Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เพราะเชื่อว่าเป็นคดีการเมือง จึงสู้เพราะต้องการสืบให้เห็นเจตนา"

วันที่ 7 ก.ย. 47 ศาลชั้นต้นจังหวัดศรีสะเกษตัดสินจำคุก 2 ปี นายไพจิตร ศิลารักษ์ ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเขื่อนราศีไศล คดี บุกรุกและกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าพนักงานอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน แจ้งความเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 43

ย้อนไปเมื่อปี 2536 การก่อสร้างเขื่อนราษีไศลแล้วเสร็จ และการพิสูจน์สิทธิ์ครอบครองพื้นที่เพื่อจ่ายค่าชดเชยยังคงคาราคาซัง จากนั้นตั้งแต่ปี 2542 ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา โดยได้ยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำด้วยการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในนามสมัชชาคนจน โดยเสนอให้เปิดประตูน้ำ เพื่อทำการพิสูจน์สิทธิการครอบครองการใช้ประโยชน์ทุกราย รวมทั้งเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆและ ความคุ้มค่าในการก่อสร้างเขื่อน

ไพจิตร ศิลารักษ์ เป็นหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่มีบทบาทและเป็นผู้ที่ร่วมต่อสู้โดยตลอด จนกระทั่งนำมาสู่การเปิดประตูเขื่อนราษีไศลในเดือนกรกฎาคม 2543 เพื่อศึกษาผลกระทบตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน หลังปฎิบัติการเข้ายึดสันเขื่อนกลางดึกวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 ซึ่งทำให้ไพจิตรถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว

ประชาไท-คดีเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ไพจิตร - ปี 2543 สมัชชาคนจนใช้การชุมนุมแบบดาวกระจายโดยมีกลุ่มเขื่อนเป็นพื้นที่หลัก อีสานล่างมีที่เขื่อนปากมูนเข้ายึดโรงไฟฟ้าในวันที่ 15 พฤษภาคม ตามมาด้วยเขื่อนราศีไศลในวันที่ 19 พฤษภาคม เรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อน ส่วนอีสานเหนือมีการชุมนุมเป็นช่วงๆ

เราชุมนุมอยู่เดือนกว่าๆ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าชาวบ้านเริ่มลงมือขุดเขื่อน จึงมีการเจรจาและกดดันจนสามารถเปิดประตูเขื่อนในเดือนกรกฎาคม 2543

ช่วงนั้นเริ่มมีข่าวจากฝ่ายรัฐว่าจะจับกุมในข้อหาไปบุกรุกสถานที่ราชการ แต่เราคิดว่ามีการเจรจากันแล้วเรื่องคดีคงไม่เกิดขึ้น และถ้ามีคดีตามกระบวนการปกติผู้ที่ถูกตั้งข้อหาต้องได้รับหมายเรียกจากศาลเชิญไปให้ปากคำแต่ไม่มีอะไรเลย

ประชาไท-แล้วรู้ตัวเมื่อไหร่
ไพจิตร - ปี2545 มหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลียเชิญไปแต่พาสปอร์ตหมดอายุต้องไปทำใหม่ ปรากฎว่ามีบัญชีรายชื่ออยู่ในคดีของปากมูนจึงทำพาสปอร์ตไม่ได้แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีคดีที่ราษีไศล จากนั้นกันยายน 2545ต้องเดินทางไปไต้หวันให้ชาวบ้านอีกคนไปแทนปรากฏว่ามีรายชื่อในบัญชีรายชื่อคดีราษีไศลจึงเดินทางไปไม่ได้แต่คนอื่นรวมทั้งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าติดคดีเหมือนกัน

จากนั้นได้มีหนังสือจากศุลกากรแจ้งมาที่สถานีตำรวจเรื่องการดำเนินคดี ทำให้ผู้กำกับ(ย้ายมาใหม่)รื้อคดีใหม่ และเมื่อรู้ว่าจะมาจับกุมชาวบ้านคนนั้น บ่ายวันที่เรารู้ชาวบ้านประมาณ 7-8 เดินทางไปที่สถานีตำรวจโดยต่อรองกันหนักมากเพราะเรารู้ว่าเขาไม่พร้อมที่จะถูกจับในเรื่องครอบครัว เมื่อรู้ว่าเป็นหนึ่งในคนที่ถูกแจ้งจับแต่ตำรวจต้องการจับกุมคนเดียวเพราะมีศุลกากรมาเกี่ยวข้อง จึงเสนอตัวให้จับกุมแทน เพราะเราเองก็เชื่อว่าเป็นคดีการเมือง

ต้องอยู่ในคุกประมาณ 3 วันเพราะวันที่ไปมอบตัวเป็นวันศุกร์ แล้วแม่นำที่นามาประกันตัวในวันอังคาร

ประชาไท-ไม่มีการต่อรองทางการเมือง
ไพจิตร - ไม่ได้ต่อรองมาก ตัดสินใจสู้คดี เพราะเราเชื่อว่าเป็นคดีการเมืองและสู้คดีเพราะต้องการสืบให้เห็นเจตนา สิ่งที่เราทำไม่ใช่ทำเพราะเราเป็นคนไม่ดีแต่เราต้องการบอกว่าเขื่อนมันล้มเหลว ซึ่งสิ่งที่เราบอกก็ได้รับการยอมรับเพราะมีการทำตามข้อเรียกร้องคือการเปิดประตูเขื่อน เราอยากให้ศาลและสังคมดูที่เจตนาไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์

ประชาไท-จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย
ไพจิตร - ใช่และตอนนี้กระบวนการพิจารณาของศาลเปลี่ยนจากเดิมที่นัดล่วงหน้าเป็นครั้งต่อครั้งมาเป็นนัดต่อเนื่องกำหนดจนสิ้นสุด ความยุ่งยากของคดีนี้คือเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ได้ถูกโยกย้ายไปตามจังหวัดต่างๆหลังปี 2543 จึงต้องโอนคดีไปสืบที่ต่างจังหวัด เราต้องวิ่งตามทั่วประเทศ

ประชาไท-ทำไมเราต้องไปฟังทุกครั้ง
ไพจิตร - ต้องไปฟังว่าเขาให้การว่ายังไง เราต้องไปโต้แย้ง เพราะทนายของเราเขารู้เรื่องข้อกฎหมายแต่เราเป็นคนที่รู้เหตุการณ์ทั้งหมดซึ่งรายละเอียดมีมากมายและซับซ้อน

ปัญหาคือที่สระบุรีมีเฉพาะทนายที่ไปโดยนายช่างให้ปากคำว่าเราเข้าไปยึดเขื่อนแล้วเผาสำนักงานและรถกระบะ 1 คัน ซึ่งเขาก็ไม่ได้เห็นตัวผม แต่ทนายไม่กล้าค้านเพราะไม่แน่ใจและผมไม่ได้ไปด้วยซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะถูกพูดถึง

เพราะกรณีนี้เกิดจริงแต่เกิดตั้งแต่ปี 2541 เป็นคนละเหตุการณ์กันกับคดีนี้และเป็นกลุ่มอื่นเพราะราษีไศลมีหลายกลุ่มมากไม่ใช่กลุ่มเรา

ส่วนที่สตูลผมและทนายไม่ได้ไปแต่เขาให้ปากคำขัดแย้งกันเอง โดยคนหนึ่งบอกว่าเห็นผมอยู่หน้าขบวนเป็นคนสั่งบุก อีกคนบอกว่าเห็นผมอยู่บนรถเครื่องเสียงซึ่งระยะจากหน้าขบวนห่างรถถึง 30 เมตรและเขาไม่มีรูปถ่าย แต่จริงๆผมมาหลังชาวบ้านยึดสันเขื่อนแล้วซึ่งมีประมาณ 800 คนและอยู่หลังขบวน

การสืบสวนทั้งหมดเริ่มปลายมีนาคมและแถลงปิดคดีวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ซึ่งศาลให้เหตุผลว่าพยานฝ่ายโจทก์มีมากกว่าและอยู่ต่างจังหวัดต้องใช้เวลามาก โดยให้เวลาฝ่ายเราในการให้ปากคำเพียง 2 วันครึ่ง

ประชาไท-หลังปิดคดีคิดว่าผลน่าจะเป็นอย่างไร
ไพจิตร - รู้ว่าโดนแน่เพราะหาหลักฐานไม่ทัน วันที่ 3 กรกฎาคมมีการเปิดประเด็นใหม่กล่าวหาว่าเราเผาทำลายทรัพย์สิน ซึ่งเราไม่ได้ไปและรู้ว่ามีประเด็นนี้ก่อนเราให้ปากคำ 2-3 วัน จึงยื่นขอเว้นช่วงให้ปากคำออกไปจากเดิมที่ต่อเนื่องกับฝ่ายโจทก์ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ศาลก็บอกว่าเรามีเวลาเตรียมตัวถึง 2 เดือนแล้ว เราจึงเตรียมหลักฐานไม่ทัน

ประชาไท-จำคุก 2 ปี คิดว่าโทษเป็นอย่างที่คิดไหม
ไพจิตร - ศาลนั่งบัลลังค์แล้วถามก่อนที่จะให้ปากคำว่าจะสารภาพไหมถ้าสารภาพจะสั่งสืบเสาะ และอัยการก็บอกว่ามีพยานแน่น เพราะการสืบเสาะอาจจะทำให้โทษลดหรือเพิ่ม ซึ่งเราประเมินว่าเราเสียเปรียบเพราะการสืบเสาะจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสืบพฤติกรรมว่าเราเป็นคนอย่างไรและส่วนมากจะไปสอบถามผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นฝ่ายขัดแย้งกับเราจึงไม่สารภาพ นอกจากนี้ศาลเองก็พูดว่าไม่ต้องเอาจริงเอาจังมากเพราะเป็นคดีการเมือง และที่ผมสังเกตเห็นคือมีคนแปลกหน้ามาฟังในช่วงการสืบพยานทุกครั้ง โดยในช่วงที่เขานั่งอยู่ด้วยอัยการจะถามจริงจังและเต็มที่ ทำให้เรารู้สึกว่ามีการมากำกับติดตามคดีนี้ แต่ยังคิดว่าน่าจะโดนแค่เสียค่าปรับ

ประชาไท-แล้วทำไมถึงได้รับโทษขนาดนี้
ไพจิตร - ราษีไศลต้องโดนจัดการเพราะเป็น 1 ใน 22 เขื่อนของโครงการโขงชีมูน การเปิดเขื่อนได้เป็นสัญลัษณ์ที่บ่งบอกว่าโครงการนี้ล้มเหลว และเป็นการจุดชนวนให้ชาวบ้านอีก 21 เขื่อนที่เหลือออกมาเคลื่อนไหว และตอนนี้เขาต้องการปิดเขื่อนเพื่อดำเนินโครงการ Water grid ซึ่งจะมีการทำระบบน้ำท่อ

จุดเด่นของราษีไศลคือเพราะเราเป็นแค่ชาวบ้าน การต่อสู้ของเราจนเปิดเขื่อนทำให้ชาวบ้านที่อื่นกล้าที่จะลุกมาสู้ มองเห็นพลัง การจัดการกับแกนนำก็มีผล ยิ่งคนที่ดูอยู่ห่างๆและไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ เกิดคำถามและยิ่งไม่เห็นด้วยแต่ชาวบ้านที่สู้ด้วยกันก็ยืนยันว่าจะร่วมกันเดินต่อ

ประชาไท-ตอนนี้รู้สึกยังไง ต้องทำยังไงต่อ
ไพจิตร - ห่วงอยู่ 2 อย่าง คือลูกอายุ 5 ขวบอีกคน 3 ขวบกำลังจะไปโรงเรียนไม่รู้ว่าจะถูกเพื่อนล้อยังไง อีกอย่างคือแม่อายุ 60 แล้วกลัวว่าจะคิดหนัก

แต่ก็ทำใจทุกคนเข้าใจเพราะคิดว่าเรายังโชคดีกว่าคนอื่น บางคนถูกอุ้มไม่มีแม้แต่ศพมาทำบุญ บางคนถูกยิงตาย แต่ผมยังมีโอกาสกลับมา

ต้องไปยื่นอุธรณ์ต่อภายใน 30 วันหลังศาลชั้นต้นตัดสิน แต่ก็ยากในการพลิกคดีช่องทางจากนี้มันแคบเข้าเรื่อยๆ อาจจะมีแต่เราไม่รู้ และความผิดอาญาโทษจำคุก 2 ปีไม่ถึง 5 ปีปิดช่องไม่ให้ยื่นในศาลฎีกาได้สิ้นสุดในศาลอุธรณ์เท่านั้น

ประชาไท-การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจากนี้จะมีการพูดคุยกันมากขึ้นหรือไม่ในเรื่องคดี
ไพจิตร - เราคุยกันอยู่แล้ว ในอดีตชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มีหลายคนถูกจับติดคุกนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เราคิดว่านี่ปี 2004 มันไม่น่าจะเกิด เรายังเชื่อในเจตนาบริสุทธิ์ แต่ต้องดูและประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก

อยากเสนอให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมในบ้านเรา ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาถ้าไม่ปรับควมยุติธรรมเกิดไม่ได้ แม้ว่าต้องแก้กฎหมายหลายฉบับก็ควรทำ

ต้องมีการทบทวนตั้งแต่กระบวนการซึ่งเปลี่ยนมาเป็นการนัดต่อเนื่องกัน เมื่อฝ่ายโจทก์เปิดประเด็นใหม่อีก แต่จำเลยเราไม่รู้ทำให้การจัดเตรียมหลักฐานไม่ทันเพราะต้องใช้เวลา นอกจากนี้การตัดสินในต่างประเทศ เช่น ที่อังกฤษ มีคณะลูกขุนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากด้านต่างๆมานั่งและช่วยในการตัดสินเพื่อให้มีมุมมองหลากหลาย แต่ประเทศไทยไม่มีซึ่งเป็นโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ควรปรับปรุงเช่นกัน เพราะคดีที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องพิจารณาบริบทอื่นๆ หากต้องการให้กฎหมายเป็นเครื่องมือและเงื่อนไขให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต้องมองรอบด้านในทุกมิติไม่ใช่ตีความข้อกฎหมายเท่านั้น

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net