สศช. ชู "ประชานิยม" ช่วย 9 ล้านคนหายจน

ประชาไท สภาพัฒน์ฯ ระบุโครงการรัฐช่วยลด "คนจน" ลงกว่าครึ่ง เตรียมตั้งเป้าให้ต่ำถึงร้อยละ 4 ขณะที่ "ยาเสพติด" กระเตื้องสูงอีกระลอก รวมทั้ง "เอดส์" ยังคุกคามหนัก เหตุค่านิยมสวิงกิ้ง-ไม่ใช้ถุงยาง

"เนื่องจากประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนคนยากจนลงครึ่งหนึ่ง โดยลดลงจาก 15.3 ล้านคน เหลือ 6.3 ล้านคน จึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดความยากจนให้ต่ำว่าร้อยละ 4 ภายในปี 2552" นายบุญยงค์ เวชมณีศรี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวในการรายงานสภาวะสังคม ไตรมาส 2 ปี 2547

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าโครงการยุทธศาสตร์ของรัฐที่น่าจะนัยยะสำคัญต่อการขจัดความยากจนได้แก่ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ส่วนตัวชี้วัดความยากจนดูจากการมีรายได้ต่ำว่า "เส้นยากจน" ซึ่งคำนวณจากความต้องการทางโภชนาการและความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ พฤติกรรมการบริโภค และราคาสินค้าในภาคต่างๆ โดยระบุว่า

ขณะที่รายงานระบุด้วยว่า ตัวเลขคนว่างงานในภาคเหนือและภาคใต้สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคเหนือเกิดจากปัญหาภัยแล้ง และภาคใต้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนระดับการศึกษาของแรงงานนั้นพบว่ามีการศึกษาสูงขึ้น แต่แรงงานสายอาชีพกลับว่างงานมากขึ้นจากร้อยละ 4.12 เป็น ร้อยละ 5.60

รองเลขาธิการสศช. กล่าวต่อว่า เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง โดยมีคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกถึงร้อยละ 14.8 แต่คดีทำร้ายร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 5.2 ขณะที่สถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปี 2547 มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบกถึง 10,044 รายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 15.2

ส่วนปัญหาสำคัญของสังคมที่ถือเป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องนั้นรายงานระบุว่าคือ ปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งแม้ผู้ติดเชื้อใหม่จะมีแนวโน้มลดลง แต่กลุ่มอายุที่ติดเอดส์เพิ่มมากที่สุดอยู่ในวัยทำงานอายุ 15-24 ปี เป็นหญิงมากกว่าชาย โดยผู้หญิง 1 ใน 3 ติดจากคนรักหรือสามี

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเกิดจากการใช้ถุงยางอนามัยในสัดส่วนต่ำ ค่านิยมการเปลี่ยนคู่นอนหรือสวิงกิ้งในกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง โดยจากการสำรวจพบว่าเด็กไทยมีประสบการณ์ทางเพศในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ในปี 2546 พบว่าอยู่ในช่วงอายุเพียง 9-10 ปี

ในส่วนของสิ่งแวดล้อมรายงานระบุว่าประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เพราะมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2544 - 2546 โดยนำเข้าปุ๋ยรวมเป็นเงินปีละประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ยาปราบศัตรูพืชปีละประมาณ 8.6 พันล้านบาท ทำให้มีการตกค้างในดินและในแม่น้ำสายหลักๆ ของประเทศเกือบร้อยละ 50 และพืชผักมีสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับเกินมาตรฐานร้อยละ 60

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท