แฉข้อปกปิดดอยหลวง ภาคีต้านขยายแนวร่วมทั่วประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรื่องเอาหรือไม่เอากระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ได้ขยายแง่มุมไปสู่การรับรู้ในระดับประเทศไปแล้ว 2 ปีนับจากเรื่องนี้ผุดขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า "ดำริ"ของนายกฯ นำไปสู่การเริ่มลงมือ .. มิใช่ศึกษาว่าจะพัฒนาดอยหลวงอย่างไร แต่ศึกษาเพื่อดูลู่ทางการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเป็นที่ตั้งอย่างเงียบๆ ….

สังคมไทยได้เกิดชุมชนหนึ่งขึ้นมาคือกลุ่มคนที่รักขุนเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศนี้ได้รวมตัวกันและขยายวงกว้างแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองขึ้นเรื่อยๆ อย่างเงียบๆ เช่นกัน….ผู้มีอำนาจขับเคลื่อนในแวงแคบๆ ไม่ถึง 30 คน
ได้เดินหน้าใช้เงินภาษี 5 ล้านบาทหว่านเพื่อทำการศึกษาโครงการนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อเม็ดเงินอีกนับพันล้านเพื่อการก่อสร้าง

ข้อกำหนดการศึกษาที่หยาบและปิดลับ… การเดินเรื่องที่ปฏิเสธคนในพื้นที่แม้กระทั่งหน่วยราชการหลักระดับจังหวัด ภาคีเพื่อดอยหลวงเคลื่อนตัวครั้งนี้เพื่อบอกว่า คุณค่าของดอยหลวงเชียงดาวมีมหาศาลแค่ไหน และ
การทำงานของผู้เกี่ยวข้องไม่ชอบธรรมมากเพียงไรจนกระทั่งพวกเขาทนไม่ไหวต้องออกมาต่อต้าน

ใครคือภาคีเพื่อดอยหลวง ?

วันที่ 13 กันยายน 2547 ที่ห้องประชุมธารแก้ว ถนนห้วยแก้ว ได้มีการเปิดตัว "ภาคีเพื่อดอยหลวง"แสดงจุดยืนเพื่อรณรงค์และทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของดอยหลวงเชียงดาวสู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น

หากเป็นในรูปองค์กร ขณะนี้ภาคีเพื่อดอยหลวงรวมตัวกันจาก 42 องค์กร ส่วนในนามบุคคลมีขึ้นหลักร้อยไปแล้ว (อ่านล้อมกรอบรายชื่อ) ไม่รวมชุมชนในอินเตอร์เน็ต ซึ่งล้วนแต่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ
นับจากข่าวจะมีโครงการสร้างกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวมาตั้งแต่มีนาคม 2546

กลุ่มคนดังกล่าวมีทั้งคนเชียงดาวและไม่ใช่ แต่มีแง่มุมต่อดอยหลวงกันไปคนละแบบ บ้างซาบซึ้งกับความหลากหลายทางชีวภาพของสังคมพืชกึ่งอัลไพล์อันเป็นหนึ่งเดียวของโลก บ้างเคารพยำเกรงต่อเจ้าหลวงคำแดงเก๊าแห่งผีล้านนาที่สถิตย์อยู่ที่นั่น และบ้างเห็นว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำกับดอยหลวงเชียงดาวเป็นการพัฒนาหยาบคาบและสวนทางกับความคิดของพวกเขา จึงนัดหมายติดตามสถานการณ์และประชุมร่วมกันทุกเดือนกระทั่งเปิดตัวในวันนี้

พัชรินทร์ สุกันศีล เป็นตัวแทนภาคีฯ อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีข้อเรียกร้องหลักต่อโครงการพัฒนาดอยหลวงเชียงดาวคือ

1.การดำเนินโครงการสำคัญใดๆ ในพื้นที่ควรอยู่ภายใต้กรอบแนวความคิดของการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาคมในจังหวัดรวมทั้งสาธารณชนทั่วไป ไม่ควรจำกัดอยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรหรือหน่วยงานเดียวเช่นที่ได้ทำมา

2. เสนอให้ระดับนโยบายพิจารณาเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างหรือดำเนินการพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว โดยขอให้ จ.เชียงใหม่และประชาคม จ.เชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการใดๆ แทนที่จะเป็นหน่วยงานจากส่วนกลาง

3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในนามของ จ.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินการโครงการนี้ทั้งหมดมาชี้แจงและเปิดเผยต่อสื่อมวลชนรวมถึงสาธารณชนทั่วไป เพื่อลดข้อปัญหาที่สับสนไม่โปร่งใส

4.ขอให้ จ.เชียงใหม่ตั้งคณะทำงานที่มาจากกลุ่มองค์กรประชาชนในพื้นที่ องค์กรวิชาการ และสังคมทุกภาคส่วนเพื่อร่วมเสนอความเห็นและแนวทางการพัฒนาดอยหลวงเชียงดาวที่หลากหลายบนแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนแทนที่จะมุ่งสร้างกระเช้าไฟฟ้า รวมทั้งขอให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเสนอให้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นมรดกโลก

ทำไมต้องเรียกร้อง ?

เพื่อที่จะได้คำตอบ จำเป็นต้อนย้อนไปถึงความเป็นมาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวพอสังเขป
23 มีนาคม 2546 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ เพื่อรับเสด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ดอยอ่างขาง

ระหว่างทางที่ผ่านดอยหลวงเชียงดาว ได้มีดำริจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งนายสุรพล เกียรติไชยากร
ส.ส.ไทยรักไทยเขต 7 เชียงใหม่ ในกลุ่มวังบัวบาน ให้ข่าวกับสื่อมวลชนในเวลาต่อมาว่าจะมีการทำกระเช้าไฟฟ้านำนักท่องเที่ยวขึ้นชมดอยหลวง

ซึ่งต่อมาสื่อมวลชนรายงานว่า มร. เคน แชปแมน ที่ปรึกษาโครงการ จากบริษัท Skyrail International Management ประเทศออสเตรเลีย นั่งเฮลิคอปเตอร์ ดูสถานที่พร้อมนายปลอดประสพ สุรัสวดี

พฤษภาคม 2546 คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จังหวัดเชียงใหม่ได้บรรจุเรื่อง โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าในวาระการประชุม ซึ่งนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการ
เพื่อศึกษาวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน จังหวัดเชียงใหม่ และกิจกรรมเกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (สสค.) เป็นผู้บรรยายสรุปต่อนาย ประมวล รุจนเสรี ประธานที่ประชุม

ขณะที่มีความขัดแย้งในเรื่องแนวคิดการพัฒนาหลายฝ่ายจากคนในพื้นที่ ต่อมานายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว มีการประชุมทั้งที่อำเภอเชียงดาวและที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 รวมทั้งสิ้น 5 ครั้งที่ประชุมเห็นว่า สมควรจะอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ หิมพานต์แห่งล้านนา และตั้งคณะทำงานย่อย 6 ชุด ที่ประชุมเสนอแนวคิดว่า ไม่สมควรจะทำกระเช้าไฟฟ้า
และสรุปผลว่าจะมีการจัดทำแผนพัฒนาดอยหลวงเชียงดาวกำหนดเป้าหมายแล้วเสร็จใน 3 ปี

มกราคม 2547 คณะทำงานของจังหวัดได้สรุปข้อเสนอส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติและสนับสนุนงบประมาณเพื่อทำการประชุมรวบรวมความเห็นของประชาชน ต่อมาได้มีการส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติฯ

ขณะที่คณะกรรมการสสค. ทำหนังสือรายงานความคืบหน้าและแนวทางดำเนินการสร้างกระเช้าไฟฟ้าต่อนายกรัฐมนตรี และทำเพิ่มเติมอีกฉบับเพื่อรายงานความคืบหน้าและเสนอขอทำการศึกษาความเป็นไปได้ Cable car ขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และได้รับหนังสือตอบรับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 ว่านายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ Cable car

มีนาคม 2547 คณะกรรมการ สสค. ได้ประชุมและผ่านความเห็นชอบร่างข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ Cable ณ ห้องประชุม 17 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ต่อจากนั้นได้นำร่างดังกล่าวเข้าสู่คณะทำงานของ สสค. ที่เชียงใหม่พิจารณาอีกรอบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เอกสารการประชุม TOR และเอกสารการพิจารณาของ สสค. ทุกชิ้น ไม่ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่เข้าสังเกตการณ์ จึงไม่มีข้อมูลว่า กรอบการศึกษาที่จะให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาดำเนินการนั้นครอบคลุมประเด็นใดบ้าง

ขณะที่นายปลอดประสพ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะใช้งบประมาณของกรมอุทยานฯ จำนวน 5 ล้านบาทในการแยกเป็นการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม 3 ล้านบาท และเป็นเบี้ยเลี้ยงของคณะทำงานอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการอีก 2 ล้านบาท แบ่งเป็น คณะทำงานศึกษาเรื่องพืช , ด้านสัตว์ ,เรื่องต้น, และเรื่องสังคม ทั้งหมดจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

โดยมีแนวโน้มจะคัดเลือกจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์ทำเคเบิ้ลโดยตรง เช่น จากประเทศออสเตรีย และ สวิสเซอร์แลนด์

นายปลอดประสพ ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการทำงานของคณะทำงานระดับจังหวัดที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ว่า "โครงการนี้อยู่ภายใต้การกำกับของ สสค. มาตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกับโครงการไนท์ซาฟารี ซึ่งหมายถึง
คณะกรรมการของจังหวัดไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการศึกษาความเป็นไปได้ที่กำลังดำเนินการอยู่"

และล่าสุด 28 สิงหาคมที่ผ่านมา นายปลอดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า รัฐมนตรีเพิ่งลงนามอนุมัติให้ว่าจ้างบริษัท สวิส แพลนนิ่ง มาศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมของโครงการกระเช้าไฟฟ้าดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งบริษัทนี้มีประสบการณ์ดำเนินการก่อสร้างกระเช้าฯที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียมาแล้ว โดยจะเริ่มงานในเดือนกันยายนนี้

เรื่องเป็นเช่นนี้ภาคีเพื่อดอยหลวงห่วงใยในกระบวนการดำเนินโครงการที่ไม่สอดคล้องกันของภาครัฐ ระหว่างคณะทำงานระดับจังหวัด และ คณะทำงานสสค. คณะกรรมการระดับจังหวัด โดยคำสั่งแต่งตั้งของนาย สุวัฒน์ ตันติพัฒน์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชื่อว่า คณะทำงานพัฒนาดอยหลวงเชียงดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ มีนาย ปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการประชุมกันในช่วงปี 2546 รวม 5 ครั้ง มีข้อสรุป ที่หลากหลายคือ

มีการรวบรวมข้อมูลด้านกายภาพเบื้องต้น ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพเบื้องต้น เรื่องสัตว์ป่า ข้อมูลความหลากหลายด้านจารีตวัฒนธรรมและประเพณีรวมถึงความเชื่อท้องถิ่น ข้อมูลความสำคัญของป่าต้นน้ำ และข้อเสนอเรื่องการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่เน้นความยั่งยืนและให้ความรู้มากขึ้นแตกต่างจากการท่องเที่ยวในยุคก่อนหน้านั้น

กรณีกระเช้าไฟฟ้า ที่ประชุมมีมติเด็ดขาดว่า จุดที่ไม่ควรให้สร้างเด็ดขาดคือ บริเวณหน้าถ้ำด้านตะวันออก เพราะเป็นพื้นที่ลาดชัน และคร่อมวัด และยังมีข้อสังเกตว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย และ ผลกระทบต่าง ๆ โดยละเอียดก่อนตัดสินใจ และยังเสนอให้มีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นของประชาชนทั่วไป

ปรากฏว่า ข้อเสนอทั้งหมดของคณะทำงานระดับจังหวัดซึ่งเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องในภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าร่วมถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เนื่องจาก คณะทำงานชุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้ดำเนินการในส่วนของ คณะกรรมการ สสค. ลำพัง

เท่ากับว่า กระบวนการดำเนินการโครงการกระเช้าไฟฟ้าในเวลานี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับและรับรู้ของผู้ว่าราชการจังหวัดระบบบูรณาการ และตัดขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมในจังหวัด

เพราะแม้กระทั่งการเริ่มเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เงื่อนไขการศึกษา และมีหน่วยงานใดทำงานด้านใดบ้างฯลฯ จนถึงต้นเดือนกันยายน 2547 ยังไม่ปรากฏว่ามีการแจ้ง หรือ ประสานงานใด ๆ
มาถึง จังหวัด และ ประชาชนชาวเชียงใหม่เจ้าของพื้นที่เลย

อะไรคือข้อปกปิด ?

นายอัคนี มูลเมฆ นักเขียนและศิลปิน ได้เปิดข้อปกปิดในเวที "เงื่อนงำกรณีสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว" ว่าคือ TOR หรือข้อกำหนดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ที่เป็นเอกสารปกปิดตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่
18 ก.พ. 2547 เป็นเอกสารปกปิดที่ประทับตรา "ลับมาก" ส่งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ใน TOR ระบุว่าจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมก่อสร้าง ควบคู่ไปกับการศึกษาส่วนอื่นเช่น พืช สัตว์ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยระบุว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการท่องเที่ยวให้พื้นที่ได้ เงื่อนเวลาที่กำหนดศึกษาคือ 150 วัน หรือ 5 เดือน แต่คำถามจากอัคนีคือ

"เวลาท่านี้ เพียงพอหรือที่จะศึกษา 60 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่อ่อนไหวอย่างดอยหลวงเชียงดาวได้ครบทุกด้าน"

ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงเมื่อสื่อมวลชนสอบถามความคืบหน้าว่าโครงการนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านทำการศึกษาด้านต่างๆ
แต่ไม่แถลงอย่างชัดเจนว่าขณะนี้ได้จ้างบริษัทสวิส แพลนนิ่ง ที่เคยสร้างกระเช้าไฟฟ้าที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซียให้มาศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมแล้ว

TOR กำหนดภารกิจของผู้ศึกษาเพียงว่า "สำรวจและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิด้านพฤกษศาสตร์และความหลากหลายของพืชและการอนุรักษ์พันธุ์พืช" ด้านสัตว์ก็ระบุไว้เหมือนกันคือใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ที่น่าเสียใจคือ TOR ไม่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศเทือกเขาหินปูนและพรรณพืชกึ่งอัลไพน์ซึ่งมีอยู่หนึ่งเดียวบนดอยหลวงเลย

"คำว่าข้อมูลทุติยภูมิหมายถึงข้อมูลที่เคยศึกษาหรือทำไว้แล้วมารวมอยู่ในที่เดียวกัน ไม่มีการระบุให้ลงพื้นที่
ถ้าจะเอากันแค่นี้ผมว่าข้อมูลที่เราทั้งหมดมีอยู่ก็มากพอที่ไม่ต้องมาศึกษาให้เสียงบประมาณหรอก"

อัคนีบอกว่า TOR ไม่ระบุให้ประเมินผลความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ บอกเพียงแต่ว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยว
แต่ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ว่าจะเกี่ยวข้องกับคนเชียงดาวว่าจะได้หรือเสียอย่างไร ไม่มีการให้ประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผลกระทบต่อความเชื่อคนท้องถิ่นที่มีต่อเจ้าหลวงคำแดงแม้แต่น้อย

"ผมของยกกรณีของประเทศเนปาล ที่รัฐบาลประกาศกฎห้ามเหยียบเขาลูกหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเขาเคารพต่อความเชื่อของคนท้องถิ่นที่นั่น"

เคลื่อนให้ข้อมูลต่อเนื่อง

ภาคีเพื่อดอยหลวงได้เปิดตัวขึ้น และยืนยันจะให้ข้อมูลกับสังคมให้รับรู้ถึงทั้งคุณค่าอันมหาศาลของดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ในทุกมิติ ขณะเดียวกันก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการอย่างเกาะติด และเดินหน้าในสิ่งที่เขาเรียกร้องนั่นคือจะขอแสดงจุดยืนตามที่แถลงให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

พวกเขาย้ำว่า มิได้ปฏิเสธการพัฒนาหรือการท่องเที่ยว แต่อยากถามไปยังคณะทำงานว่า ที่ทำมาทั้งหมดคุณรู้ได้อย่างไรว่า กระเช้า…เหมาะสมแล้วกับดอยหลวงเชียงดาว ?

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท