว่าเราทุ่มเทสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากพอไหม ห้องแลบพอไหม ทรัพยาการอย่างอื่นพอไหม เหล่านี้มันมีน้อยมาก พอมันเข้ามาจริงก็ตรวจไม่ได้ ถึงเวลาก็ต้องออกมาเป็นประกาศยกเว้น ก็เพราะมันเข้ามาแล้ว ถ้าจะไปห้ามอุตสาหกรรมเราก็อยู่ไม่ได้"

เช่นเดียวกับกรณีของฝ้ายบีทีที่มีการหลุดลอดไปสู่ธรรมชาติจนเป็นประเด็นโด่งดังเมื่อปี 2540 ซึ่งก็อยู่ภายใต้พ.ร.บ.กักพืช เพียงแต่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในการทำการทดลองในระดับไร่นา ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังมีการหลุดลอดออกไป ดร.นเรศ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การหลุดรอดมีความเป็นไปได้หลายทาง และทางหนึ่งก็คือการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีนซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝ้ายจีเอ็มโอมาก แต่ไม่ว่าจะหลุดรอดโดยวิธีใดก็ผิดกฎหมาย และต้องมีการเอาผิดกับผู้นำเข้าหรือหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เกษตรกร

"แต่การเอาผิดกับใครก็ตามมันไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ช่วยให้ฝ้ายที่หลุดออกไปกลับมาได้ มันจึงต้องมีการบริหารจัดการและคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าประเทศไทยจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่องจีเอ็มโอ"

ไม่ฟันธง สารเคมีเพิ่มหรือลด
ส่วนประเด็นที่มีการห่วงกันมากคือเรื่องของการใช้สารเคมี ดร.นเรศกล่าวว่า ขณะนี้มีพืชตัดแต่งพันธุกรรมที่ทนต่อยาฆ่าหญ้า แต่ก็จะทนต่อยายี่ห้อเดียวคือราวด์อัพของบริษัทมอนซานโต้ หากมีการแพร่กระจายออกไปปะปนกับพันธุ์พืชสายเดียวกันในสภาพธรรมชาติหรือในป่า ก็คงไม่เกิดปัญหาเพราะเกษตรกรคงไม่นำยาฆ่าหญ้าไปฉีดในป่า และคุณสมบัติทนยาฆ่าหญ้าไม่ได้ทำให้พืชนั้นได้เปรียบในแง่ที่แข็งแรกว่า หรือปรับตัวดีกว่า จึงไม่กระทบต่อการขยายพันธุ์และจะกลมกลืนหายไปในที่สุด

"เท่าที่ทราบ ณ วันนี้ การที่ทนต่อยาฆ่าหญ้าแล้วอยู่ในแปลง มันไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรที่ปลูกจีเอ็มโอโดยทั่วไป ยังไม่มีกรณีที่ควบคุมไม่ได้ เพราะถ้าเกิดกรณีนี้เขาก็ต้องรีบหามาตรการจัดการแล้วห้ามปลูก และการทนต่อยาฆ่าหญ้าชนิดเดียว ถ้ามันมีปัญหามากก็ใช้ยาฆ่าหญ้าตัวอื่นได้"

ส่วนว่าพืชที่ทนยาฆ่าหญ้าช่วยเพิ่มหรือช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในหมู่เกษตรกรนั้น ดร.นเรศกล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศนั้นมีทั้ง 2 ทาง ฝ่ายบริษัทขายยาบอกว่าปริมาณการใช้โดยรวมลดลง เหตุผลก็เพราะเกษตรกรหันไปซื้อยี่ห้อราวด์อัพมาฉีด ทำให้ยี่ห้ออื่นขายไม่ได้ ปริมาณโดยรวมจึงลดลง

อีกส่วนหนึ่งระบุว่าปริมาณการใช้ยาฆ่าหญ้าเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะยาฆ่าหญ้าราวด์อัพเป็นยารุ่นใหม่ที่สลายตัวเร็ว อาจมีการฉีดบ่อย แต่ปริมาณการฉีดอาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะเหลือสิ่งตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

"บริษัทถึงกับโฆษณาว่าราวด์อัพเป็นยาฆ่าหญ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็ไม่ได้เชื่อเขามาก แต่เราก็รู้ว่ามันถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณสารเคมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง คำถามนี้ตอบแบบกำปั้นทุบดินไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการระบาด ยาฆ่าหญ้าจะใช้มากถ้าหนอนแมลงระบาด ถ้าไม่ระบาดก็ไม่ต้องใช้ยกเว้นจะฉีดเพื่อป้องกัน"

ดร.นเรศให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในต่างประเทศหากเป็นการใช้ยาฆ่าหญ้าแบบเก่า เกษตรการจะใส่ยาลงไปในดินก่อนปลูกพืช เพื่อประกันว่าจะไม่มีวัชพืชขึ้นในแปลงของเขา เพราะหากมีวัชพืชขึ้นแล้ว จะต้องใช้วิธีถอนออกอย่างเดียว ไม่สามารถใส่ยาได้อีกเพราะพืชจะตาย

เมื่อมีพืชจีเอ็มโอที่ทนต่อยาฆ่าหญ้า วิธีใช้ยาฆ่าหญ้าก็เปลี่ยนไป โดยจะใส่ก่อนปลูกน้อยลงจาก 10 กิโลกรัม อาจจะเหลือ 3 กิโลกรัม เพราะสามารถใช้ยาฆ่าหญ้าได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องกลัวพืชตาย อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการระบาดของวัชพืช เกษตรกรก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเพิ่ม ทำให้ลดปริมาณการใช้ไปได้มาก แต่หากมีการระบาดก็สามารถใส่ได้เรื่อยๆ ซึ่งระบุชัดเจนไม่ได้ว่าแบบไหนจะใช้ปริมาณยาน้อยกว่ากัน เพราะขึ้นต่อปัจจัยของการระบาดของวัชพืชและแมลง

"ส่วนข้อสังเกตว่าพอพืชทนต่อยาฆ่าหญ้าแล้ว เกษตรกรจะใส่ยาไม่อั้น เราก็ต้องคิดอีกมุมหนึ่งด้วยว่า เกษตรกรต้องคิดถึงต้นทุนและกำไร ยามันก็ไม่ใช่ถูกๆ ที่จะให้ซื้อมาใส่ไม่อั้น ผมคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าเกษตรกรจะใส่ไม่อั้น แต่ยอมรับว่าถ้ามีวัชพืชขึ้นมาอีกเขาจะใส่อีก เพราะการไม่มีวัชพืชมันโยงไปถึงการเพิ่มของผลผลิต"

เมื่อถามว่าการตัดต่อยีนเพื่อให้พืชสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้นั้น อาจเป็นเหตุให้ศัตรูพืชต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อจะให้อยู่รอดได้ เป็นการเร่งพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ดร.นเรศ ตอบว่า อันที่จริงแล้วเทคโนโลยีเกษตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ผลักวิวัฒนาการ เช่น การสเปรย์ด้วยยาฆ่าแมลง เราจะพบว่ามันจะมีหนอนแมลงที่รอดตาย ถ้าตัวที่รอดตายกับรอดตายมาผสมกัน มีโอกาสสูงที่ลูกมันจะเป็นแมลงที่ต้านทานยาได้ ผู้ผลิตก็จะผลิตยารุ่นใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ

แต่ประเด็นคือเราอยากจะเลิกยาฉีดพ่น วิธีจีเอ็มโออย่างกรณีของฝ้ายบีที ที่สร้างให้พืชผลิตโปรตีนบีทีที่หนอนกิจเข้าไปแล้วจะตาย จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการฆ่า แต่ไม่ต้องการให้แมลงมากิน หากหนอนมากินแล้วตายที่เหลือก็หนีไปที่อื่น ซึ่งก็ต้องมีแปลงที่เป็นเขตกันชนรองรับให้บรรดาหนอนและแมลงมีที่ไป

"แต่ถ้าส่งเสริมไปเลยให้เป็นบีทีทั้งหมดก็เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องเพราะหนอนมันไม่มีที่ไป อะไรจะเกิดขึ้นเวลที่หนอนไม่มีที่ไป บางตัวที่กินแล้วไม่ตายมาผสมกัน มีโอกาสสูงที่มีลูกที่ต้านทาน เช่นเดียวกับการใช้ยาฆ่าแมลง เราสเปรย์ยาทั้งพื้นที่ทำให้หนอนไม่มีที่ไป ดังนั้นการใช้ยาจึงเป็นวิธีที่แย่กว่าจีเอ็มโอ"

ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของแนวกันชน เรื่องระยะห่างระหว่างพืชจีเอ็มโอและพืชปกติ ตลอดจนการโซนนิ่ง หรือการแบ่งเขตพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอและพืชปกติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นระบบการบริหารจัดการที่ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หากวันหนึ่งประเทศจำเป็นต้องปลูกพืชจีเอ็มโอขึ้นมา ไม่ว่าโดยการระบาดหนักของโรคหรือแมลงก็ตาม

หนักใจเกษตรอินทรีย์
ในส่วนของเกษตรอินทรีย์นั้น นักวิจัยจากไบโอเทคยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจกว่าปกติ เพราะเกษตรอินทรีย์ปฏิเสธจีเอ็มโอในทุกกรณี แม้ในเชิงวิทยาศาสตร์จะเห็นว่าการปลิวมาปนบ้างนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องธรรมชาติก็ตาม

"มันเป็นเรื่องของค่านิยมของผู้บริโภคที่ต้องการผลผลิตที่ไม่เป็นจีเอ็มโอ ถ้ามีแม้แต่นิดเดียวแม้จะปลอดภัยก็ไม่กิน มันจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งวิธีจัดการจะยากกว่ากรณีพืชทั่วไป"

ดร.นเรศอธิบายประเด็นการปนเปื้อนในระดับปกติตามธรรมชาติว่า จะไม่ส่งผลกระทบอะไรหากไม่มีการปนเปื้อนมาตั้งแต่บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรจะซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี นอกจากนี้ยังต้องพิจาณาว่าเป็นการปนเปื้อนในระดับเกสรที่ปลิวมาผสมกัน หรือปลิวมาติดพื้นผิวมะละกอ

"ในทางวิทยาศาสตร์ถ้ามันไม่ใช่มะละกอด้วยกัน ไม่ใช่ปัญหาเพราะมันไม่ผสมกัน หรือถ้าเป็นพืชที่ผสมตัวเองก็ไม่ใช่ปัญหา สโคปมันจะเล็กลงๆ เหลือกรณีที่เป็นไปได้อยู่ไม่กี่กรณี และเมื่อผสมแล้วถูกนำไปขยายต่อก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากถ้าเรามีการจัดการอย่างที่ว่า แต่ถ้าเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดอันนี้จะเป็นปัญหา"

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net