Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-18 ก.ย.47 ในท่ามกลางความคืบหน้าการวางท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่คาดการณ์กันว่า จะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2548 ใครจะนึกเล่าว่า การวางท่อก๊าซที่ดูภายนอกค่อนข้างฉลุยนั้น จะเจอกับอุปสรรค

อันเป็นอุปสรรคจากกลุ่มเครือญาติ 5 ครอบครัว แห่งหมู่ที่ 2 บ้านคลองตง ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่บัดนี้ยังไม่ยินยอมให้วางท่อก๊าซผ่านที่ดินที่พวกเขาแหล่านั้นครอบครองอยู่

"อเนก ยงสถิรโชติ" ถูกยกให้เป็นพี่ใหญ่ในการทำหน้าที่ต่อรองกับบริษัท ทรานส์ไทย - มาเลเซีย จำกัด ที่คุ้นชินกันในชื่อย่อ "ทีทีเอ็ม" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย กับ บริษัทเปโตรนาส จำกัด แห่งมาเลเซีย

เป็น "ทีทีเอ็ม" ที่บัดนี้ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงวาระผลัดเปลี่ยนจากฟากฝ่ายบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปอยู่ในมือของฟากฝ่ายบริษัท เปโตรนาส จำกัด

"อเนก" ยื่นข้อเสนอที่คาดการณ์ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า จะได้รับการปฏิเสธจากทีทีเอ็มแน่นอน ด้วยตัวเลขขอค่าชดเชยที่ 150 ล้านบาท

เป็นไปตามความคาดหมาย วันที่ 8 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา "หลิว ทิน โป" ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท วันชนะ เจดับเบิลยูแอล จำกัด ได้มาติดต่อ "อเนก" กับ "สัมฤทธิ์ ยงสถิรโชติ" ผู้เป็นน้องชาย

"หลิว ทิน โป" มาพบ "อเนก" ในคราบของตัวแทนบริษัท เปโตรนาส จำกัด เป็นการมาพบเพื่อต่อรองค่าชดเชย จากที่เคยขอ 150 ล้านบาท ลงมาเป็น 130 ล้านบาท

"ผมเปลี่ยนใจแล้ว ขอค่าชดเชยเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท" เป็นคำตอบของ "อเนก" ในวันนั้น
วันต่อมา "หลิว ทิน โป" แจ้งกลับมาว่า จะเบี่ยงแนววางท่อก๊าซไปทางทิศตะวันออก เพื่อเลี่ยงที่ดินของ "อเนก" กับเพื่อนบ้านอีก 5 ราย ที่ไม่อนุญาตให้ท่อก๊าซพาดผ่าน พร้อมกับไหว้วาน "สัมฤทธิ์" ให้ช่วยนำทางไปดูที่ดินทางทิศตะวันออก

จนวันที่ 11 กันยายน 2547 ตนจึงได้นำนายหลิวไปดูพื้นที่ พบว่าไม่สามารถเบี่ยงแนวท่อก๊าซไปใช้เส้นทางดังกล่าวได้ เพราะติดที่ดินของ "จิว ขจรกิตติคุณ" หนึ่งใน 5 ครอบครัว ที่ไม่อนุญาตให้วางท่อก๊าซผ่านที่ดิน

"หลิว ทิน โป" บอกว่า จะนำปัญหานี้ไปแจ้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เปโตรนาส จำกัด ทราบ

รุ่งขึ้น วันที่ 12 กันยายน 2547 "หลิว ทิน โป" และชายคนหนึ่งอ้างว่า เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเปโตรนาส จำกัด บอกกับ "อเนก" ว่า ชื่อ "โอมาร์" พร้อมกับสาวไทยอีกหนึ่งคน เดินทางมายังพื้นที่อีกรอบ

ทั้ง 3 ขอถ่ายรูปที่ดินที่เจ้าของไม่อนุญาตให้วางท่อก๊าซทั้งหมด เพื่อนำไปรายงานต่อนายกาลันต้าร์ มัสตันโมฮำหมัด กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีทีเอ็มทราบ ภายใน 24 ชั่วโมง

ค่ำวันเดียวกันนั้น "โอมาร์" ชายที่อ้างว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เปโตรนาส จำกัด ได้นัดพบกับ "ไพลิน (ขอสงวนนามสกุล)" หนึ่งในผู้ไม่อนุญาตให้แนวท่อพาดผ่านที่ดิน ในตัวเมืองหาดใหญ่

หนึ่งในหลายคำถามของ "โอมาร์" ก็คือ ค่าชดเชย 200 ล้านบาท ที่ "อเนก" เสนอสูงเกินไปหรือไม่

ทว่า ถูกภรรยาของ "ไพลิน" ตอกกลับไปว่า ถ้าหากเธอเป็นผู้บริหารทีทีเอ็ม พอใจที่จะซื้อที่ดินดังกล่าว เธอก็จะซื้อ

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในการพบปะกับ "โอมาร์" ในคืนนั้น "ไพลิน" ได้เห็นเอกสารที่อยู่ในมือ "โอมาร์" ระบุค่าชดเชยที่ดินของชาวบ้านกลุ่มนี้ ในอัตราที่สูงลิบลิ่ว

นั่นคือ "อเนก" 130 ล้านบาท "จิว" 15 ล้านบาท "เกียรติศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล)" 5 ล้านบาท "วุฒิพงศ์ แซ่จุ่ง" 50 ล้านบาท "ไพลิน" 26 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ระบุจำนวนแล้ว 226 ล้านบาท ส่วน "นางสาวสุรัตน์ แซ่จุ่ง" ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน
ในการพบกันคราวนั้น "โอมาร์" บอกกับ "ไพลิน" ว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงสนับสนุนโครงการนี้ พร้อมกับให้ดูภาพจากปกวารสารทีทีเอ็ม ฉบับที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเปิดโรงแยกก๊าซที่มาบตาพุด จังหวัดระยองให้ดู

ช่วงค่ำวันเดียวกัน "หลิว ทิน โป" ได้โทรศัพท์หา "สัมฤทธิ์" แจ้งว่ารัฐบาลไทยสามารถจะเข้าไปใช้ที่ดินบริเวณดังกล่าวได้ โดยอ้างพระราชบัญญัติการปิโตรเลียม พ.ศ. 2521

"ผมจึงบอกไปว่า ไม่ต้องมาคุยกันอีกแล้ว" เป็นคำบอกเล่าจากปากของ "สัมฤทธิ์"

ต่อมา วันที่ 13 กันยายน 2547 "หลิว ทิน โป" ได้มาที่บ้านของ "จิว" พร้อมด้วยสุภาพสตรี ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของทีทีเอ็มอีกหนึ่งคน ขอพบกับเจ้าของที่ดินทั้ง 5 คน ยกเว้นนางสาวสุรัตน์ไม่อยู่บ้าน

สุภาพสตรีผู้อ้างตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของทีทีเอ็มแจ้งว่า ขณะนี้มีเงินอยู่ 50 ล้านบาท จะให้กับเจ้าของที่ดินที่ยังไม่ยอมรับค่าชดเชยทั้ง 5 ราย "จิว" จึงย้อนกลับไปว่า ตอนนี้ต้องการค่าชดเชยเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ "อเนก" เป็นคนจัดการเรื่องนี้

วันที่ 15 กันยายน 2547 มีผู้ติดต่อ "จิว" มาทางโทรศัพท์ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่จะนำอุปกรณ์วางท่อก๊าซไปวางในที่ดินของ "จิว" ซึ่งเป็นทางเข้าพื้นที่แนวท่อก๊าซสะดวกที่สุด ขอให้ไปรับเงินค่าชดเชย 7 แสนบาทด้วย

"ปตท.พิจารณาแล้วเห็นว่า จะให้ค่าชดเชยมากไปกว่านี้ไม่ได้ เนื่องจากคุณจิวไม่ได้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซียมาตั้งแต่ต้น" เป็นคำชี้แจงจากผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

คล้อยหลัง 30 นาที "หลิว ทิน โป" โทรศัพท์มาหา "จิว" อีกครั้ง แจ้งว่า ถ้ามีเครื่องมือวางท่อก๊าซมาวางในที่ดิน ให้ถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วจะได้รับเงิน 6 หมื่นบาท

ข้อน่าสังเกตอย่างยิ่ง อยู่ตรงที่คำพูดของ "หลิว ทิน โป" ที่บอกกับ "สัมฤทธิ์" ว่า ทางฝ่ายมาเลเซียไม่เคยรู้เลยว่า โครงการนี้มีปัญหาการขออนุญาตวางท่อก๊าซผ่านที่ดินของชาวบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยืนยันมาตลอดว่า ไม่มีปัญหาอะไร
"ตอนนี้ฝ่ายมาเลเซียทราบข้อเท็จจริงแล้ว รู้แล้วว่าถูกฝ่ายไทยหลอกมามาก" เป็นคำพูดของ "หลิว ทิน โป"

คราวเดียวกันนั้น "หลิว ทิน โป" ได้ระบุชื่อผู้บริหารทีทีเอ็มฝ่ายไทย 2 คนว่า ได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนฝ่ายมาเลเซีย ให้เป็นผู้ใช้จ่ายเงินในการเคลียร์ปัญหาทั้งหมด ในช่วงก่อนที่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการทีทีเอ็ม จะผลัดมือมาเป็นคนของบริษัท เปโตรนาส จำกัด

"หลิว ทิน โป" บอกกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารทีทีเอ็ม ให้มาเจรจาขอวางท่อก๊าซผ่านที่ดินของชาวบ้านกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ได้ผล

"สัปดาห์หน้า ผมจะเข้าไปเจรจาอีกครั้ง" เป็นคำพูดของ "หลิว ทิน โป"

ข้อน่าสังเกต ก็คือว่า "หลิว ทิน โป" ปฏิเสธกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า ไม่เคยไปพบเจ้าของที่ดินทั้ง 5 ราย พร้อมกับชายชื่อ "โอมาร์" และผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เปโตรนาส จำกัด ก็ไม่มีชื่อนี้

ทว่า เมื่อ "อเนก" ตรวจสอบไปยังบริษัท วันชนะเจดับเบิลยูแอล จำกัด ของ "หลิว ทิน โป" กลับได้รับแจ้งจากพนักงานบริษัทนี้ว่า ชายนาม "โอมาร์" เป็นเพื่อนของ "หลิว ทิน โป" และไม่ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เปโตรนาส จำกัด ตามที่กล่าวอ้าง

ขณะเดียวกัน สุภาพสตรีที่ติดตาม "หลิว ทิน โป" ไปพบกับเจ้าของที่ดิน ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของทีทีเอ็ม ก็ปรากฏว่า เป็นภรรยาของ "หลิว ทิน โป" เอง

ถึงแม้วันนี้ทีทีเอ็ม ค่อนข้างจะมั่นใจว่า ท่อก๊าซจะสร้างเสร็จภายในต้นปี 2548 แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อพิจารณาจากท่าทีของ "อเนก" พี่ใหญ่ของ 5 ครอบครัว แห่งบ้านคลองตง

"ผมค้านโครงการนี้ เพราะไม่ต้องการให้ท่อก๊าซมาอยู่ใกล้บ้าน ไม่ได้ค้านเพื่อต่อรองเรื่องเงินค่าชดเชย แต่ถ้ากล้าให้เท่าที่ผมขอ คือ 200 ล้านบาท ผมก็ยอมย้ายไปอยู่ที่อื่น"

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net