Skip to main content
sharethis

กระแสต้านนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนเริ่มก่อตัวมีพลังมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา คนเชียงรายโทรเข้าไปแสดงความเห็นหลังรายการนายกทักษิณคุยกับประชาชน ชุมชนเน็ตวิจารณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใกล้เมืองโบราณเชียงแสนอันล้ำค่า นักวิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองชื่อดังอย่าง "สนธิ ลิ้มทองกุล"ออกมาชนตรงๆ ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นที่เชียงรายทำให้เขา "ปวดใจ"

โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน คือบ่อเกิดแห่งความรู้สึกนั้น ซึ่งย่อมไม่ต่างจากคนเหนืออีกนับล้าน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในวันที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ หวังให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเกิดให้ได้ในปีนี้

ย้อนไปดูเจตนาของเขาเมื่อ 12 มกราคม 2547 เขาประกาศจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือให้ดึงเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาใน 4 ประเด็นสำคัญ

ภาคเกษตร เขาจะไม่ให้สินค้าราคาตกต่ำ การท่องเที่ยวเขาบูมอลังการมหาสงกรานต์และเปิดหมู่บ้านโอทอปสำเร็จ กลุ่มเอสเอ็มอีเขาให้สมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือส่งต่อโอทอปสู่สากล และการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย เพื่อความเป็นฮัปที่สมบูรณ์แบบ

เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายผ่านมติครม.ไปนานแล้วแต่ไม่คืบหน้า วันเดียวกันนั้นเขาจี้ติดทั้งจังหวัดและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่า จีนให้ความสนใจมากโดยการล่องโขงมาดูพื้นที่เองของผู้ว่าการมลฑลยูนนาน และถามความคืบหน้าจากรองสมคิด ซึ่งท่านหน้าแตกเพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

ในวันนั้น ยังไม่มีคำตอบว่าจะใช้พื้นที่ใด กรมโยธาธิการและผังเมืองยังไม่ได้ข้อสรุปผังพื้นที่ที่จะตีกรอบเขต ขณะที่กนอ.ก็จะต้องไปทำการศึกษาการจัดตั้งเขตของการนิคมอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องการอุดหนุนการสร้างสาธารณูปโภค มาตรการเอื้อภาษี การส่งเสริมการลงทุน และความเป็น ONE STOP SERVICE ซึ่งจะต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึง 8 ฉบับ

สิ่งที่ รองสมคิด ย้ำในที่ประชุมวันนั้นคือ "ถ้าให้ผมเดาใจจีน เขาอยากมาตั้งอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ที่นี่ ทำอย่างไรก็ได้ให้จูงใจเขา แต่ไทยต้องไม่เสียเปรียบ"

ท่านย่อมเดาไม่ผิด เพราะได้ไปลงนามร่วมกับ Kunming New and High Technology Development Zone ไว้ตั้งแต่มิถุนายน 2546 โน่นแล้ว

คล้อยหลังจากนั้น ในการประชุมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ มีคำยืนยันแบบอ้อมแอ้มจากหน่วยราชการของจังหวัดเชียงรายถึงความคืบหน้าการพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงรายแล้วว่า เป็นพื้นที่ 3,000 ไร่ ในเขต ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน ของบริษัทไทยจีนพัฒนา อันเป็นการร่วมทุนไทยจีนในนามกลุ่มปภามาศ

เหตุผลคือ จีนเขาเลือกแล้วและกำหนดไว้แล้วว่า อยู่ห่างจากท่าเรือแม่น้ำโขงไม่เกิน 30 กม. ที่อื่นอีก 8 รายที่เหลือ หมดสิทธิ์

มีรายงานข่าวล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายน 2547 ที่ผ่านมาว่ามีการเซ็นบันทึกข้อตกลงกันระหว่าง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจีนกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว

นอกจากข้อโต้แย้งเรื่องความไม่เหมาะสมของพื้นที่ที่จะทำลายเมืองโบราณเชียงแสนอันล้ำค่า เพราะนิคมอุตสาหกรรมกับเมืองโบราณเป็นการใช้สอยพื้นที่ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ซึ่งดูเหมือนว่า เพียงเริ่มนับหนึ่ง ไทยก็เสียเปรียบแล้วนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับจีนน่าจะนำมาขบคิดให้มากขึ้น

นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ว่า สถานภาพมณฑลยูนนานเมื่อเทียบกับมณฑลอื่นแล้ว ถือว่าอยู่อันดับท้ายความเจริญ ข้าราชการล้าหลัง และสิ่งแวดล้อมแย่มาก โดยเฉพาะทะเลสาบในเมืองคุนหมิงสกปรกมาก เพราะอุตสาหกรรมของคุนหมิงทิ้งน้ำเสียลงไป ยูนนานไม่ใช่มณฑลที่เจริญ ไม่เหมือนเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เทียนจินที่มีอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสะอาด ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ระบุจะเกิดขึ้นนั้น ควรดูจังหวัดลำพูนเป็นตัวอย่าง

"ลำพูนมีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ และเกิดอะไรขึ้น ลำพูนเกิดมลภาวะที่สกปรก เกิดอากาศ น้ำที่เสีย ไปดูลำพูนเป็นตัวอย่าง นี่ขนาดลำพูนไม่มีแม่น้ำติดนะ นี่เรามีแม่น้ำแม่โขงติด"

ข้อมูลอย่างนี้ ไทยเสียเปรียบเป็นต่อที่ 2

วันนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไปแล้ว ผู้ที่มาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคเหนือแทนคือคนชื่อวิษณุ เครืองาม

และ 2 ครั้งของการมาภาคเหนือเพื่อประชุมกลุ่มจังหวัด เรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายดูเหมือนจะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาบนโต๊ะหารือถึงความคืบหน้า

หากแต่วันนี้ การเซ็นสัญญาได้จรดปากกาไปเสียแล้ว

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net