Skip to main content
sharethis

ยังคงพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ "จีเอ็มโอ" ที่จะว่าไปก็คงเป็นกรณีที่ได้รับความสนใจไปอีกนาน ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าพืชจีเอ็มโอเป็นอันตรายหรือไม่

แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็น่าจะมี "สิทธิ" ป้องกันตัวเองได้บ้าง ด้วย "การเลือก" ว่าจะบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบเป็นพืชจีเอ็มโอหรือไม่ และวิธีที่จะส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภคดังกล่าวนั้นก็คือ "ฉลาก"

น่าดีใจที่ประเทศไทยมีมาตรการว่าด้วยการติดฉลากอาหารที่มีวัตถุดิบจีเอ็มโอเป็นส่วนประกอบแล้วภายใต้ ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251/2545 หลังจากมีกระแสเรียกร้องมาอย่างยาวนาน

1 ปี หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาที่ให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวต่อเรื่องดังกล่าว ดังนั้น มาตรการนี้จึงมีผลใช้จริงในปี 2546

อย่างไรก็ตาม ชนิดของวัตถุดิบที่ระบุให้ต้องมีฉลากมีเพียง "ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง" - "ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด" ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification)หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering)ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมเพียง 22 ชนิดเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์อาหารที่พบว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอ อาทิเช่น มันฝรั่ง ที่เด็กๆ ชื่นชอบ ยังไม่นับรวมปัญญาการระบุในฉลากที่ไม่ชัดเจน ชนิดที่ไม่เพ่งไม่ตั้งใจค้นหาก็แถบไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ในทางกลับกันผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อก็โฆษณาตัวโตว่า "ไม่ใช่จีเอ็มโอ" ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะในประกาศระบุไม่ให้โฆษณาเช่นนั้น

ใครอยากรู้ต้องดูผลการสำรวจเร็วๆ นี้ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้สำรวจตลาดและรวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาทั้ง 2 แบบไว้แล้ว ดังข้อมูลในตารางด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าด้วย "การเล่นกับตัวเลข" ในข้อกำหนดที่ระบุว่า จะเขียนในฉลากก็ต่อเมื่อวัตถุดิบนั้นเป็นส่วนประกอบหลักใน 3 ลำดับต้น และจะต้องมีสัดส่วนมากกว่า 5 % ขององค์ประกอบทั้งหมด ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้ผู้ผลิตไม่ต้องระบุก็ได้ หากวัตถุดิบจีเอ็มโออยู่ในลำดับที่ 4 หรือเป็นจีเอ็มโอ 100% แต่มีสัดส่วนเทียบกับองค์ประกอบทั้งหมดแล้วมีแค่ 4%

ข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มองค์กรผู้บริโภคคือ ต้องการให้กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 1% ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นสัดส่วนต่ำที่สุดที่จะตรวจพบว่าเป็นจีเอ็มโอ (ต่ำกว่า1% จะไม่สามารถตรวจพบ)

ข้อเรียกร้องนี้ถูกปัดตกจากคณะกรรมการกลางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อครั้งที่ออกประกาศกระทรวง ด้วยเหตุว่า "ญี่ปุ่น" ยังกำหนดเพียง 5% แล้วพี่ไทยจะอะไรนักหนา แถมห้องแลบก็ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับการตรวจถึงขั้นนั้น

อันที่จริงแล้วผู้ที่จะทำหน้าที่ออกมาตรการเหล่านี้ต้องเป็นองค์กรอิสระผู้บริโภค ตามมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่เมื่อยังไม่มี(และยังไม่มีวี่แววว่าจะมี) อย. จึงต้องจัดการไปก่อนพลางๆ

ดูปัจจัยต่างๆ แล้ว ก็น่าคิดว่ามันเป็นประกาศที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภค หรือเป็นหุ่นไล่กาที่ตั้งไว้เฉยๆ โดยขยับเขยื้อนตัวไม่ได้กันแน่...

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net