Skip to main content
sharethis

ประชาไท-8 ต.ค.47 ตัวแทนองค์กรชาวบ้านจากภาคใต้จำนวน 15 คน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานพื้นที่การพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด)ที่จ.ชลบุรีและจ.ระยอง ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเล เมื่อวันที่ 5-7 ต.ค.ที่ผ่านมา

น.พ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาบตาพุด กล่าวว่าปัจจุบันคนที่อาศัยอยู่ที่มาบตาพุดสุขภาพแย่ลง ส่วนใหญ่ป่วยโรคทางเดินหายใจ หอบหืดและโรคผิวหนัง ซึ่งเป็นมากกว่าที่อื่น โดยเฉพาะโรคหอบหืดคนที่ย้ายมาจากที่อื่นไม่เคยเป็นมาก่อนแต่มาเป็นที่นี่ นอกจากนี้สถิติการฆ่าตัวตายมากขึ้นเนื่องจากคนต่างถิ่นที่มาทำงานเครียดจากการห่างไกลบ้านและการตกงาน

"สถิติการเป็นโรคมะเร็งก็มีมากขึ้นโดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก แต่ปัญหาคือทางการแพทย์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากการรับสารอะไร เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถเป็นตัวก่อมะเร็ง ซึ่ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มาทำวิจัย2 ปีที่แล้ว แต่ยังไม่เปิดผลการวิจัย" ผอ.รพ.มาบตาพุด กล่าว

นายเจริญ เดชคุ้ม ผู้นำชุมชนเกาะกกหนองแตงเม ต.มาบตาพุด กล่าวว่า ตอนแรกที่นิคมฯ จะมาตั้งบอกว่าถ้ามีอุตสาหกรรมชาวบ้านไม่ต้องทำไร่ไถนาจะมีแต่ความเจริญ ทำให้ชาวบ้านขายที่ดิน ผู้ใหญ่บ้านก็อนุมัติให้รื้อวัด แต่ปัจจุบันชุมชนหลายที่ประสบปัญหาโดยประมงเรือเล็กเริ่มหาปลาไม่ค่อยได้ บางวันได้แค่ 60-70 บาทไม่คุ้มค่าน้ำมัน สวนผลไม้ไม่ได้ผลผลิตเนื่องจากฝนทำให้ดอกร่วง

"ปัญหาหลักที่กำลังเกิดขึ้นคือตลิ่งพัง เนื่องจากการถมทะเล ทำให้หาดที่สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งชายหาดที่ชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่หาปูหาตัวเคยหายไป ตอนนี้อุตสาหกรรมที่นี่มีมากเกินไปแล้วไม่ควรเพิ่มอีก รัฐบาลมองแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ไม่มองประชาชนรากหญ้า หาแต่ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไปประชาชนก็ย่ำแย่ลงทุกวัน" ผู้นำชุมชนเกาะกกหนองแตงเมกล่าว

ด้านนายอารือมัน ยามา โครงการชุมชนเป็นสุขภาคใต้ กล่าวว่า การมาศึกษาดูงานครั้งนี้ เห็นว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อดีมีน้อยกว่าเพราะดีกับเฉพาะบางคน ขณะที่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทุกคนต้องได้รับผล และส่งผลจนถึงลูกหลาน ซึ่งต้องใช้ในอนาคต ดังนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะปกป้องดูแลให้อยู่คู่กับเรา

"เจ้าหน้าที่เขาบอกป้องกันได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการสูญเสียในระยะยาว จึงเป็นห่วงว่าอุตสาหกรรมฮาราลที่กำลังจะเกิดที่จ.ปัตตานีในพื้นที่ 900 ไร่ อาจจะทำให้ประสบปัญหาไม่ต่างจากที่มาบตาพุด" นายอารือมัน กล่าว

นายอารีหมัด มะสมัน ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล กล่าวว่าที่สตูลจะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง ซึ่งอาจจะส่งผลกับประมงพื้นบ้าน และสิ่งที่ตามมาในอนาคตอาจจะขัดแย้งกับบริบททางสังคมของมุสลิมด้วย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งแรกของเมืองไทยโดยเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2524 โครงการเฟสที่ 1 มีพื้นที่ 8.3 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี

เขตพัฒนาแบ่งเป็น 2 เขตหลักคือบริเวณแหลมฉบัง จ.ชลบุรี พื้นที่เริ่มต้น 10,000 ไร่ เป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และบริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง พื้นที่เริ่มต้น 20,000 ไร่ เป็นที่ตั้งท่าเรืออุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมหนักและปิโตรเคมี และโครงการเฟสที่ 2 ขยายครอบคลุมภาคตะวันออกและภาคกลางตอนบนรวม 11 จังหวัด

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net