นโยบายการศึกษาไทยฟรีไม่จริง?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาจะเข้าใจว่าปัจจุบันนี้ เยาวชนของไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยไม่ต้องรับภาระค่าเล่าเรียนเป็นระยะเวลาถึง 12 ปี ทว่าในความเป็นจริงกลับมีเด็กและเยาวชนอีกมากมายที่เข้าไม่ถึงโอกาสดังกล่าว

ตัวเลขจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้ไว้ต่ออนุกรรมธิการหลักประกันทางสังคม ระบุว่า เยาวชนกว่า 1.5 ล้านคน ไม่ได้รับโอกาสด้วยปัจจัยต่าง ๆ

อนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม วุฒิสภาได้ทำดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษา เพื่อทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา และในวันที่ 15 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะได้เปิดให้มีการพิจารณ์ร่างรายงานฉบับดังกล่าวก่อนจะเสนอสู่วุฒิสภาต่อไป

ร่างรายงานฯ ได้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาโดยอาศัยข้อชี้แจงจากบุคลาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจากหลายสาขา ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการศึกษาระดับบริหารและปฏิบัติการ นักวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำให้พบข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะมีหลักประกันด้านการศึกษาอยู่ แต่ก็ยังมี ปัจจัยอื่น ๆ ให้พวกเขาเข้าไม่ถึงโอกาสที่ตนควรจะได้รับ เป็นต้นว่าฐานะยากจน เป็นคนไร้สัญชาติ* (ดูล้อมกรอบ)

ร่างฯ ดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหา 27 หน้า โดยแบ่งออกเป็น บทนำ สภาพปัญหาของการเจ้าถึงการศึกษา สภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทย ความคิดของคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม ประชาไท ได้ (แอบ) เปิดร่างฯ ดังกล่าวและพยายามสรุปเนื้อหาเพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตามก่อนที่ร่างฯ ฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณ์ในวันที่ 15 ต.ค.

เด็ก ๆ กว่า 1.5 ล้านไม่ได้เรียนหนังสือ

ปัญหาส่วนใหญ่ของเด็ก ๆ คือ ไม่มีเงินเรียนหนังสือ เพราะแม้จะไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่การเดินทางมาเรียนก็ก่อให้เกิดรายจ่ายซึ่งไม่สามารถแบกรับได้ เช่น อาหารกลางวัน ค่าเดินทาง บางรายไม่เพียงเพิ่มรายจ่ายแต่กลับเป็นการตัดรายได้เนื่องจากเด็ก ๆ บางคนยังมีสถานภาพเป็นแรงงานของครอบครัวอีกด้วย แม้บางคนจะได้รับทุนการศึกษาช่วยอีกแรงแต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าพวกเขาจะได้รับอย่างต่อเนื่อง

อีกปัญหาหนึ่งสำหรับเด็ก ๆ ก็คือโรงเรียนอยู่ไกลเกินไป อันป็นปัญหาจากการที่โรงเรียนไม่กระจายไปให้เหมาะสมกับพื้นที่

การศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตซึ่งการศึกษากระแสหลักละเลย เป็นปัญหาที่ยังไม่ถูกมองเห็นแต่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจสำหรับเด็ก ๆ ในหลายชุมชนซึ่งมีวัฒนธรรมเฉพาะ และประการสุดท้ายคือ "สัญชาติ" ซึ่งเป็นปัญหาที่ครึกโครมอยู่ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้

จากปัญหาของเด็ก ๆ ที่เข้าไม่ถึงการศึกษาทำให้ต้องหันกลับมามองดูระบบโครงสร้างเกี่ยวกับการศึกษาและนโยบายที่ผ่านมา ว่าอะไรทำให้ "ฝันไม่เป็นจริง" อนุกมธ.ฯ ได้สรุปว่าประการแรกคงไม่พ้นเรื่องการจัดสรรงบประมาณการศึกษาของไทยซึ่งไม่ (เคย) เพียงพอและไม่ทั่วถึง ทั้งยังมีนโยบายเกี่ยวกับทุนการศึกษาแบบไม่สมจริง โดยล่าสุดได้เปลี่ยนรูปแบบการให้กู้ยืมทุนการศึกษาจาก กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาเป็น" กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ซึ่ง กรอ. นั้นกำหนดให้เฉพาะนักศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเปลี่ยนเป็นทุนแบบให้เปล่า โดยพิจารณาจากการเรียนและฐานะ แต่สิ่งที่ตามมาคือคำถามว่า ทุนแบบให้เปล่านั้นทั่วถึงจริงหรือไม่ นอกจากนี้ทุนกู้ยืม กรอ. ให้กู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียนซึ่งไม่สอดคล้องกับความจริงว่านักศึกษาต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่าหอพัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งเดิมนั้น กยศ. เคยกำหนดให้ครอบคลุมรายจ่ายเหล่านี้ด้วย

ข้อเสนอจากอนุกมธ.ฯ
อนุกมธ.ฯ ได้เสนอไว้ในร่างฯ ดังกล่าวว่า รัฐต้องเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการกระจายโรงเรียน กระจายบุคลากรทางการศึกษาและจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ให้เหมาะสมกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงเรียนอาชีพ โฮมสคูล โรงเรียนชาวนา เป็นต้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา ทั่วถึง หลากหลาย และไม่เก็บค่าใช้จ่าย

ในร่างฯ ดังกล่าวได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐกำลังจะถูกผลักออกนอกระบบนั้น ก็เป็นช่วงที่กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเปลี่ยนรูปแบบไปด้วย อาจเป้นการเพิ่มช่องว่างให้คนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเข้าถึงยากขึ้น ฉะนั้น รัฐต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 กรณี โดยต้องรับผิดชอบการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษาด้วย โดยรัฐต้องให่ทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก้ทุกคนที่ประสงค์จะได้รับไม่เว้นแม่แต่คนไร้สัญชาติ จัดการระบบเงินกู้เพื่อการศึกษาให้รัดกุมเพื่อมิให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และรัฐควรกำกับดูแลค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยไม่ให้คำนวณตามต้นทุนจริงซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้เล่าเรียนสูงมากยิ่งขึ้น

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

จำนวนเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จำแนกตามประเภท

จากข้อมูลและคำชี้แจงที่ตัวแทนของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ไว้ต่อคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคมเมื่อเดือนเมษายน 2547 พบว่ามีจำนวนเด็กด้อยโอกาสที่สำรวจได้เป็นจำนวนต่อไปนี้
1. เด็กยากจน 1,261,383 คน
2. เด็กถูกทอดทิ้ง 43,866 คน
3. เด็กชนกลุ่มน้อย 33,721 คน
4. เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์ 18,201 คน
5. เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด 11,572 คน
6. เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ 2,642 คน
7. เด็กเร่ร่อน 1,355 คน
8. เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงาน 833 คน
9. เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 383 คน
10. เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศ 376 คน
11. เด็กด้อยโอกาสกลุ่มอื่นๆ อีก 3,930 คน
12. เด็กพิการ ประมาณ 1,000,000 คน
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมาธิการฯ พบว่า ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงยอดประมาณการที่ภาครัฐสำรวจได้ ซึ่งยังมีเด็กวัยเรียนที่ตกสำรวจอีกจำนวนไม่น้อย และจากจำนวนดังกล่าว มีเด็กที่ได้รับกาสนับสนุนทางการศึกษาเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมด นอกเหนือจากนั้น คือ เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท