Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 ก.ย.47 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยืนยันเดินหน้าวิจัยมะละกอและพืชอีก 9 ชนิดต่อ พร้อมแจงต้องทำลายแปลงทดลองตามกฎหมายแม้สะเทือนใจนักวิจัย ด้าน "ไบโอไทย" ชี้ต้นเหตุปัญหาไม่เปิดการมีส่วนร่วมแต่แรก

"กรมวิชาการเกษตรคงทำงานวิจัยเรื่องจีเอ็มโอต่อไป ถึงวันนี้มีการทำวิจัยอยู่ 9 ชนิดคือ ข้าว มะละกอ ฝ้าย สับปะรด กล้วยไม้ แตงกวา ทุเรียน ส้มเขียวหวาน ถั่วเหลือง เราไม่ได้ทำเฉพาะมะละกอ เพราะไม่ว่าเราจะรับหรือไม่รับจีเอ็มโอก็ต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปอธิบายมัน" นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในเวทีสัมมนาของชมรมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย เรื่อง "มุมมองการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs)"

นายฉกรรจ์กล่าวด้วยว่า การทำลายแปลงทดลองที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ เป็นเป็นไปตามพ.ร.บ.กักพืช ส่วนการทำลายโดยการฝังกลบที่มีบางกลุ่มออกมาระบุว่าไม่ได้มาตรฐานนั้น ยืนยันว่ายังไม่เคยเห็นว่าการทำลายต้องมีมาตรฐานแต่อย่างใด

"เมื่อวานนี้ผมต้องไปทำความเข้าใจกับนักวิชาการ 3 คนที่ขอนแก่นที่สถานีฯท่าพระ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกมาทำให้เพิ่มผลผลิตมะละกอจาก 2-3 ตันกลายเป็น 22 ตัน ซึ่งรู้สึกสะเทือนใจกับทำลายแปลงที่เขาเคยเดินตรวจตามต้นมะละกอที่ตัวเองวิจัยมากว่า 10 ปี " อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

ขณะที่รศ.สุพัฒน์ อรรถธรรม ผอ.หน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านพืชมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ซึ่งก็มีแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอแบบเปิดเช่นเดียวกับสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น กล่าวว่า หากรัฐบาลสั่งให้โค่นทำลายก็ยินดีทำตาม แต่อยากเตือนว่า รัฐบาลนี้อาจเป็นรัฐบาลชุดแรกที่แทรกแซงการค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการ

นอกจากนี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังยินดีที่จะให้องค์กรภาคประชาสังคมกว่า 450 องค์กรร่วมตรวจสอบการแพร่การหลุดลอดของมะละกอจีเอ็มโอ พร้อมทั้งยืนยันว่านักวิจัยไทยพร้อมแล้วที่จะสร้างเทคโนโลยีของเราเอง

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดจากคนส่วนใหญ่ที่ควรร่วมกำหนดนโยบายไม่มีส่วนร่วมแท้จริง การตัดสินใจยังคงให้น้ำหนักในการตัดสินใจยังคงอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร

ชี้วิจัยไทยไม่ใช่ของไทย

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ออกมาคัดค้านไม่ได้คัดค้านการวิจัยอย่างสิ้นเชิง แต่ควรอยู่ในระดับควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์จากการวิจัยอย่างแท้จริงนั้น คือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และการจดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยคอร์แนลก็ทำให้การวิจัยไทยไม่ใช่ของไทยอีกต่อไป

ด้านนายธนิต ชังถาวร นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจดสิทธิบัตรในอเมริกาไม่สามารถมาใช้กับประเทศไทยได้ และขณะนี้ก็หมดเวลาในการมาจดสิทธิบัตรในประเทศอื่นตามกติกาที่วางไว้ว่าจะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี รวมทั้งการจะใช้สิทธิบัตรนี้กับประเทศอื่นๆ ที่มีระบบความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ก็ต้องมีการตรวจสอบมากมาย

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net