Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โตเกียว-14 ก.ย.47 ธนาคารโลกได้จัดการประชุมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2ขึ้น 4 ครั้งใน 4 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสปป.ลาวตามลำดับเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะสนับสนุนโครงการดังกล่าวหรือไม่

การจัดการประชุมที่กรุงโตเกียว ในวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน จากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ และภาคการพัฒนา ร่วมแสดงความเห็น กันในประเด็นการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ "น้ำเทิน 2" และจะส่งผลทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ และปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของโครงการดังกล่าว

ตัวแทนจากฝ่ายลาวเปิดการสัมนาด้วยการพรรณนาถึงโอกาสที่เข้ามาลาวและถือเป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งยาวนานของลาว กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนลาวมีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวบ่งชี้ทางสังคมอื่น ๆ เป็นต้นว่า ภาวะการตายของทารกแรกเกิด การเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จำนวนคนรู้หนังสือ ซึ่งทั้งหมดเกือบจะอยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชียตะวันออก

ฯพณฯ สมดี ดวงดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงินกล่าวว่า "เราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก และไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อลดระดับความยากจน เราพึ่งองค์กรให้ความอนุเคราะห์ค่อนข้างมากซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เราเป็นประเทศ และควรยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง กำหนดรายได้ด้วยตัวเอง สร้างแหล่งรายได้ของตนเองและกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้" .

ดร.สมบูน มะโนลม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมซึ่งดูแลด้านพลังงานสะท้อนว่า แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ลาวจะสามาระลดอัตราความยากจนได้ถึง 10% แต่ยังคงเป็นประเทศยากจนโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการลดระดับความยากจนของประชากรลาวอีกทั้งช่วยอุดหนุนการบริการทางสังคม (เช่นด้านสาธารณสุขและการศึกษา)

ดร.สมบูน เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า คนลาวประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเขตชนบท 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานไร้การศึกษาและไม่จบการศึกษาระดับประถม อายุขัยเฉลี่ยของคนลาวเพียง 59 ปีเท่านั้น 1 ใน 10 ของเด็กที่เกิด ตายก่อนอายุ 5 ขวบ และ1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ตายก่อนอายุ 40 ปี

"เขื่อนน้ำเทิน 2 จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลลาวซึ่งรัฐบาลจะนำไปพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรลาวให้ดีขึ้น เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและการพัฒนาอย่างสมดุล เราได้ศึกษาทางเลือกมากมายด้วยความรบคอบอย่างยิ่งและพบว่า โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด"

มิสเตอร์เอียน พอร์เตอร์ ที่ปรึกษารัฐบาลลาวกล่าวว่า การประชุมระดมความเห็นครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสสำหรับความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ต้องวางอยู่บนฐานของการวิเคราะห์วิจัยอย่างมีหลักการ ทั้งกล่าวว่าการแสดงความเห็นไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย แต่เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของธนาคารโลก ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลก เอดีบี และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IFIs)ยังไม่ได้ตัดสินใจ

ประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมชาวญี่ปุ่นหยิบยกขึ้นมาคือ การจัดการรายได้จากเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งต้องจัดการอย่างยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขีดความสามารถของรัฐบาลลาวในการจัดการกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 และการใช้ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนในการจัดการ ปัญหาการอพยพของประชากร และปัญหาช่องว่างจากการพัฒนา

ผู้เข้าร่วมการประชุมชาวญี่ปุ่นยังได้เรียกร้องต่อคณะที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวว่าประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนควรได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถึงผลกระทบที่ตนจะได้รับ และขอให้รัฐบาลลาวเปิดโอกาสโอกาสให้ชาวบ้านปากมูลของไทยเข้าร่วมประชุมเหมือนครั้งที่จัดประชุมในกรุงเทพฯและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านนากายซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้เข้าร่วมประชุม และพบปะพูดคุยกับชาวบ้านปากมูลโดยตรง

รายงานโดย : พิณผกา งามสม
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net