ชาวชุมชนแออัดไม่ไว้วางใจบ้านมั่นคง

ประชาไท-4 ต.ค. 47 เวลา 9.30 น. เครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบด้วยชาวชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร คนไร้บ้าน และตัวแทนชาวชุมชนแออัดจากจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา นราธิวาส นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา ประมาณ 1 พันคน เดินขบวนจากสนามหลวงไปยื่นหนังสือถึงภาครัฐเนื่องในโอกาสวันที่อยู่อาศัยสากล

นางประทิน เวคะวากยานนท์ ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่าจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะใช้นโยบายบ้านมั่นคงดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)เพื่อทำให้สลัมหมดไปในปี 2552 โดยไม่ย้ายชุมชนออกไปนอกเมืองและปรับปรุงพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม รวมทั้งให้สิทธิ์ในรูปการเช่าที่ดินจากหน่วยงานรัฐนั้น ที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงอยากให้มีการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมจากประชาชนด้วย

"เห็นด้วยกับนโยบายแต่ความเป็นจริงคือ เราต้องเจอกับปัญหาที่สวนทางกับเจตนารมย์ของรัฐบาล เนื่องจากหน่วยงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นการรถไฟ การท่าเรือ กรมธนารักษ์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ กลับไม่ปฏิบัติตาม แต่ละหน่วยงานต่างหวงที่ดินของตนไม่ยอมให้เช่า นอกจากนี้ยังมีกระแสการไล่รื้อชุมชนมาโดยตลอด" ประธานเครือข่ายสลัมฯ กล่าว

เครือข่ายสลัมฯได้เดินเท้าไปที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเคยแสดงวิสัยทัศน์และสัญญาประชาคมในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 47 ก่อนการเลือกตั้ง

โดยเรียกร้องให้กทม.หยุดดำเนินการไล่รื้อชุมชนที่อยู่ในที่ดินสาธารณะ ยุติการดำเนินคดีกับชาวชุมชนที่กทม.กำลังดำเนินการไล่รื้อ ให้กทม.สนับสนุนให้ชาวชุมชนสามารถเช่าที่ดินในการอยู่อาศัยระยะเวลา 30 ปี และหยุดดำเนินนโยบายกวาดจับคนไร้บ้าน โดยเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมี ศ.เกียรติคุณ พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิท รองผู้ว่าฯ มารับหนังสือและนัดประชุมร่วมกันระหว่างผู้ว่าฯกับเครือข่ายสลัมฯในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.

จากนั้นเดินทางไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติ(UN )เพื่อเรียกร้องให้ติดตามและผลักดันรัฐบาลไทยให้ทำตามสัตยาบันที่ไทยไปลงนามว่าจะแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย โดยมี Mr.Russel Radford เป็นตัวแทนมารับหนังสือ และกล่าวว่า UN ไม่มีนโยบายไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ จึงต้องระมัดระวังในการวางตัว และจะส่งหนังสือแจ้งให้เครือข่ายสลัมฯทราบเรื่องความคืบหน้า

และเครือข่ายสลัมฯเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่ไม่มีตัวแทนมารับหนังสือจึงนำไปวางไว้ที่หน้าประตูก่อนที่จะเดินทางไปที่ชุมนุมกระทรวงคมนาคมในเวลา 12.30 น. เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

วันที่อยู่อาศัยสากล มีที่มาจาก UNกำหนดให้ปี 2530 เป็นปีสากลแห่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัย( International Year Of Shelter For Homeless) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนประชาคมนานาชาติให้ตระหนักถึงสภาพปัญหาประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่แต่ไม่มีความมั่นคง ไม่ถูกสุขลักษณะ

รวมทั้งเพื่อช่วยกันแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนยากจน ศูนย์การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งสหประชาชาติ(UNCHS-HABITAT)ซึ่งก่อตั้งในปีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจึงได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น "วันที่อยู่อาศัยสากล" (World Habitat Day)

แม้องค์กรระดับโลกจะออกมานำการเคลื่อนไหวเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัย แต่สถานการณ์ปัญหายังน่าเป็นห่วง ในช่วงทศวรรษ 1990-1999 (2533-2542) จำนวนประชากรสลัมทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนหน้านั้น 36 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนราว 923 ล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนภายในปี 2576 หรืออีกเกือบ 30 ปีข้างหน้า

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท