Skip to main content
sharethis

ประชาไท-15 ก.ย.47 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เหมืองหินและโรงโม่หินเทือกเขาถ้ำแรด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ของบริษัท โจมทองศิลา จำกัด เป็นผู้ยื่นขอสัมปทาน ซึ่งศึกษาโดย บ.เอสพีเอส คอนซัลติ้ง จำกัด โดยนางนิศากร โฆษิตรัตน์ รองเลขาธิการ สผ. ในฐานะประธานคณะผู้ชำนาญการด้านเหมิอแงแร่ เป็นประธาน

โดยมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่ม (เทือกเขาถ้ำแรด) จำนวน 10 คน ขอเข้าร่วมชี้แจงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติให้กลับไปศึกษาEIA เพิ่มเติมใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย ชนิดของสัตว์ป่า รายละเอียดเกี่ยวกับระบบนิเวศ การบริหารจัดการที่ดิน การใช้เส้นทางขนส่ง ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากชุมชน ผลกระทบที่อาจจะเกิดกับถ้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า ประเด็นต่างๆ ที่คณะผู้ชำนาญการให้กลับไปศึกษา เป็นประเด็นที่คณะผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นสัตว์ป่าที่ชาวบ้านยืนยันว่า บริเวณดังกล่าว เป็นที่อาศัยของเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์หายาก

ทั้งนี้ EIA ของบริษัท โจมทองศิลา จำกัด ได้เสนอให้คณะผู้ชำนาญการเรื่องการทำเหมืองแร่ สผ. พิจารณารวมแล้ว 3 ครั้ง

นางละมุล เย้าเฉื้อง จากกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่ม (เทือกเขาถ้ำแรด) กล่าวว่า นางนิศากร ได้เข้ามาชี้แจงกับชาวบ้าน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า สาเหตุที่ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุม เพราะชาวบ้านต้องการถามเรื่องการให้สัมปทานทำเหมืองหิน ในที่ดินของ สปก. ว่าเป็นการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือไม่ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกรรมการ

นางสาลี โชติรัตน์ อายุ 61 ปี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่มฯ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากเพราะตั้งใจมาในวันนี้ อยากมาชี้แจงเพื่อให้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกัน หลังจากที่สผ.ลงพื้นที่ไปแล้วไม่ใช่ให้เราแค่รอฟังว่า ผลจะออกมายังไงแต่ชาวบ้านน่าจะได้เข้าชี้แจง

"ตามรัฐธรรมนูญก็บอกว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและมีสิทธิรับรู้ข้อมูลของราชการ แต่นี่ทำไมให้นายทุนเข้าไปฟังไปชี้แจงไม่ยุติธรรม อย่างนี้รัฐธรรมนูญก็แค่เขียนไว้ดูเล่นเฉยๆ " นางสาลี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะเดินทางไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่ และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความคืบหน้า ตามที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอาไว้ หลังจากนั้นจึงจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรังด้วย

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net