Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความชื่นชมงานโรดโชว์ประเทศไทย (ไทยแลนด์ โฟกัส 2004) ซึ่งจัดให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะว่า สามารถสร้างความเข้าใจในภาพรวมความน่าลงทุนของประเทศทั้งภาครัฐและธุรกิจเอกชนได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจจากไทยรักไทยแต่ละท่านแจกแจง ได้เชื่อมต่อภาพร่าง "ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลไทยรักไทย" ปัจจุบันและต่อไปอย่างน้อย 10 ปี (2548-2557) ผ่านแผนการลงทุนในเมกกะโปรเจค อาทิ โครงการสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ส่วนต่อขยาย ระยะทาง 291 กิโลเมตร โดยรวมต้องใช้เงินลงทุนถึง 1.226 ล้านล้านบาท

ที่สำคัญ แนวนโยบายส่วนใหญ่อยู่บนฐานความคิดที่จะแปรรูปองค์กรและการบริหารจัดการให้เป็นเอกชน(Privatization) โดยตั้งเป็นบริษัทเข้าบริหารโครงการ และนำเข้าระดมทุนจากนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

อันที่จริงแนวคิดเรื่องการทำกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในงานเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศเดินหน้าแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน รวมทั้งขยายการลงทุนออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งใกล้และไกล "เพราะรัฐต้องใช้เงิน 6 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าใน 10 ปีข้างหน้า " (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 23 ก.ย. 2547 หน้า16)

ตรรกะของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอยู่บ่อยๆ คือ การสร้างองค์กรธรรมภิบาลที่ทรงประสิทธิภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ภายใต้กลไกตลาด(หลักทรัพย์) ซึ่งเชื่อกันว่า สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้

แต่สิ่งที่รัฐบาลไม่ได้พูดให้ชัดในเบื้องต้น แต่แสดงออกในงานโรดโชว์ประเทศไทยที่ผ่านมา ก็คือ ต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้ทรัพย์สิน การลงทุนของภาครัฐเป็นตัวดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ

จริงอยู่ว่า เจตจำนงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งนายกรัฐมนตรียังเคยชี้แจงผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งว่า เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะช่วยพัฒนาให้ภาคการผลิตของไทยเข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นการดีเสียอีกที่ต่างชาติเห็นว่า ไทยมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองหากผู้บริหารประเทศมีความต่อเนื่อง

แต่เม็ดเงินลงทุนที่สูงมาก(1.2 ล้านล้านบาท) ทำให้สภาพัฒน์ฯ แสดงความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจประเทศจะประสบกับปัญหาตามมา เพราะสภาพขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าทุน 5 ปีติดต่อกัน

ที่สำคัญเป็นการซ้ำเติมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบนำมาผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่

ทั้งไม่ต้องคิดเทียบกับเม็ดเงินงบพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น งบประมาณด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของรัฐบาล ซึ่งนับวันเม็ดเงินจะลดน้อยลงเรื่อยๆ กล่าวคือ ร้อยละ 44 ในปีงบประมาณ 2545 ร้อยละ 17.7 ในปีงบประมาณ 2546 ร้อยละ 15.5 ในปี 2547 และ ร้อยละ 15 ในปี 2548 หรือเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อคน ( ข้อมูลจากพรรคประชาธิปัตย์ , วันที่ 6 มิ.ย. 2547)

ในทางกลับกันรัฐกลับใช้ช่องว่างโอกาสทางการศึกษาของประชาชน คิดโครงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผู้นำรัฐบาลว่า ให้ความสนใจกับการศึกษาของเยาวชนของประเทศ คือ กรณีโครงการ 1อำเภอ 1ทุน ซึ่งมีช่องโหว่ในการเตรียมการมากมาย ทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือยกระดับการศึกษาโดยรวมของคนทั้งประเทศแม้แต่น้อย

สุดท้ายก็ต้องกลับมาตั้งคำถามซ้ำซากกับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า หากไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ใครกันแน่ที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศที่รัฐบาลดึงมาสนับสนุนอยู่ทุกวันนี้

บรรณาธิการบันทึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net