Skip to main content
sharethis

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือเรียกสั้นๆในชื่อของ มอ.ปัตตานี หรือ มอตานี ถือเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในภาคใต้ ก่อตั้งที่ตำบลรูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2509 ในระยะแรกใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยภาคใต้" (UNIVERSITY OF SOUTHERN THAILAND)

ต่อมาในเดือน ก.ย.2510 มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานชื่อว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PRINCE OF SONGKLA UNIVERSITY) ตามพระราชนามฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระบรมราชชนกเจ้าฟ้ามหิดล อดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์

วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคคลากรในการพัฒนาภาคใต้ ตามแผนพัฒนาการศึกษา อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเสมอภาคของประชาชนและเพื่อเป็นแหล่งบริการวิชาการชุมชนทั้งในชนบทและในเมือง

ในด้านนโยบายการบริหารของมอ.ปัตตานีที่น่าสนใจคือ การพัฒนาระบบการบริหารงานและเทคโนโลยี สารสนเทศ ให้คณะและหน่วยงานสร้างศักยภาพและเอกลักษณ์ทางวิชาการ พร้อมทั้งพัฒนา ให้เกิดความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการสอน การวิจัย และการให้บริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นฐานในการนำสังคมในเขตจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ไปสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

โดยที่ผ่านมามีการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมนักศึกษา ตลอดจนกิจกรรมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับสังคม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและศักยภาพของนักศึกษาให้มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นบัณฑิตที่มีภูมิธรรมและคุณธรรมมาตลอด

ทำให้นักศึกษามอ.ปัตตานีมีส่วนร่วมกับเคลื่อนไหวกับชุมชนในอดีตอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 29 พ.ย.2518 ที่ทหารหน่วยนาวิกโยธินสังหารราษฎรจำนวน 6 คนและนำศพไปทิ้งในแม่น้ำกอตอ (แม่น้ำสายบุรี) แต่ในจำนวน 6 คนนั้นมีผู้รอดชีวิตมาได้หนึ่งคน

เมื่อเกิดเหตุขึ้น กลุ่มนักศึกษามอ.ปัตตานีได้หารือกับกลุ่มสลาตัน (เยาวชนจากปัตตานีที่ไปเรียนในกรุงเทพ ฯ) และศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) แสดงจุดยืนเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับผู้ตายและนำไปสู่การเปิดเผยความจริง จนเรื่องลุกลามไปถึงการชุมนุมใหญ่ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วทั้งภาคใต้เป็นเวลา 45 วัน

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บรรยายไว้ในหนังสือพิมพ์ "จตุรัส" ฉบับวันที่ 27 ม.ค.2519 ตอนหนึ่งความว่า "ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ถิ่นนี้มาก่อนเลย ที่คลื่นมนุษย์จำนวนแสนมาชุมนุมกันเพื่อแสดงเจตจำนงอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างหนักแน่นเช่นนี้ สี่ชั่วโมงเศษที่คลื่นมนุษย์มหึมาขบวนนี้เดินไปตามถนนสายต่างๆในเมืองปัตตานีที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

เป็นสี่ชั่วโมงที่น่าระทึกใจจากความเกรียงไกรของคลื่นมวลชน นับเป็นการชุมนุมประชาชนในขนาดเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม (14 ต.ค.2516 ) ที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีที่แล้ว และเป็นการชุมนุมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวเมือง"

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มอ.ปัตตานีก็ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ที่กิจกรรมนักศึกษาซบเซาลง นักศึกษาบางส่วนหนีเข้าป่า นักศึกษาบางส่วนก็ยังทำกิจกรรมในเมือง ในสถานศึกษาเช่นเดิม และสืบทอดความคิดในเรื่องการทำกิจกรรมนักศึกษามาจนถึงปัจจุบัน

ซาบี ดาหวูด
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net