Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แถลงการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่องปัญหาการหลุดรอดและแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม

ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการทดลองมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมต้านทานโรคจุดวงแหวนระดับแปลงในภาคสนาม ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ ส่วนแยกพืชสวน จังหวัดขอนแก่น และได้มีการตรวจสอบพบว่ามะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระที่ได้ซื้อไปจากสำนักวิจัยฯ ดังกล่าว และมะละกอที่ปลูกในแปลงของเกษตรกร อ.พล จ.ขอนแก่น เป็นเมล็ดพันธุ์มะละกอที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม ดังเป็นที่ทราบแล้วนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความสำคัญต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงกับการกำหนดนโยบายด้านสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ รวมถึงประเด็นข้อเรียกร้องจากสหรัฐอเมริกาให้เปิดเสรีการค้าสินค้า GMOs ภายใต้การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในหลายมิติ ทั้งในด้านสิทธิเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค สิทธิในสิ่งแวดล้อม สิทธิในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะดำเนินการพิสูจน์ให้ความจริงเป็นที่ปรากฏ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง อันจะนำไปสู่การแก้ไขจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิเกษตรกร รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๑. ผลการตรวจสอบการแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนักวิชาการ ได้เข้าไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ กรมวิชาการเกษตร จังหวัดขอนแก่น และในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ต.หนองแวงนางเบ้า และ ต.โจดหนองแก อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา โดยได้เก็บตัวอย่างใบและเมล็ดมะละกอจากพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ๓ ราย จำนวน ๑๕ ต้น ส่งไปตรวจพิสูจน์ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ห้องปฏิบัติการ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลการตรวจพบว่า มีมะละกอตัดแต่งพันธุกรรม ๑ ต้น
โดยก่อนหน้านี้ จากการดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชน พบว่าเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๓ จังหวัดขอนแก่น ขายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในช่วงเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคม ๒๕๔๗ และตัวอย่างเมล็ดมะละกอในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ อ.พล จ.ขอนแก่น เป็นมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมเช่นกัน

สรุปได้ว่า ในขณะนี้ได้เกิดปัญหาการหลุดรอดและแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมแล้วโดยปนเปื้อน (contaminated) ไปกับมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระ แต่ยังไม่สามารถประเมินขอบเขตพื้นที่การแพร่กระจายที่แน่ชัดไปได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรในการเข้าไปเก็บตัวอย่างมะละกอในบริเวณสถานีวิจัยฯ และให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน จากข้อมูลเท่าที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับรายชื่อเกษตรกรที่ซื้อหรือได้รับการแจกจ่ายมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระไปนั้น มีจำนวนกว่า ๒,๖๐๐ ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีบางส่วนอยู่ในภาคอื่นๆ เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ราชบุรี กรุงเทพฯ ฯลฯ

๒. ข้อเสนอต่อการจัดการปัญหาและการเยียวยาความเสียหาย
เนื่องจากตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ การปลูกมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมทำได้เฉพาะเพื่อการวิจัยทดลองเท่านั้น การปลูกในเชิงพาณิชย์ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาในด้านสิ่งแวดล้อมจากปนเปื้อนของมะละกอ GMOs กับมะละกอทั่วไป รวมทั้งปัญหาผลกระทบด้านการค้าระหว่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

๒.๑ การจัดการมะละกอ GMOs ที่อยู่ในแปลงทดลองแบบเปิดและแปลงของเกษตรกร
- ทำลายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมที่ปลูกอยู่ในแปลงทดลองแบบเปิดและแปลงของเกษตรกร รวมถึงมะละกอที่อยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายมะละกอ GMOs ออกไปกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม โดยต้องปฏิบัติตามวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ

- รัฐบาลต้องมีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่เกษตรกร เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร
๒.๒ การจัดการปัญหาด้านการค้าระหว่างประเทศ
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจสร้างผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ไม่ยอมรับสินค้า GMOs ในกรณีมะละกอนั้น ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกมะละกอที่สำคัญของไทย มีท่าทีชัดเจนที่ปฏิเสธมะละกอ GMOs ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดแนวทางและกิจกรรมการสร้างความเข้าใจอย่างเร่งด่วนว่าประเทศไทยยังไม่ให้มีการปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์

การยอมรับถึงปัญหาการแพร่กระจายมะละกอ GMOs ในสิ่งแวดล้อมในวันนี้และเร่งรีบหาทางกำจัดทำลาย แม้ว่าจะมีต้นทุนและผลกระทบอยู่มาก แต่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะนำไปสู่การจัดการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิผล ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้าได้ในที่สุด ถ้าปล่อยให้ปัญหานี้ลุกลามขยายกว้างออกไป และมีการตรวจพบการปนเปื้อนของมะละกอ GMOs ในสินค้าไทยที่ส่งไปขายโดยประเทศคู่ค้า (ในทางเทคนิคสามารถตรวจสอบได้) จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด และจะเป็นปัญหาเรื่องการขาดความเชื่อถือดังเช่นที่เกิดกับกรณีปัญหาไข้หวัดนก

๒.๓ การสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
- กรณีการหลุดรอดและแพร่กระจายพืช GMOs ออกไปในสิ่งแวดล้อมในระหว่างการทดลองเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับฝ้ายบีทีในปี ๒๕๔๒ นั้น จนถึงบัดนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่สามารถอธิบายและสรุปผลการสอบสวนของปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ มีรายงานจากหลายฝ่ายให้ข้อมูลตรงกันว่า พื้นที่ปลูกฝ้ายส่วนใหญ่ของไทยในปัจจุบันเป็นฝ้ายบีที

ดังนั้นการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหาในอนาคต ควรกระทำโดยคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การสอบสวนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่เพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม

- ท่าทีของกรมวิชาการเกษตรต่อการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ปัญหามีขอบเขตขยายออกไปกว่าที่ควรจะเป็นและมีความยุ่งยากในการแก้ไข แสดงให้เห็นถึงการขาดความตระหนักและความรับผิดชอบถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมา ขาดความเข้าใจถึงประเด็นความซับซ้อนของปัญหาเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม

๓. ข้อเสนอเชิงนโยบายในเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม
การจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่อาจกระทำเพียงการทำลายมะละกอที่ปนเปื้อน และการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดเท่านั้น จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนแง่มุมและประเด็นปัญหาในเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมในหลายมิติ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ การคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายในเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมของประเทศไทย ดังนี้

๓.๑ นโยบายเรื่องการทดลองในระดับแปลงทดลอง /พื้นที่เปิด
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาล ที่ยังไม่อนุญาตให้มีการทดลองพืช GMOs ในระดับไร่นา (Field Trials) ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่สถานีวิจัยของรัฐ/เอกชน หรือในพื้นที่ของเกษตรกร เนื่องจากการทดลองในระดับดังกล่าวเป็นการทดลองในสภาพแบบเปิด (Open System) มีโอกาสเสี่ยงต่อการหลุดรอดและแพร่กระจายของพืช GMOs ในสิ่งแวดล้อมได้สูง ทั้งนี้จนกว่าจะมีการปรับปรุงระเบียบ/กลไกการควบคุมการทดลองให้มีความรัดกุมและมีประสิทธิภาพโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และมีการออกกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

อนึ่ง ควรกำหนดให้เกิดความชัดเจนด้วยว่านโยบายดังกล่าว มีความหมายรวมถึงการทดลองในระดับแปลงทดลองด้วย เนื่องจากเป็นการทดลองในสภาพแบบเปิดเช่นกัน ในกรณีการทดลองมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมที่จังหวัดขอนแก่นนั้น มีขนาดพื้นที่ถึง ๑๑ ไร่ มีโอกาสสูงต่อการแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม แต่ได้จำแนกเป็นการทดลองในระดับแปลงทดลอง แสดงให้เห็นปัญหาของข้อกำหนดเกี่ยวกับกฎระเบียบในเรื่องนี้ที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน
๓.๒ นโยบายการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม
การกำหนดนโยบายของประเทศไทยเรื่องการวิจัยและการใช้ประโยชน์จาก GMOs ควรเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีความซับซ้อนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม รวมถึงความตกลงระหว่างประเทศ ไม่อาจใช้ข้อมูลเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นข้อตัดสินใจแต่เพียงมิติเดียวดังเช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ได้

๓.๓ เรื่องระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ควรเร่งพัฒนาระบบกฎหมายของไทยเพื่อให้เท่าทันกับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก GMOs กฎหมายสำคัญที่ควรมีก่อนมีการทดลองในแปลงทดลอง/ระดับไร่นา ได้แก่ กฎหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ กฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยยึดหลักความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด (Strict Liability) และ กฎหมายป้องกันการผูกขาดที่มีประสิทธิผล เนื่องจากสินค้า GMOs เป็นสินค้าที่กึ่งผูกขาด มีผู้แข่งขันน้อยราย มีสิทธิบัตรคุ้มครอง

ทั้งนี้ การจัดทำยกร่างกฎหมายควรประกอบด้วยผู้แทนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดหลักกระบวนการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส โดยควรมีการรับฟังความเห็นจากสาธารณะอย่าง กว้างขวางในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง

๓.๔ เรื่องความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีสมาชิกของพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อการบริหารจัดการเรื่องสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม โดยเฉพาะในประเด็นการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเป็นปัญหาที่จะมีความยุ่งยากซับซ้อนและมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นในอนาคต

๓.๕ เรื่องการจดสิทธิบัตรมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกาและการทำ MOU กับบริษัทมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล
เนื่องจาก ในขณะนี้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับมะละกอของไทยหลายรายการในประเทศสหรัฐอเมริกาและในอีกหลายประเทศ โดยนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาและนักวิจัยต่างประเทศ ถ้ามีการอนุมัติสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีสิทธิบัตรคุ้มครองยีนไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ (หมายเลข ๒๐๐๓๐๑๗๒๓๙๗) จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมของไทยในอนาคต เป็นอุปสรรคและจำกัดโอกาสในการวิจัยมะละกอต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวน และอาจสร้างปัญหาด้านการค้าต่อประเทศไทย ถ้ามีการส่งมะละกอของไทยที่มีคุณลักษณะตรงตามกับที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรเข้าไปขายในประเทศสหรัฐฯ หรือประเทศอื่นๆ ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ ดังนั้น รัฐบาลควรมีการยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับมะละกอของไทยในสหรัฐฯ และในประเทศต่างๆ ที่เป็นตลาดส่งออกมะละกอของไทยโดยเร่งด่วน

อนึ่ง ในปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศนโยบายอย่างชัดเจนว่า ยังไม่มีนโยบายให้ปลูกพืช GMOs ในเชิงพาณิชย์ และให้มีกระบวนการกำหนดนโยบายเรื่องการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมอย่างเหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันกรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาทำ สัญญาความตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ (MOU) กับบริษัทมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐ เนื้อหาของ MOU มีสาระเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงานจากการนำมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมไปปลูกใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรจึงเป็นการตัดสินใจไปล่วงหน้าก่อนที่จะได้มีการกำหนดนโยบายอย่างเหมาะสม และถือเป็นการกระทำที่ขัดกับนโยบายของรัฐบาลด้วย ดังนั้นจึงควรให้ระงับการทำ MOU ดังกล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ
วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗

ประชาไท รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net