Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 14 ก.ย.47 พันธมิตรเครือข่ายเกษตรกร-ผู้บริโภค ฟันธงมะละกอจีเอ็มโอกระจายไปสู่แปลงเกษตรกรมากกว่าที่ทางการเปิดข้อมูล ไบโอไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เร่งทำลายมะละกอในแปลงทดลองรัฐ-เกษตรกรที่รับพันธุ์ท่าพระไปปลูก

"เชื่อว่าข้อมูลการแพร่ระบาดของกระทรวงเกษตรฯ ที่พบเพียง 1 ตัวอย่างจากการตรวจ 239 ตัวอย่างนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกรีนพีซสุ่มตรวจ 3 ตัวอย่างพบ 1 ตัวอย่าง คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจ 15 ตัวอย่างพบ 1 ตัวอย่าง" นายวิฑูรย เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าว

น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคระบุว่า จากข้อมูลของเครือข่ายเกษตรกรซึ่งสนใจเข้าร่วมโครงการตรวจสอบและติดตามการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอ พบว่า มีเกษตรกรหลายพื้นที่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพราะสงสัยว่า เมล็ดพันธุ์มะละกอที่ตนเองได้รับจากสถานีวิจัยพืชในจังหวัดตนนั้น อาทิ ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สกลนคร มาจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตพื้นที่ 3 อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น โดยศูนย์ฯ ขอนแก่นเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ผ่านมายังสถานีวิจัยในจังหวัดอื่นๆ อีกที

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า หากจะตรวจสอบการแพร่กระจายอย่างแท้จริงจะต้องตรวจมะละกอทุกต้นในแปลงต้องสงสัย ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล เพราะค่าตรวจในห้องปฏิบัติการสูงถึง 1,600 บาท/ตัวอย่าง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ เร่งทำลายมะละกอในแปลงของเกษตรกรทั้ง 2,600 รายแล้วจ่ายค่าชดเชย โดยพิจารณาบนฐานของผลผลิตเดิมที่เกษตรเคยได้รับ

นอกจากนี้ผอ.ไบโอไทยยังเรียกร้องให้มีการทำลายมะละกอจีเอ็มโอที่ทดลองปลูกในแปลงทดลองของภาครัฐ 2 แห่งคือ สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

"ที่ผ่านมามีการบิดเบือนข้อมูล โดยบอกว่าการทดลองแบบแปลงเปิดนั้นเป็นการทดลองที่มีการควบคุมภายในสถานีไม่ใช่ในสภาพไร่นา แต่หลักการโดยทั่วไปทราบกันดีว่า สภาพไร่นาหมายถึงสภาพแปลงแบบเปิด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานีวิจัยหรือไร่นาของเกษตรกรก็ตาม" นายวิฑูรย์กล่าว

เร่งตรวจจีเอ็มโอทั่วปท.

ส่วนความคืบหน้าโครงการตรวจสอบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอขององค์กรภาคประชาสังคมกว่า 450 องค์กรทั่วประเทศนั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้มีการทยอยส่งตัวอย่างมาจาก 7 จังหวัดนำร่อง คือ น่าน สกลนคร อุบลราชธานี ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และชุมพรบ้างแล้ว โดยกำหนดพื้นที่ละ 5 ตัวอย่างและจะมีการรวบรวมส่งตรวจในห้องปฏิบัติการภายในวันศุกร์นี้
(17 ก.ย.)

"ตอนนี้เจ้าหน้าที่หลายคนอยู่ในภาคสนามเพื่อประเมินข้อมูลก่อนว่าเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ คนใดบ้างที่รับพันธุ์มะละกอจากศูนย์วิจัยท่าพระ แล้วส่งมาทั้งหมด 35 ตัวอย่างใน 7 พื้นที่ ซึ่งเราต้องลงขันจ่ายค่าตรวจในห้องปฏิบัติการกันเอง และหากพบว่ามีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโออาจจะมีการเรียกร้องค่าตรวจคืนจากกระทรวงเกษตรฯ" ผอ.ไบโอไทยกล่าวและว่า การทำลายมะละกอจำนวน 2,600 แปลงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตมะละกอและการส่งออกโดยรวม

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net