Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนเชียงใหม่เคยมีบทเรียนในกรณีขยะล้นเมืองเป็นที่อับอายต่อคนทั่วประเทศมาแล้ว และอาจจะได้เห็นภาพนั้นกันอีกครั้งหากไม่มีการเตรียมรับมือให้ดี เพราะสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก็จะเป็นวันที่หมดสัญญาการว่าจ้างการจัดเก็บขยะโดยเอกชนคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ธเนศร์ ก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่ทิ้งขยะที่ฮอดและดอยเต่าก็มีการระบุว่าชาวบ้านที่นั่นจะไม่ยอมเสียสละเป็นพื้นที่ทิ้งขยะอีกแล้วเด็ดขาด

ผู้บริหารเทศบาลฯ จะมีทางออกอย่างไร ?

บรรยากาศในที่ประชุมเล็กๆ ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา มีความน่าสนใจต่อทิศทางอนาคตเรื่องนี้ เมื่อ ดร.อำนวย ยศสุข ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือหมวกอีกใบที่เขาสวมคือที่ปรึกษาพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ขอให้จังหวัด ซึ่งวันนั้น นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย โดยมีตัวแทนจากเทศบาลฯ ซึ่งมิใช่ฝ่ายผู้บริหารแต่เป็นฝ่ายข้าราชการประจำนำโดย ดร.เคน สันติธรรม
ปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่

ท่าทีอันขึงขังและคำตำหนิการทำงานในเรื่องนี้ของดร.อำนวย หรือ "หนุ่มดอยเต่า" ทำเอาบรรยากาศเคร่งเครียดพอควร เขาระบุว่า เดิมเทศบาลฯ ได้ให้เอกชนนำขยะกว่า 300 ตันที่จัดเก็บไปทิ้งที่อำเภอฮอดและดอยเต่าในระยะ 5
ปีต่อเนื่องมาและหมดสัญญาไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้ง และการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค เกรงขยะจะเต็มเมืองจึงมีการร้องขอผ่านทางพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเพื่อให้ตนไปเจรจาขอต่ออายุพื้นที่ทิ้งขยะกับชาวฮอดและดอยเต่าไปอีก 1 ปี ระหว่างนี้สัญญาว่าจะประสานงานทุก 3 เดือน แต่เวลาผ่านไป 1 ปี
ไม่มีอะไรเปิดขึ้นและกำลังจะหมดสัญญาลง ราษฎรจึงวิตกว่าจะมีการดำเนินงานอย่างไร

"ชาวบ้านไม่อยากให้ไปทิ้งอีก ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ว่าจะไม่ยอมให้มาทิ้งขยะในพื้นที่ตามที่ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่จะขอต่อสัญญาอีกต่อไปโดยเด็ดขาด เพราะได้เคยยอมต่ออายุมาแล้ว 1 ครั้ง"

ก่อนหน้าที่เทศบาลฯ ดูเหมือนจะมั่นใจว่าจะสามารถทิ้งในพื้นที่เดิมได้อยู่ โดยก่อนหน้ามีการอนุมัติงบเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเติม ขณะที่ดร.อำนวยระบุถึงขึ้นที่ว่า การไปซื้อที่ดินคือการไปโดนหลอก และให้เทศบาลฯ บอกออกมาให้ชัดว่าเตรียมการกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร โดยบอกอีกว่าก่อนหน้านี้เทศบาลฯได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งแม่โจ้ได้มีพื้นที่ที่ตำบลแม่นาป๊าก อ.แม่แตง ซึ่งสามารถจะทำการศึกษาการจัดการขยะอย่างครบวงจรได้ และหลากหลายวิธี เช่นการฝังกลบ หรือใช้วิธีธรรมชาติให้ไส้เดือนมากินขยะ

เพราะแม่โจ้มีประสบการจัดการขยะกับโครงการหลวง และที่จังหวัดพะเยามาแล้ว

ตัวแทนเทศบาลนครเชียงใหม่ยืนยันต่อที่ประชุมว่า หลังจากหมดสัญญาในเดือนกันยายนนี้ ได้ติดต่อพื้นที่ทิ้งขยะใหม่ซึ่งเป็นของเอกชนไว้บริเวณตำบลเหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูนไว้แล้ว ซึ่งสามารถรองรับการทิ้งขยะได้ในระยะเวลา 6 เดือน และในระยะยาวก็จะมีการตั้งศูนย์เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานที่ได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศอังกฤษไว้แล้วเป็นการอบขยะด้วยไอน้ำ โดยอาจใช้พื้นที่ที่ตำบลปงตัน อ.ฮอดซึ่งได้ซื้อพื้นที่ไว้และจะต้องเจรจาทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ต่อไป

การประชุมวันนั้นสรุปได้ว่าตัวแทนเทศบาลฯ บอกว่ามีที่ดินที่ทิ้งขยะไม่ปล่อยให้ขยะได้ออกมาเพ่นพ่านในเมืองได้
ส่วนจะร่วมมือกับแม่โจ้หรือไม่ และเป็นไปในทิศทางใด ต้องใช้งบประมาณเท่าใด เป็นเรื่องที่ผู้บริหารจะตัดสินใจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังไม่จบ

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"ต่อเรื่องนี้ว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อสัญญากับเอกชนรายเดิมไปอีกสักระยะ แต่เป็นระยะสั้นเพียงแค่ 3 - 6 เดือนเท่านั้น เพราะการจัดระบบกำจัดขยะได้เริ่มลงนามไว้กับบริษัทเซ็ปโก จากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะทำเป็นศูนย์อบขยะที่จะทำให้ขยะ 300 ตันเหลือเพียง 30 ตันซึ่งง่ายต่อการจัดการและสามารถแก้ปัญหาได้เป็นรูปธรรม ส่วนการที่ระบุว่าชาวบ้านที่ฮอดและดอยเต่าไม่ยินยอมให้ไปทิ้งขยะน่าจะมีมือที่ 3 ที่ไปให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง

เชียงใหม่ได้รับข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกในการจัดการขยะหลากหลายวิธี ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2546 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มาเปิดตัวโครงการจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจรในท้องถิ่นนำร่องจังหวัดเชียงใหม่อย่างใหญ่โต

ครั้งนั้นได้ประกาศให้พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แขวงเม็งราย และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่จะได้เข้าไปสร้างจิตสำนึกของประชาชนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของขยะ ให้มีความตระหนักในการทิ้งขยะและมีการแยกขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งบางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนที่เหลือนำไปฝังกลบ ซึ่งวิธีนี้สามารถลดปริมาณขยะเข้าสู่ขั้นตอนการฝังกลบได้กว่าครึ่ง ทำให้ลดเนื้อที่ในการฝังกลบขยะลงและที่ฝังกลบขยะมีอายุการใช้งานได้นานขึ้นด้วย รวมทั้งการนำขยะไปแปรรูปไปทำเป็นปุ๋ยหมักก็จะลดปริมาณขยะลงได้มากกว่าครึ่งในแต่ละวัน

เป้าหมายในวันนั้นคือลดปริมาณขยะจากวันละ 380 ตัน ให้เหลือวันละ 200 ตัน เพื่อลดค่ากำจัดขยะลง 50% และตั้งเป้าลดปริมาณขยะมูลฝอยให้ได้ร้อยละ 20 ภายใน 1 ปี แต่ขณะนี้ปริมาณขยะในตัวเมืองเชียงใหม่ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลงตามเป้าหมายของโครงการนี้ได้

จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้อะไรจะเกิดขึ้นกับขยะของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหวังว่าจะไม่เป็นเหมือนดั่งที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พูดต่อที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่ห้องประชุมโรงแรมดิเอ็มเพรสในวันเดียวกันกับที่ดร.อำนวย ประชุมเรื่องขยะกับตัวแทนเทศบาลฯ ว่า "หากต้องการดูการบริหารจัดการขยะที่ล้มเหลว ให้มาดูได้ที่เชียงใหม่"

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net