Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล*

รถเมล์รับส่งผู้โดยสารค่อยๆ วิ่งห่างจากด่านตรวจคนเข้าเมืองของลาวไปเรื่อยๆ ทิ้งภาพสะพานมิตรภาพไทย-ลาวและนครหลวงเวียงจันทน์ไว้เบื้องหลัง

ตอนที่ 1. ก่อนจะถึงเวียงจันทน์

รถไฟขบวนด่วนพิเศษแล่นมาถึงสถานีปลายทางที่จังหวัดหนองคายในตอนสาย หลังจากขนสัมภาระกองพะเรอลงจากเจ้าม้าเหล็กเรียบร้อย คณะของเราซึ่งประกอบด้วยนักข่าวอาชีพ 1 คนและช่างภาพอาสาสมัคร 1 คน ก็กำลังเก้ๆ กังๆ อยู่ว่าจะเคลื่อนตัวไปยังจุดผ่านแดนอย่างไร

"คนละ 30 บาท ไปส่งถึงด่านเลย" เจ้าของรถตุ๊กตุ๊กหนุ่มหน้าซื่อ ยื่นข้อเสนอกับเราอย่างไม่ให้ทันตั้งตัว

"ใกล้แค่นี้เอง 20 บาทก็พอ" ช่างภาพอาสาพยายามต่อรอง เพราะเพิ่งรู้จากตำรวจท่องเที่ยวที่สถานีรถไฟว่าค่ารถตุ๊กตุ๊กไปส่งที่ด่านผ่านแดนแค่คนละ 15 บาท

"ค่าน้ำมันแพง %^*&@#$$ *!@#%^+#&*^(%@^$*฿฿฿฿฿....." เจ้าของตุ๊กตุ๊กสาธยายยาวยืด และหว่านล้อมเพื่อจะให้ได้ราคามากขึ้น แต่พวกเราก็เสียงแข็งพร้อมยื่นคำขาดไปในทันที

"ถ้าไม่ได้ ก็จะเดินไป"

"ไปก็ไป !" เจ้าของรถตอบตกลงเพราะเห็นว่าอีกฝ่ายรู้ทัน พร้อมกันนั้นก็พ่วงผู้โดยสารมาอีกหนึ่งคน ก่อนที่จะนำทั้ง 3 ชีวิตมาทิ้งไว้ที่ท่ารถซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟในอีกอึดใจสั้นๆ ต่อมา ซึ่งท่ารถที่ว่านี้ คือสถานีรถบัสที่วิ่งขนคนข้ามแดนไปมาระหว่างด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยที่หนองคายและของลาวที่เวียงจันทน์ โดยมีสะพานมิตรภาพเป็นทางเชื่อมและมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นคั่นแบ่งพรมแดน

ที่ช่องตรวจหนังสือเดินทางฝั่งไทยขาออก ผู้คนค่อนข้างบางตา ฝรั่งผมแดงยกโขยงกันยื่นพาสปอร์ตและผ่านด่านออกไป บางคนสวมเพียงกางเกงฟุตบอลตัวเดียวกับรองเท้าแตะคีบก็ผ่านออกไปได้ง่ายๆ สายวันนั้น คงมีแต่คณะเราที่เจอพฤติกรรมการโยนพาสปอร์ทออกมา พร้อมกับกริยาเหยียดแกมสั่งให้ไปกรอกใบขออนุญาตผ่านแดน ประจวบเหมาะกันพอดีกับรถบัสที่เราขึ้นมาจากท่ารถก็กำลังจะลอยแพเราในขณะที่สัมภาระยังอยู่บนรถ ทำเอาช่างภาพอาสาต้องสวมวิญญาณลิงวิ่งร้อยเมตรฝ่าด่านคนกระป๋องที่อัดแน่นกันอยู่บนรถ นำเอาสัมภาระลงมาให้ได้ก่อนที่มันจะอันตรธานไปกับรถบัสที่มุ่งหน้าแต่จะวิ่งไปสู่ประเทศลาว กว่าจะผ่านขั้นตอนการผ่านแดนนี้มาได้ ก็เล่นทำเอาพวกเราหัวเสียไปตามๆ กัน

เมื่อมาถึงพรมแดนประเทศลาว การผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองดูจะมีขั้นตอนมากกว่า แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่น่ารักของเจ้าหน้าที่คนลาว จึงทำให้เราผ่านเข้าสู่ประเทศลาวได้อย่างสบายใจ และที่ด่านนี้เองที่เงินบาทน้อยๆ ของเราได้แปลงค่าเป็นเงินกีบจำนวนมหาศาล ดังนั้นเราจึงเดินทางเข้าลาวพร้อมด้วยเงินเป็นฟ่อนในกระเป๋าสตางค์ นับได้จำนวนมากกว่า 520,000 กีบ (ในเดือนกันยายน 2547 เงินไทย 1 บาทเปลี่ยนเป็นเงินลาวได้ประมาณ 260 กีบ) จนอดยิ้มกริ่มกับตัวเองไม่ได้ว่า คราวนี้แหละหนาที่ข้ามีวาสนาได้มาเป็นเศรษฐีถึงต่างแดนเชียวนะเอ็ง

ที่เมืองลาว เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเส้นทางเลย แผนที่ที่เตรียมมาซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดในตอนนี้ ก็ปรากฏว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้ เราจึงต้องระดมความคิดเห็นกันอย่างหนัก จนได้ข้อสรุปว่า "ต้องไปที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศลาวก่อน เพื่อจะได้มีข้อมูล" ว่าดังนั้นแล้ว จึงเดินพิจารณารถรับจ้าง ซึ่งมีทั้งแท็กซี่ รถตู้ และตุ๊กตุ๊ก แต่เราตัดสินใจเลือกรถตุ๊กตุ๊ก ไม่ใช่ว่าด้วยความที่อยากจะสัมผัสกับความเป็นลาวอย่างเต็มที่โดยการนั่งรถตุ๊กตุ๊ก หากแต่เป็นเพราะว่าค่าโดยสารรถตุ๊กตุ๊กเหมาะสมกับเศรษฐีเงินกีบอย่างเราเป็นที่สุด ฮะ ฮ่า! ซึ่งตุ๊กตุ๊กฝั่งลาวนี้ ก็มีลักษณะเหมือนตุ๊กตุ๊กฝั่งไทย (ที่ขึ้นจากสถานีรถไฟหนองคาย) คือ มี 3 ล้อ ท่อนหน้าของคนขับเป็นมอเตอร์ไซคล์ และพ่วงด้วยท่อนของผู้โดยสารซึ่งมีที่นั่ง 2 แถวขนานกันไปตามแนวยาวของรถ พวกเรานั่งรถชมทัศนียภาพริมสองข้างทางอยู่ราว 40 นาที ตุ๊กตุ๊กชานเมืองก็นำเราเวียนวนมาจนถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศลาวที่ตั้งอยู่ในเมืองจนได้ โดยที่ทั้งคนขับและคนนั่งต่างยังงงกันอยู่ว่า การท่องเที่ยวลาวสิแม่นที่เดียวกับที่บอลิสัดท่องเที่ยวลาวบ่ จนกระทั่งมารู้เมื่อมาถึงว่าทั้ง 2 อันมันตั้งอยู่ในตึกหลังเดียวกัน เพียงแต่ว่าอยู่กันคนละห้องเท่านั้นเอง

ที่เวียงจันทน์ มีอะไรตื่นหูตื่นตาเป็นอย่างมาก พวกเราที่มาจากบางกอก ก็กลายเป็นพวก "บ้านนอกเข้าเมือง (เวียงจันทน์)" ได้อย่างง่ายๆ การเดินทางของบ้านนอกเข้ากรุงจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านต่อตอนหน้านะครับ

(* บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล - อดีตผู้ประสานงานโครงการวิจัยเกี่ยวกับสิทธิชุมชน จบการศึกษาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ งานในฝันคือเที่ยวไปทำงานไปแต่ไม่มีใครจ้างให้ทำแบบนั้นปัจจุบันจึงทำงานออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์เป็นงานหาเลี้ยงชีพ และถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net