Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกเครือข่ายประชาสังคมอุบลราชธานี
กรณีพบมะละกอจีเอ็มโอที่อำเภอสำโรง

สืบเนื่องจากผลการตรวจสอบการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอขององค์กร ประชาสังคม 450 องค์กร ได้พบว่า ตัวอย่างมะละกอจากเกษตรกรบ้านสว่างศรีสมบัติ ตำบล โนนกาเล็นอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มาจากการแจกจ่ายของทางราชการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 จากการตรวจสอบโดยสถาบันอนุชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล พบว่า มีหนึ่งตัวอย่างเป็นมะละกอจีเอ็มโอ และคาดว่ามะละกอจีเอ็มโอดังกล่าวได้แพร่กระจายไปยังเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีราว 1,000 ราย

การหลุดรอดของพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอในพื้นที่อุบลราชธานีนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีควรจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากมะละกอเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำมาทำอาหารหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นอีสาน การปนเปื้อนจีเอ็มโอของมะละกอเป็นสัญญาณเตือนว่า ชีวิตของคนอุบลราชธานีและคนอีสานอาจตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบผลดีผลเสียของมะละกอจีเอ็มโออย่างรอบคอบและรอบด้านเพียงพอ ทั้งนี้การตัดต่อพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีส่วนผสมของยีนที่ส่งผลต่อต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ อันจะทำให้เกิดอาการดื้อยาได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนอีกด้วยว่า มะละกอจีเอ็มโอที่นำมาปลูกนี้ จะเข้ามาทำลายพันธุ์มะละกอท้องถิ่นอีกด้วยหรือไม่ เนื่องจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของมะละกอจีเอ็มโออาจส่งผลให้พันธุ์มะละกอพื้นบ้านต้องกลายพันธุ์ไปในที่สุด

เครือข่ายประชาสังคมอุบลราชธานี จึงขอเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการต่างๆต่อกรณีการตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

1.ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

2.ให้มีการจัดเวทีปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ, สถาบันการศึกษา, เกษตรกร, องค์กรพัฒนาเอกชน, ประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อหาทางออกในกรณีการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอในจังหวัดอุบลราชธานีโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอไม่ให้ลุกลามขยายใหญ่โตจนมิอาจควบคุมได้ในอนาคต

3.ให้เร่งผลักดันยุทธศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานีที่ประกาศว่าจังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็นรูปธรรม มิใช่เป็นแต่เพียงแผนงานที่เขียนไว้อย่างสวยหรูเท่านั้น แต่นโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ต้องมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

เครือข่ายประชาสังคมอุบลราชธานี
6 ต.ค. 2547

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net