Skip to main content
sharethis

"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"

ตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะจัดให้มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาคมต่อ "ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์" ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว กลุ่มช่อศรีตรัง ซึ่งเป็นบุคคลชาวมอ.วิทยาเขตหาดใหญ่ที่มีรายนามแนบท้ายนี้ได้ร่วมกันปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าวและสรุปมีความเห็นว่า

กลุ่มฯไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนไปตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ

และเพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ภายหลัง(ซึ่งอาจดำเนินการได้ในขั้นตอนของมหาวิทยาลัย-กฤษฎีกา-ครม.-สภาผู้แทน-รัฐสภา) กลุ่มฯจึงมีความเห็นร่วมกันว่าต้องไม่รับร่าง พ.ร.บ. นี้ทั้งฉบับ

โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
1.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสในกรณีเดียวกันนี้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(เมษายน 2543) ว่า "ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติฯลฯ ควรมีการหาปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน(คณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหาร ฯลฯ) และ ร่างกฎหมายประกอบทั้งหมดให้ครบก่อน การปรึกษาเป็นในทำนองประชาพิจารณ์ เป็นการปรึกษาที่กว้างขวาง รวมทั้งประชาชนทั่วไปด้วย" ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540

แม้เวลาได้ผ่านเลยไปกว่า 2 ปีนับจากที่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ให้กับกฤษฎีกาแล้ว กลุ่มฯก็ยังไม่เห็นความกระตือรือร้นของมหาวิทยาลัยที่จะร่างข้อบังคับประกอบร่าง พ.ร.บ. แต่อย่างใด

2. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้บรรจุคำว่า "…ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย" " ไว้ในหลายมาตรา รวมทั้งมาตราที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล(มาตรา13)ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เป็นเส้นแบ่งระหว่าง "ความเป็นเจ้าของ" กับ "ความเป็นลูกจ้าง" มหาวิทยาลัยหรือ "ความเป็นลูกศิษย์" กับ "ความเป็นลูกค้า"

ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยต้องการความเป็นอิสระจากส่วนราชการ แต่ในตัวมหาวิทยาลัยกลับให้อธิการบดีเป็นประธานสภาวิชาการ(มาตรา24) ในขณะที่ร่างของมหาวิทยาลัยมหิดลให้มาจากการเลือกตั้ง

ในบทเฉพาะกาล(มาตรา73) ได้กำหนดให้ข้าราชการในปัจจุบันต้องตัดสินใจว่าจะออกจากราชการหรือไม่ภายใน 90 วัน แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับกำหนดไว้ว่าต้องร่างระเบียบข้อบังคับการบริหารงานบุคคลให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี(มาตรา79) เมื่อข้าราชการยังไม่ทราบระเบียบการบริหารแต่ต้องตัดสินใจไปก่อน ก็ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเช็คว่างให้ผู้อื่นถือ

3. เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 27 มกราคม 2541 กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" ภายในปี 2545

แต่ต่อมาได้มี "พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542" ได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาสามารถเลือกปฏิบัติได้ 2 แนวทางคือ (ก) เป็นหน่วยราชการเช่นเดิม (ข) เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ตามมาตรา 36 ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้สามารถ สามารถ "ดำเนินการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นๆ"

ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาใดต้องการจะบรรลุวัตถุประสงค์ ก็สามารถที่จะเลือกแนวทาง (ก) คือเป็นหน่วยราชการเช่นเดิมได้ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งนอกจากจะสามารถเป็นอิสระและคล่องตัวแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ "มีเสรีภาพทางวิชาการ"

ทั้งๆที่การมี "มีเสรีภาพทางวิชาการ" นั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่เป็นสมองของประเทศ แต่ข้อความดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ของ มอ.ฉบับนี้เลย

ที่ผ่านมาทบวงมหาวิทยาลัย(ซึ่งปัจจุบันได้ถูกยุบรวมกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว)และมหาวิทยาลัย มิได้ แจ้งให้ข้าราชการทราบถึงแนวทางทั้งสองแต่อย่างใด แต่กลับผลักดันให้เป็นไปในแนวทางที่ต้องออกนอกระบบเท่านั้น โดยมิได้ให้ประชาคมมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางถึงข้อดีข้อเสียของทั้งสองแนวทางที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติเป็นสำคัญ

4. กลุ่มฯ เข้าใจถึงวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่เป็นเหตุผลให้รัฐบาลต้องตัดลดงบประมาณแผ่นดินในทุกๆด้านรวมทั้งด้านการศึกษาด้วย ประกอบกับคนไทยได้รับทราบถึงกระบวนการ "ปฏิรูปการศึกษา" (2542) "ปฏิรูประบบราชการ" (2545) รวมทั้ง "การทำสงครามกับคอร์รัปชัน" (2544)ซึ่งในขณะนั้นวาทะกรรมเหล่านี้ได้มีส่วนทำให้สังคมไทยต่างรู้สึกเคลิ้มไปชั่วขณะเพราะมีความรู้สึกว่าต้องช่วยชาติและมีความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างเป็นระบบ

แต่บัดนี้สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นเรื่อยๆว่าวาทะเหล่านี้จะสามารถจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันของประเทศไทยกลับเพิ่มอันดับสูงขึ้น และหากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในอนาคตที่ ด้านหนึ่ง เน้นที่ความคล่องตัวในการใช้จ่ายงบประมาณและอีก ด้านหนึ่ง ไม่มีคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ แล้วสังคมไทยยิ่งจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น ซึ่งกลุ่มฯจะขอขยายความในหัวข้อที่ 5

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เริ่มร่างในปี 2540 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ซึ่งกลุ่มเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล(จะกล่าวถึงในข้อ 6)

5. กลุ่มฯ เชื่อตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายว่า มหาวิทยาลัยต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยต้อง "แสวงหาความจริง" และ กล้า ที่จะเผยแพร่ความจริงที่ตนค้นพบได้อย่างอิสระ แม้ความจริงนั้นจะไม่เป็นที่พอใจของหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีหรืออธิการบดีก็ตาม เพราะการพัฒนาประเทศจะต้องตั้งอยู่บนฐาน ของความจริง หาใช่ความถูกใจของใครบางคนไม่

การให้สถานภาพของอาจารย์กลายเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างในร่าง พ.ร.บ.ฉบับออกนอกระบบแล้วใครจะกล้าออกมาชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยก็จะตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัว แม้ในสภาพที่ยังอยู่ในระบบราชการเช่นปัจจุบันนี้ นักวิชาการจำนวนมากก็ยังถูกค่อนแคะว่า "เป็นขาประจำ" หรือ "พวกไม่รู้จริง" อยู่เสมอๆ

ดร. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เคยบรรยายในที่ประชุมสภาอาจารย์(18 พฤศจิกายน 2543) ว่า "อาจารย์ ไม่ใช่ลูกจ้างมหาวิทยาลัย ทุกคนมีส่วนเข้ามาสร้างมหาวิทยาลัยร่วมกัน ต้องปลูกฝังคำว่า ความเป็นเจ้าของ ต่างกับว่าเป็นลูกจ้างโดยสิ้นเชิง ลูกจ้างมีหน้าที่ทำอะไรตามคำสั่ง ในมหาวิทยาลัยของเราไม่มี Boss อธิการบดี คณบดี ไม่ใช่ Boss ของเรา ท่านเป็นเพียงผู้ประสานงาน เป็นผู้กำกับ เป็นผู้ดูแล เป็น Facilitator "

กลุ่มฯ เห็นว่าเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเป็นหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัย แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำความเข้าใจกับสังคมในเนื้อที่อันจำกัดนี้

6. แม้ทางกลุ่มฯจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ค่าธรรมเนียมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด แต่จากการศึกษาระเบียบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ พบว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งคิดเป็นประมาณ 4.6 เท่าของนักศึกษามอ.ในปัจจุบัน(ในคณะวิชาประเภทเดียวกัน)

การขึ้นค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐให้สูงจนใกล้เคียงกับของมหาวิทยาลัยเอกชน จะเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศสามารถเข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งเป็นการสอดรับกับข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ในด้านการศึกษาด้วย

กลุ่มฯ เห็นว่าการศึกษาไม่ใช่เป็นธุรกิจ แต่ถือว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาคนเพื่อไปพัฒนาชาติในอนาคต แม้รัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ ก็ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่จะได้ปลูกฝังให้บัณฑิตกลับมาทดแทนคุณแผ่นดิน สำหรับรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากภาระส่วนนี้ ก็จะสามารถหามาได้ด้วยการทำให้วาทะที่ว่า "การทำสงครามกับคอร์รัปชัน" มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

การขึ้นค่าธรรมเนียมนักศึกษาถึง 4.6 เท่าตัวย่อมปิดกั้น "ความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษา" ที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดไว้อย่างลอยๆในมาตรา 9 อย่างแน่นอน

อนึ่ง ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เกรงกลัวผลกระทบของเอฟทีเอด้านการศึกษา แม้แต่ในประเทศออสเตรเลียและแคนาดาที่มีความเข้มแข็งทางการศึกษาสูงกว่าประเทศไทยเรามาก ก็เกรงกลัวถึงขั้นที่ว่าประเทศของพวกเขา "จะสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม" กันเลยทีเดียว ประเทศไทยก็เคยได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการเงิน(บีไอบีเอฟ)ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม จนนำไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 มาแล้ว

7. กลุ่มฯ มีข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. 2522) มีเจตนารมณ์ให้ผู้บริหารระดับสูงดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยที่ต้องนับวาระเดิมใน พ.ร.บ. ฉบับก่อนหน้า(พ.ศ. 2511) ด้วย แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กลับไม่ให้นับวาระเดิม(มาตรา 70) ซึ่งเปิดโอกาสให้การดำรงตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูงเป็นไปได้ถึง 4 วาระติดต่อกัน จึงเป็นเรื่องที่ประชาคม มอ.ต้องการคำอธิบาย

8. ประชาคมหลายส่วนของ มอ. ถูกทำให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องยอมรับการออกนอกระบบอย่างที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่จริงๆแล้วเรายังมีโอกาสเสนอทางเลือกอื่นตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพราะก่อนที่ พ.ร.บ. จะมีผลบังคับใช้ต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และขั้นสุดท้ายคือการลงพระปรมาภิไธย ดังนั้นความเห็นของประชาคม มอ. มิได้มีความสำคัญเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่สามารถส่งผลในทุกขั้นตอน

9. กลุ่มฯ ขอใช้สิทธิในความเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับคนไทยทุกคน จึงขอทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และความคิดดังกล่าวให้กับชาว มอ. และสังคมโดยรวม

หากท่านเห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้นกรุณาเซ็นชื่อต่อท้ายเอกสารฉบับนี้ เพื่อกลุ่มฯจะได้รวบรวมเสนอต่อมหาวิทยาลัย รัฐบาล และสาธารณะ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นที่ประชาคมโดยรวมเห็นสมควรต่อไป และหากท่านสามารถช่วยเผยแพร่เอกสารนี้ต่อไปและรวบรวมรายชื่อบุคคลากรรวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ด้วยเพิ่มเติม ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง ทั้งนี้ขอให้ยึดมั่นในผลประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

กลุ่มช่อศรีตรัง
7 กันยายน 2547

ขอข้อมูลเพิ่มเติมหรือแสดงความเห็นได้ที่
1. รศ. ดร. จักรกฤษณ์ กนกกัณตพงษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
2. ดร. อุตส่าห์ จันทร์อำไพ คณะวิทยาศาสตร์
3. รศ. นพ. วีระพล จันดียิ่ง คณะแพทยศาสตร์
4. รศ. สุภาณี อ่อนชื่นจิตร คณะพยาบาลศาสตร์
5. อาจารย์ อุษณีย์ วรรณนิธิกุล คณะวิทยาการจัดการ
6. รศ. ดร. ศิริชัย ศรีพงษ์พันธุ์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ
7. รศ. ดร. ดำรงค์ศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง คณะเภสัชศาสตร์
8. ดร. ศักดิ์ชัย คีรีพัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net