Skip to main content
sharethis

การพบไก่จำนวนมากตายด้วยโรคหวัดนกที่อ.เบตง จ.ยะลา ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ อ.เบตง จ.ยะลา และล่าสุดมีผู้สงสัยต้องระวังการติดเชื้ออยู่ 2 ราย และถือเป็นครั้งแรกของพื้นที่ภาคใต้ที่พบการระบาดของไข้หวัดนกรอบสอง โดยเฉพาะกับ" เบตง" เมืองท่องเที่ยว ที่มีไก่เบตง อาหารเลิศรสตรงกับชื่อสถานที่

เบตงเป็นอำเภอที่อยู่สุดชายแดนประเทศไทย ประกอบด้วย 5 ตำบล คือ ต.อัยเยอร์เวง ต.ตาเนาะแมเราะ ต.ยะรม ต.ธารน้ำทิพย์ และต.เบตง ซึ่งผู้คนสามารถเดินทางไปเยือนชายแดนไทย- มาเลเซีย ส่วนที่ติดต่อกับรัฐเปรัคของประเทศมาเลเซีย ด้วยระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตรเท่านั้น

คำว่า "เบตง" เป็นภาษามลายู หมายถึงไม้ไผ่ ซึ่งมีอยู่มากในท้องถิ่น ต้นไผ่จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอ.เบตง การเดินทางมาอำเภอเบตงใช้เส้นทาง จาก จ.ยะลาเข้าสู่เมืองเบตง มีระยะทางห่างจาก อ.เมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 140 กิโลเมตร อยู่ห่างเมืองกรุงเทพฯ ศิวิไลซ์พันกว่ากิโลเมตร การเดินทางสู่เบตงทำได้โดยทางรถยนต์เพียงวิธีเดียว โดยวิ่งลดเลี้ยวไปตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410

ตลอดเส้นทางจากตัวเมืองยะลาสู่เบตง เป็นเส้นทางแห่งมนต์เสน่ห์ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้มาเยือนจนต้องเล่าขานสู่กันฟัง เพราะความน่าทึ่งของเมืองเล็กๆ กลางหุบเขา ที่สภาพวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยความอุดมสมบรูณ์ ของธรรมชาติ รูปแบบของบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย อาหารการกินประจำท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รวมถึงความงดงาทของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอำเภอเบตง

เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของเบตง เป็นภูเขาสูงเรียงรายสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด ตัวเมืองจึงถูกโอบล้อมด้วยป่าเขาที่ยังอุดมสมบรูณ์ ด้วยลักษณะเมืองในหุบเขา และด้วยความห่างไกลจากท้องทะเล กอปรกับทิศทางลมประจำรวมทั้งลมภูเขาและลมหุบเขา ทำให้อากาศของเมืองเบตงร้อนชื้นตลอดปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 27.5 - 28.5 องศาเซลเซียส เวลาค่ำคืนอากาศค่อนข้างเย็น ส่วนช่วงเช้ามักมีม่านหมอกปกคลุม จนเป็นที่มาของสมญานาม " เบตง เมืองในหมอก " อาชีพของชาวเบตงกลมกลืนไปตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้และเทือกเขาสูง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกยางพาราพืชเศรษฐกิจของเบตง บางพื้นที่มีการทำสวนผลไม้และทำไร่ ส่วนชาวเบตงที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและบริเวณรอบๆ ตัวเมือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว

ชาวเบตงส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายมุสลิม ที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคนท้องถิ่นซึ่งมีความเกี่ยวดองกับชาวมาเลเซียในรัฐเปรัคและตรังกานู อันเป็นผลมาจากรัฐทั้งสองเคยเป็นพื้นที่เดียวกันกับเบตงในอดีต ส่วนชาวเบตงที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนเคยเป็นกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาสร้างความเจริญให้ดินแดนส่วนนี้ในสมัยสร้างบ้านแปลงเมืองจากป่าดงดิบให้กลายมาเป็นสวนเป็นไร่ ความแตกต่างดังกล่าวกลายมาเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเรื่อยมา

รวมถึงอาหารที่ลือชื่อเช่น ไก่สับเบตง ที่ปรุงแต่งจากไก่เบตง นอกเหนือจากไก่ตุ๋นเครื่องยาจีน ไก่ตุ๋นมะนาวดอง ต้มยำไก่ ไก่ต้มราดซีอิ๊ว ข้าวหมกไก่ ข้าวมันไก่ ซึ่งล้วนแต่เป็นรายการอาหารที่น่าลิ้มลอง เพราะอาหารที่ปรุงจากไก่เบตง เนื้อจะหวานนุ่ม และไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนเนื้อไก่ที่ขายอยู่ทั่วไป

ไก่เบตง เดิมเป็นไก่พันธุ์เลียงชาน ที่ชาวจีน ซึ่งอพยพมาตั้งรกรากในเบตงได้นำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองจนแพร่หลายถึงทุกวันนี้ ลักษณะเด่น ของไก่เบตงคือ ตัวผู้มีปากสีเหลืองอ่อน ส่วนตัวเมียปากสีน้ำตาลเข้ม ตานูนแจ่มใส หงอนจักร หัวกว้าง คอตั้งแข็งแรง มีขนสีเหลืองทองที่หัว ปีกสั้น อกกว้าง ขาใหญ่ หน้าแข้งกลม เล็บสีขาวอมเหลือง

ปัจจุบัน การเลี้ยงไก่เบตงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอำเภอเบตงจนถือว่าเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของอำเภอเบตงก็ว่าได้ จะเห็นได้จากงานเทศกาลไก่เบตง ที่จัดเป็นประจำทุกปี

แต่ ขณะนี้ด่านกักกันสัตว์กำลังร่วมมือกับด่านศุลกากรเบตง และส.ภอ.เบตง ตรวจสอบการลักลอบส่งออกสัตว์ปีกทุกชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกและไข่ที่ผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลย์ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดนก โดยหากตรวจพบจะทำลายทันที

การระบาดของสัตว์นกครั้งนี้คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหนักเนื่องจากอ.เบตงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของนักท่องเที่ยวชาวไทยและจากมาเลเซีย โดยทำเงินให้ประเทศไทยแต่ละปีไม่น้อยทีเดียว ประกอบกับไก่เบตงเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์และลือชื่อของอำเภอเบตง ถือเป็นเรื่องน่าวิตกหากสถานการณ์ไข้หวัดนกยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราจะส่งผลกระทบโดยตรงทต่อผู้ประกอบการด้านอาหารและธุรกิจการท่องเที่ยว

เห็นทีงานนี้จะโอเค..เบตงไม่ออกเป็นแถวๆ แน่

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net