Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-24 ก.ย.47 รัฐอนุมัติงบฯ กว่า 200 ล้านบาท เร่งให้ทำลายข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม พร้อมกับไถกลบนาข้าวที่ปลูกใหม่ ก่อนจ่ายค่าชดเชย

นายโกวิท เครือวงษ์ ปลัดอำเภอแม่สอด จ.ตาก เปิดเผยกับ"ประชาไท" ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับจังหวัดตาก แต่งตั้งคณะทำงานจัดการข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม บริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งได้จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลกระทบในระดับจังหวัด ซึ่งได้แยกเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2547-2549 โดยได้เสนอขออนุมัติจากส่วนกลางในวงเงินทั้งสิ้น 206,665, 232 บาท ซึ่งกำลังดำเนินการในแผนระยะแรก

"ขณะนี้ เราได้ทำลายเผาข้าวที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนไปแล้วกว่า 90 ตัน แต่ยังคงค้างอยู่ในยุ้งฉางอีกประมาณ 7,000 ตัน ซึ่งทางอำเภอเป็นฝ่ายกำจัดทำลาย หลังจากนั้น จะมีการไถกลบต้นข้าวที่ปลูกใหม่เพื่อทำลายไม่ให้สารปนเปื้อนเล็ดลอดกระจายออกไปสู่ภายนอก พร้อมกับการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกร" นายโกวิทย์ กล่าว

นายสมพงษ์ สาธุสถิต ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพะเด๊ะ ม.4 ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า หลังจากที่องค์กรเอกชนต่างชาติ บริษัท Internationnal Water Management Institute (IWMI) ได้ทำการสำรวจปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียมในข้าวและพืชผลการเกษตรของชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก และพบว่า มีสารปนเปื้อนในเมล็ดข้าว รวมทั้งยังตรวจพบว่ามีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนในลำห้วยแม่ตาว และในพื้นที่ปลูกข้าวลุ่มน้ำแม่ตาวจริง

"รัฐแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยยอมรับว่ามีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนในเมล็ดข้าวจริง แล้วจ้างให้โรงสีข้าวศิลป์รุ่งเรืองมารับซื้อข้าวที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนไปเผาทิ้ง ซึ่งได้จ่ายค่าชดเชยให้เกวียนละ 3,300 บาท"

"…ทำไมไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุ โดยให้มีการตรวจสอบว่า สาเหตุที่มีสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนในนาข้าว ลำห้วย และในร่างกายของชาวบ้านนั้น มาจากการที่เหมืองแร่ปล่อยน้ำเสียทิ้งกากแร่ที่มีสารแคดเมียมลงไปในแหล่งน้ำ ไร่นาหรือไม่" นายสมพงษ์ กล่าว

นายวิชิต กิจวิโรจน์กุล สมาชิก อบต.พระธาตุผาแดง เปิดเผยว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ ชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคพิษแคดเมียม ซึ่งอยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงหลังจากมีการตรวจพบว่า มีผู้ที่ได้รับสารแคดเมี่ยมในร่างกายสูงถึง จำนวน 795 ราย ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่กุ และต.แม่ตาว โดยเฉพาะที่บ้านพะเด๊ะ มีผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 78 ราย ซึ่งทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กันอย่างหวาดวิตก"

"ทำไมรัฐไม่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด โดยไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่า ต้นเหตุที่เกิดปัญหานี้มาจากส่วนไหน อยากให้ความเป็นธรรมและรับผิดชอบในที่สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้บริษัทเหมืองแร่ผาแดง มารับผิดชอบเพียงเอารถมาขนข้าวเปลือกไปทำลาย กับมารับ-ส่งชาวบ้านที่ป่วยด้วยสารแคดเมี่ยมไปโรงพยาบาลเท่านั้น" นายวิชิต กล่าว

นายโกวิท เครือวงษ์ ปลัดอาวุโส อ.แม่สอด ยังกล่าวกับผู้สื่อข่าวอีกว่า ในกรณีนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงมาทำการตรวจสอบในพื้นที่กันเอง โดยไม่มีการประสานงานกับทางอำเภอและจังหวัดแต่อย่างใด พอเป็นข่าวขึ้นมา จึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในอำเภอแม่สอด รวมทั้งการซื้อขายและการบริโภคข้าวในจังหวัดทันที โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่บ้านพะเด๊ะ ถือว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ขึ้นชื่อ เคยชนะเลิศการประกวดข้าวในระดับประเทศมาแล้ว

ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net