Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-29 ก.ย.47 นายประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงกรณีบุคลากรของมหาวิทยาลัยกว่า 1,500 คน คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกับ "ประชาไท" ว่า เป็นเพียงความเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จากการรับฟังความเห็นของบุคลากรและนักศึกษาบางส่วน มีบางกลุ่มเสนอให้ชะลอรอดูผลดีผลเสีย จากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยอื่นก่อน

นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้นเดือนพ.ย. นี้ มหาวิทยาลัยจะเปิดรับฟังความเห็นนักศึกษาอีกครั้ง เพราะนักศึกษาเป็นห่วงว่า เมื่อออกนอกระบบแล้ว ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นหรือไม่ และนักศึกษาจะได้อะไร จากนั้นจะนำผลการรับฟังความคิดเห็น และร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ก่อนส่งร่างกลับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ แต่ถ้าไม่ทันก็จะขอขยายเวลาออกไปอีก ตนไม่รีบร้อน แต่จะไม่ให้ตกขบวน

นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ส่วนจะรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วไปหรือไม่นั้น ต้องดูความเข้าใจของประชาชนต่อการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย และปรึกษาสภามหาวิทยาลัยก่อน หากสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ทำ จะทำทันที ตนทำโดยพละการไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบาย ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความเห็นมาได้ นายประเสริฐ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฉบับนี้ อาจจะไม่แล้วเสร็จในสมัยที่ตนเป็นอธิการบดี ที่จะหมดวาระกลางปี 2549 เพราะคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาในปี 2549 เหตุที่ช้าเพราะมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาหลากหลาย และมีหลายวิทยาเขต ทำให้การดำเนินการต่างๆ ล่าช้าไปด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ฉบับนี้ กลับมาให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันในส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้จากร่างที่เสนอไป ภายใน 14 วัน นับจากวันที่ 12 ส.ค.47 มหาวิทยาลัยจึงนำกลับมารับฟังความเห็นของอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาอีกครั้ง พร้อมกับขอขยายเวลาส่งกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นวันที่ 15 พ.ย.นี้

นายอุตส่าห์ จันทร์อำไพ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรรับฟังความเห็นจากทุกส่วน เพราะมหาวิทยาลัยเป็นของทุกคน กรณีนี้มีผลกระทบกับส่วนรวม จึงควรให้คนทุกวงการได้แสดงความเห็น ตนเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนให้การบริหารดีขึ้น แต่วิธีการปรับปรุงมีหลายรูปแบบ

นายอุตส่าห์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การดำเนินการทุกอย่างมุ่งสู่การออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยควรศึกษาวิจัยความล้มเหลวของระบบการศึกษา และการบริหารการศึกษามากกว่า จะรีบเร่งนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้งที่ยังมองไม่เห็นอนาคตว่า มีผลดีอย่างไร ความคิดออกนอกระบบเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียมาช่วยด้านการศึกษา ทางธนาคารพัฒนาเอเชียจึงมีเงื่อนไขให้มหาวิทยาลัยหารายได้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐลง จะได้มีหลักประกันว่ารัฐสามารถใช้หนี้คืนได้ แต่ขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะออกนอกระบบอีกต่อไป

นายอุตส่าห์ กล่าวต่อไปว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นส่วนหนึ่งของการค้าเสรี ที่ต้องการให้การศึกษาเป็นสินค้า เปิดให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี มหาวิทยาลัยในประเทศต้องใช้งบประมาณปรับปรุงคุณภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขัน เมื่อออกนอกระบบไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเต็มที่ ทางเดียว คือ ปรับค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้น ขณะที มหาวิทยาลัยต่างชาติมีทุนมากกว่า สามารถดึงนักวิชาการเก่งๆ ไปอยู่ด้วย ถ้าปล่อยเช่นนี้ มหาวิทยาลัยไทยพบจุดจบแน่

มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net