Skip to main content
sharethis

โดย ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก*

1. ให้มีการนิยามศัพท์ต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคำว่าสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ จุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ การปลดปล่อยโดยจงใจ อาหารที่เป็นหรือมีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม การวางตลาด ฉลาก การประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม

2. ให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาต หรือการขอความรับรองในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง (Product thereof) โดยให้ตัวกฎหมายซึ่งจะเป็นในระดับพระราชบัญญัติเป็นกรอบในการกำหนดสภาพบังคับต่างๆ และให้มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดการควบคุมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาโดยใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือเป็นผลิตผลจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งนี้สภาพบังคับของกฎหมายต้องครอบคลุมถึงการนำเข้า การปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยเจตนา การนำออกสู่ตลาด การใช้จำกัด มาตรการในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ให้มีการยื่นขออนุญาตและให้มีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ให้การอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาแล้ว ถ้ามีการดำเนินกิจกรรมใดโดยไม่ได้ขออนุญาต ให้ถือว่ากิจกรรมดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและผู้กระทำต้องถูกลงโทษ

3. ให้พ.ร.บ.ที่จะร่างขึ้นมานั้นครอบคลุมสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด ทั้งจุลินทรีย์ พืชและสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์สืบเนื่องด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้โดยตรงเป็นอาหารมนุษย์ สัตว์ หรือนำมาสู่กระบวนการผลิต และหากเป็นไปได้ให้ครอบคลุมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยา วัคซีน และให้ควบคุมได้ทั้งกิจการทางด้านการเกษตร การผลิตยา อาหาร และอื่นๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ประโยชน์

4. ให้กฎหมายมีมาตรการในการหารือกับประชาชน และการมีส่วนร่วมของสาธารณชน เช่น การให้ข้อมูลว่าจะมีการอนุญาตให้ปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมตัวใดออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการประกาศให้ทราบถึงการอนุญาตวางสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็น หรือมีส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อให้บุคคลทั่วไป สามารถให้คำแนะนำ การคัดค้านหรือแสดงความเห็นชอบ ซึ่งการให้ข้อมูลนี้อาจรวมถึงเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง มาตรการที่ใช้ในการดำเนินการด้านต่างๆ ฯลฯ ที่จะทำให้ประชาชนทราบถึงความเป็นไปเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้จีเอ็มโอ

5. ให้มีการกำหนดข้อบังคับในการประเมินความเสี่ยงไว้ในกฎหมาย โดยมีหน่วยงานผู้มีอำนาจเป็นผู้พิจารณาหรือมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาในแต่ละเรื่องไป ทั้งนี้เนื้อหาในส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือรายละเอียดอื่นใด ในการประเมินความเสี่ยงให้นำไปกำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยแยกแยะรายละเอียดไว้ทั้งการใช้จำกัด การทดลองในสิ่งแวดล้อมโดยมีเครื่องกั้น หรือในสภาพปิด การทดลองในสภาวะทั่วไปการใช้ทั่วไป ฯลฯ อีกทั้งให้มีการแยกแยะระหว่างการประเมินในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และอาจจะต้องมีการแยกประเภทพืช ประเภทสัตว์ ประเภทจุลินทรีย์ เนื่องจากมีวิธีการในการประเมินที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ รายละเอียดปลีกย่อยมากๆ อาจต้องกำหนดให้ออกเป็นประกาศกระทรวงหรือประกาศกรมที่เกี่ยข้อง โดยคำนึงถึงความเหมาะสม สภาพบังคับ และกรอบของกฎหมายทีเป็นแม่บทประกอบด้วย

6. ให้มีการวางกรอบของกฎหมายอยู่บนหลักการระมัดระวัง (Precautionary Principle) โดยคำนึงถึงการประเมินต้นุทนและประสิทธิภาพ (Cost-Effective) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงสุขอนามัยของพืช สัตว์ และมนุษย์ ซึ่งต้องแยกประเมินเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยยาวด้วย

7. ให้มีการกำหนดกรอบในการอนุญาตไว้ในกฎหมาย โดยต้องมีหลักฐานถึงการไม่มีความเสี่ยงหรือมาตรฐานของความปลอดภัย ที่ยอมรับได้หรือเป็นที่รับรอง โดยหน่วยงานที่เป็นที่น่าเชื่อถือในกรณีที่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือได้รับการตรวจสอบ โดยหน่วยงานผู้มีอำนาจหรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับของประเทศไทย ทั้งนี้ การอนุญาตต้องกำหนดไว้ทั้งโดยมีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข การอนุญาตต้องทำเป็นกรณีๆ ไป (Case by case) และการอนุญาตจะต้องยกเลิกได้ โดยเฉพาะเมื่อพบหลักฐานใหม่ หรือมีการทบทวนข้อมูลที่มีอยู่เดิม แล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้น นอกจากนี้ต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวัง (Monitoring) ภายหลังจากที่ได้มีการอนุญาตแล้ว

8. ให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบ่งระบุและการติดฉลากทั้งสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง โดยมีการกำหนดให้ระบุรายละเอียด ข้อบ่งใช้ ข้อเท็จจริง คำเตือน และข้อมูลอื่นใด ที่จะทำให้ผู้บริโภคทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอย่างเพียงพอในอันที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สินค้าชนิดใดหรือไม่ เพราะเหตุใด ทั้งนี้ ต้องให้ผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่าย นำเข้า หรือขายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็น หรือมีส่วนประกอบ ของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเปิดเผยข้อมูลที่ตนมีอยู่ เกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นให้มากที่สุด เว้นแต่ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้า ให้ยื่นคำขอในอันที่จะปกปิดไว้ได้ โดยหน่วยงานผู้มีอำนาจจะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมในกาเก็บรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางประเภทต้องมีข้อกำหนดต้องห้ามสงวนไว้เป็นความลับ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับจีเอ็มโอ หรือผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ยื่นคำขอ จุดประสงค์และสถานที่นำเข้า การปลดปล่อยโดยเจตนา และการนำออกวางตลาด วิธีการในการควบคุมการใช้ ผลกระทบ หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้

9. ให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดและการเยียวยา โดยความรับผิดนั้นจะต้องเป็นความรับผิดเด็ดขาด (Strict liability) สำหรับความเสียหายใดๅ ที่เกิดขึ้นจากการนำจีเอ็มโอหรือผลิตภัณฑ์สืบเนื่องใดๆ เข้าสู่สิ่งแวดล้อม ความรับผิดนั้นจะเป็นภาระของผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เช่นเดียวกับหลักความรับผิดโดยผู้ก่อให้เกิดมลภาวะ (Polluter-Pay-Principle-PPP) ในกฎหมายสิ่งแวดล้อม กรอบของความรับผิดต้องไม่จำกัดอยู่เพียงความเสียหายต่อบุคคล ทรัพย์ หรือการสูญเสียเกี่ยวกับการเงิน แต่ต้องรวมไปถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขอนามัยพืช สัตว์ มนุษย์ ฯลฯ ทั้งนี้ การฟ้องร้องดำเนินคดีต้องไม่จำกัดอยู่เพียงการที่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ดำเนินการเอง หากแต่ต้องรวมถึงการที่องค์กรหรือกลุ่มใดๆ ดำเนินการแทนผู้ที่ไดัรับผลกระทบที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ นอกจากนี้ต้องมีข้อกำหนดให้บุคคลทั่วไปสามารถที่จะดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย รวมไปถึงการมีมาตรการในการดำเนินคดีทางอาญาเพื่อเป็นการลงโทษผู้ที่กระทำผิด ผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือผู้ที่ละเว้นการปฎิบัติหน้าทื่

10. ให้มีบทญัติกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎหรือระเบียบตามกฎหมาย เพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพ เช่น ให้มีกฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบกระทรวง ฯลฯ เพื่อการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังอาจมีกฎหรือระเบียบในระดับอื่นๆ ที่ออกโดยปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรม เพื่อการดำเนินการที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยก็ได้ ทั้งนี ต้องให้มีบทเฉพาะกาลเพื่อดำเนินการกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือผลิตภัณฑ์สืบเนื่องที่ได้มีการนำเข้าสู่ประเทศ การผลิต ใช้ หรือกระทำการใด ๆ ก่อนที่จะมีประกาศใช้กฎหมาย เพื่อให้มีการปฎิบัติต่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเช่นเดียวกับที่ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมาย โดยมีข้อกำหนดด้านระยะเวลาดำเนินการ และการขออนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ ให้เชื่อมโยงกับหลักปฏิบัติสำหรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือผลิตภัณฑ์สืบเนื่อง ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

*จากงานวิจัยเรื่อง กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Law) นำเสนอ โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน 2547 **** กรุณาอย่าใช้อ้างอิง******

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net