Skip to main content
sharethis

ถึง นายแอนโตนิโอ ซิเชติ ประธานสถาบัน Istituzione Perdonanza Celestiniana ประเทศอิตาลี

พวกเราเป็นตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรสาธารณสุขชั้นนำของประเทศไทยและนานาชาติ พวกเราทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่า องค์กรของท่านได้มอบรางวัล International Forgiveness Award ประจำปี 2547 ให้แก่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรของประเทศไทย "จากการที่รัฐบาลไทยได้ปฏิบัติต่อผู้เสพยาเสพติดในฐานะผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร"

พวกเราเขียนจดหมายนี้ถึงท่านเพื่อขอให้มีการทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว เพราะได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นระบบต่อผู้เสพยาเสพติดภายใต้นโยบายของนายกรัฐมนตรีทักษิณ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 นายกรัฐมนตรีทักษิณได้ประกาศ "สงครามต่อยาเสพติด" ขึ้นในประเทศไทยเพื่อตอบโต้ต่อการแพร่ระบาดของเมธแอมเฟตามีน [ยาบ้า]

ขณะที่กล่าวถึงผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดว่าเป็น "กากเดนของสังคม" และเป็น "ภัยต่อความมั่นคงของสังคม และต่อความมั่นคงของชาติ" นั้น นายกรัฐมนตรี ทักษิณได้เสนอเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ขจัดผู้ต้องสงสัยว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจำนวนหลายพันคนออกจาก "บัญชีดำ" ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น ภายในระยะเวลาสามเดือน ผู้ต้องสงสัยมากกว่า2,275 คนถูกยิงเสียชีวิตในลักษณะที่เป็นการวิสามัญฆาตกรรม

ทั้งนี้ สามสัปดาห์หลังจากที่มีการประกาศ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" คือเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านการวิสามัญฆาตกรรม นางอาสมา จะฮังกีร์ ได้แสดง "ความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อรายงานที่ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 รายในประเทศไทยเนื่องจากการปราบปรามการค้ายาเสพติด" ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาก็ได้ออกคำเตือนในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีทักษิณเรียก สหรัฐอเมริกาว่าเป็น "มิตรที่น่ารำคาญ" ภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2546 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยได้รับเรื่องร้องเรียน 123 เรื่องจากประชาชนเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรม, การจับผิดตัว, การถูกขึ้น "บัญชีดำ" ขณะที่ช่วงเจ็ดสัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีเรื่องร้องเรียนต่างๆรวมกันแค่เพียงสิบสองเรื่อง

ขณะที่นานาชาติเพิ่มการประณามนโยบายปรายปรามยาเสพติดของประเทศไทยนั้นนายกรัฐมนตรีทักษิณได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการที่บรรดาผู้ค้ายาเสพติดสังหารกันเอง

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการรับผิดสอบใดๆ ต่อการเสียชีวิตเหล่านั้น ตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงของประเทศไทยยังคงยอมให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างสุดขีดต่อผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด และเรียกร้องให้ใช้มาตรการแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" ในการปราบปรามยาเสพติด

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2546 นายกรัฐมนตรีทักษิณได้กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของประเทศไทยจะ "ยิงทิ้ง" ผู้ที่ลักลอบขนยาเสพติดเข้ามาจากประเทศพม่า และก่อนหน้านี้ระหว่างที่มีการประกาศนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด นายกรัฐมนตรีทักษิณก็ได้กล่าวว่า "ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" "พวกที่ค้ายาเสพติดโหดเหี้ยมกับลูกหลานของเรา จึงไม่ผิดอะไรที่เราจะเหี้ยมโหดกลับไปบ้าง"

ท่านอาจทราบว่า ในปี 2546 ประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมายที่ถือว่า ผู้เสพยาเสพติด (ไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติด) เป็น "ผู้ป่วย" และรับประกันว่าผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานเบา จะได้รับการบำบัดรักษา โดยไม่ถูกคุมขัง

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้น ทั้งผู้เสพยาเสพติด และผู้ค้ายาเสพติดตกเป็นเหยื่อของการปราบปราบยาเสพติดอย่างโหดร้ายของนายกรัฐมนตรีทักษิณผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากรายงานว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม, ทุบตีและควบคุมตัวในช่วงที่มีการทำ "สงครามต่อยาเสพติด" บางคนถูกบังคับให้ลงชื่อรับสารภาพว่าค้าเมธแอมเฟตามีน

ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากเข้าร่วมโครงการบำบัดรักษาที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล แต่นั่นก็เป็นเพราะถูกจับกุมหรือถูกข่มขู่บังคับให้เข้าร่วมโครงการ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งมีผู้เสพยาเสพติดจำนวนหนึ่งกลับยุติการเข้ารับการบำบัดรักษา เพราะกลัวว่าการที่เป็นผู้เสพยาเสพติดจะทำให้ถูกจับกุม หรือถูกสังหาร

ผลกระทบที่ร้ายแรงอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันของนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายกรัฐมนตรีทักษิณ คือผลกระทบต่อสถานการณ์เชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ ผู้เสพยาเสพติดประเภทเฮโรอีนโดยใช้เข็มฉีดยา ซึ่งมีจำนวนประมาณ 100,000 ถึง 250,000 คนในประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี จากการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนร่วมกันระหว่างที่มีการทำ "สงครามต่อยาเสพติด" ผู้เสพยาเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยาจำนวนนับไม่ถ้วนต้องหลบหนีไปซ่อนตัวซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่อาจจะช่วยรักษาชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี

ขณะที่ผู้เสพยาเสพติดอีกส่วนหนึ่งต้องถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีบริการป้องกันการติดเชื้อเอไอวี และยังมีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ร้อยละ 40 ของผู้เสพยาเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยาในประเทศไทยนั้นมีผลบวกต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2531

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 นายพอล ฮันท์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิทางสุขภาพยังได้กล่าวถึง "ความกังวลว่า การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ... จะสร้างเงื่อนไข ในทางลบที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายไวรัส [ภูมิคุ้มกันบกพร่อง] มากขึ้นในประเทศไทย"

การที่นายกรัฐมนตรีทักษิณกล่าวถึงผู้เสพยาเสพติดอยู่เสมอๆ ว่าเป็น "ผู้ป่วย" นั้น แทบจะไม่มีส่วนสัมพันธ์ใดๆ กับนโยบายที่โหดร้ายเกี่ยวกับยาเสพติดเลย นอกเสียจากจะเป็นการหันเหเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนานาชาติเกี่ยวกับนโยบายเหล่านั้น

ในการประชุมประชุมนานาชาติเรื่องโรคเอดส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม2547 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาว่า ประเทศเทศไทยได้ดำเนินโครงการลดความเสี่ยงให้กับกลุ่มผู้เสพยาเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยา ซึ่งหมายถึงบริการอย่างเช่น การแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาที่ได้รับการฆ่าเชื้อและการใช้ยาเมธาโดนในการบำบัดรักษาการติดยาเสพติด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโครงการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาที่ได้รับการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย ทั้งๆที่มีหลักฐานมากมายยืนยันว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดการติดเชื้อเอชไอวีได้

ส่วนการใช้ยาเมธาโดนในศูนย์บำบัดรักษาการติดยาเสพติดก็เป็นไปอย่างจำกัด ขณะที่บริการสาธารณสุขอื่นๆ สำหรับผู้เสพยาเสพติด โดยใช้เข็มฉีดยานั้นก็ถูกบั่นทอนไปด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้เสพยาเสพติด

การที่ท่านมอบรางวัล International Forgiveness Award ให้แก่นายกรัฐมนตรีทักษิณนั้น อาจจะเกิดจากการที่ท่านไม่ได้ตระหนักหรือท่านเลือกที่จะไม่รับรู้ถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ เพื่อเห็นแก่ผู้ที่ได้รับอันตรายจากนโยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับยาเสพติด และเพื่อเห็นแก่สถานะที่ดีของรางวัลของท่าน
เรา

ขอให้ท่านประกาศยกเลิกการให้รางวัลประจำปีนี้ต่อสาธารณะ ในฐานะทูตของนานาชาติในด้านการให้อภัยท่านย่อมปรารถนาที่หลีกเลี่ยงไม่ให้ชื่อเสียงต้องแปดเปื้อนไปจากการเข้ามาข้องเกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่อื้อฉาวนี้

ด้วยความจริงใจ,

ลงชื่อ

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net