Skip to main content
sharethis

ภาพประกอบ : ผ่อง เล่งอี้ ประธานกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

ก่อนหน้าที่ร่างพรบ. มหาวิทยาลัยบูรพาจะเข้าสู่วาระพิจารณะของวุฒิสภานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.47 กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนตามต้นทุนที่แท้จริง เสมือนสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่ถูกผลักออกนอกระบบขึ้นค่าหน่วยกิต

ก่อนหน้าที่ร่างพรบ. มหาวิทยาลัยบูรพาจะเข้าสู่วาระพิจารณะของวุฒิสภานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.47 กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยเก็บค่าเล่าเรียนตามต้นทุนที่แท้จริง เสมือนสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่ถูกผลักออกนอกระบบขึ้นค่าหน่วยกิต

หมายความว่าค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาต้องจ่ายในแต่ละเทอมจะแพงขึ้น และอาจหมายถึงการตัดโอกาสผู้ที่มีฐานะทางการเงินไม่เอื้ออำนวยที่จะ "จ่ายแพง"

นายผ่อง เล่งอี้ ประธานกมธ.การศึกษา ศาสนาและศิลปะวัฒนธรรม ให้ความเห็นเกี่ยวกับมติครม. ดังกล่าว และหลักการของมหาวิทยาลัยนอกระบบ

"ทุกคนก็คงอยากเห็นการศึกษาของชาติเจริญรุ่งเรืองในขณะเดียวกันก็ไม่กระทบต่อโอกาสของคนยากคนจน ผมอยากจะเห็นการศึกษาในประเทศไทยในอนาคตเป็นเหมือนกับหลาย ๆ ประเทศที่เขาให้เปล่าจนถึงระดับอุดมศึกษานะครับ แต่ก็แน่นอนว่าประเทศเรายังไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่อย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าค่าเล่าเรียนไม่ควรจะแพงแต่เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นว่าแพงมาก ถ้าผมเกิดในสมัยนี้คงไม่มีโอกาสเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยแน่นอน

ผมเห็นแล้วว่าหน่วยกิตแต่ละหน่วย แต่ละเทอมเป็นหลายๆ หมื่นซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องคิดและความจริงแล้วค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือว่าทุก ๆ ระดับควรจะถูกที่สุดเท่าที่จะถูกได้ ไม่ควรปล่อยให้ขึ้นค่าเล่าเรียนอย่างที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง"

---------------

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกมธ.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภาให้ความสนในประเด็นที่มหาวิทยาลัยนอกระบบจะนำไปสู่ระบบธุรกิจการศึกษา และการเปิดโอกาสให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารมหาวิทยาลัย

" เรื่องของการแปรรูประบบการศึกษาที่ทำให้มีกฎหมายออกมาอีกมากร่วมสิบกว่าฉบับ ในเรื่องการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เมื่อการแปรรูปการศึกษานำมาสู่การทำให้ระบบการศึกษาเป็นระบบธุรกิจการศึกษา ยิ่งถ้าไปดูในตัวกฎหมายจะให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างมากมาย ผมเองในฐานะกรรมาธิการตรวจสอบการทุจริตของวุฒิสภา พบตัวอย่างว่าการรวบอำนาจไปอยู่ที่ฝ่ายบริหารโดยที่ไม่มีการตรวจสอบจากประชาคมในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสภาคณาจารย์ ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งนักศึกษาก็ตาม จะเป็นช่องทางที่จะทำให้ฝ่ายบริหารนั้น นำระบบธุรกิจการศึกษาเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย และทำให้เกิดการหาผลประโยชน์ในฝ่ายบริหารและพวกพ้อง

ขณะนี้ทางกมธ ทุจริตกำลังตรวจสอบเรื่องการทุจริตเชิงนโยบายในเรื่องของการจัดระบบการศึกษาให้เป็นการศึกษาเชิงพาณิชย์ ซึ่งขยายออกไปมากไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคก็ตาม

ที่เห็นชัดก็คือเรื่องของการขยายวิทยาเขต การศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก หรือแม้กระทั่งการศึกษาพิเศษซึ่งทำให้มีคนที่ต้องมาเสียเงินให้เรื่องการเรียนส่วนนี้มาก เราพบว่าเข้าข่ายการประกอบธุรกิจการศึกษาไม่ใช่การศึกษาที่ทำให้เกิดกระบวนการทางวิชาการ กระบวนการเรียนรู้ และไม่ตอบสนองต่อคนยากคนจน หรือคนด้อยโอกาสในสังคมด้วย

ประเด็นต่อมา ที่เราเห็นอันตรายคือ มีมาตราในกฎหมายฉบับนี้ที่พบว่าจะมีการเมืองเข้ามาแทรกแซง เราพบว่ามีมารตราที่กำกับให้การดูแลมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐจะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ตรงนี้เป็นจุดที่ค่อนข้างอันตรายที่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ลองนึกภาพดูว่าถ้าครม.สามารถเข้ามาควบคุมกำกับการทำงานของของมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยนั่นคือการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงระบบการศึกษา ซึ่งแทนที่ควรจะมีความอิสระทางวิชาการก็จะกลายเป็นอธิการบดีในกำกับของรัฐบาล

ที่ผ่านมา กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระนั้นมีปัญหามาก เนื่องจากมีการเมืองจากพรรคการเมืองเข้ามาแทรกแซงจาก ขณะนี้ก็จะมีการเมืองเข้าไปแทรกแซงในตัวแทนของอธิการบดีมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

ขณะนี้เราเผชิญกับวิกฤติต่าง ๆ เช่นกรณีไข้หวัดนกซึ่งนักวิชาการออกมาส่งเสียงน้อยมาก เนื่องจากการเมืองเข้าไปแทรกแซงความเป็นอิสระของนักวิชาการ ในการที่จะทำให้นักวิชาการมองเห็นประโยชน์สาธารณะ ประเด็นเรื่องไข้หวัดนกนั้น เราพบกรณีที่นักวิชาการถูกปิดปากโดยนักการเมือง ฉะนั้นเราก็ไม่อยากให้มีมาตราที่ทำให้เห็นว่าทางการเมืองสามารถเข้ามาครอบงำและแทรกแซงและปิดปากนักวิชาการในมหาวิทยาลัย มิฉะนั้นแล้วผมคิดว่าสังคมไทยจะมืดบอด"

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net