Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ต.ค.47 กลุ่มติดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอวอทช์ (FTA WATCH) จัดแถลงข่าวเรื่อง "ซีอีโอประเทศไทย สู่ ผู้ว่าการรัฐที่ 52" แสดงความวิตกและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เนื่องจากในวันนี้เป็นวันแรก ( 11-15ต.ค.) ที่ผู้แทนเจรจาการค้าไทย ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยได้เดินทางไปเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา เป็นรอบที่สอง ที่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในแถลงการณ์ระบุถึงจุดที่น่าห่วงใยที่สุดในการทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ คือ การเปิดเสรีทางการเงิน โดยรัฐบาลไม่สามารถควบคุมปริมาณเงินที่ไหลเข้าออกได้อีกต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะถือเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นอกจากนี้ข้อเรียกร้องให้ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการเพื่อรับประกันสิทธิ์ผู้ลงทุนสหรัฐฯ ก็เป็นการลดอำนาจรัฐในการปกป้องผลประโยชน์คนในชาติ

ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลนั้น มีทั้งในด้านการเกษตร และสาธารณสุข โดยเสนอให้รัฐบาลทบทวนข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ให้ไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญากรุงปารีส ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยาและการสาธารณสุขเข้าไปเจรจา

"หากต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการแล้ว การจัดงานสัปดาห์คลายทุกข์ของรัฐบาลทักษิณ จะไม่มีสถานที่เพียงพอและต้องจัดงานไปตลอดอายุของรัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และปิดกั้นการริเริ่มนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของชาติ ประเทศไทยจะกลายเป็นรัฐที่ 52 ของสหรัฐอเมริกา" นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

นายเจริญให้เหตุผลประกอบว่า สหรัฐฯ มีมาตรการปกป้องผลประโยชน์เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกินกว่ามาตรฐานโลก เช่น การขยายเวลาคุ้มครองจาก 20 เป็น 25 ปี การบีบบังคับให้ขยายความคุ้มครองไปสู่สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต การขยายความคุ้มครองในข้อมูลทดสอบยา และการคุ้มครองสิทธิข้อมูลดิจิตอล

"รัฐบาลและคณะผู้แทนเจรจาได้รับฉันทามติจากประชาชนไทยไปตกลงเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อใด" นายเจริญกล่าว

นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ความพยายามของสหรัฐฯ ในการผลักดันเอฟทีเอ เป็นความพยายามมีอำนาจเหนือตลาดโดยผ่านเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างจีเอ็มโอ ผ่านการผลักดันให้พืชจีเอ็มโอแพร่กระจายในวงกว้าง จนต้องตามมาด้วยกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งผ่านระบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) ที่บริษัทผู้ผลิตจะเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าทั้งพันธุ์พืช-สัตว์ ปัจจัยการผลิต และช่องทางการเข้าสู่ตลาด

"หากเปิดทางให้ปลูกจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ตามข้อเสนอในเอฟทีเอ ชาวนาไทยจะไม่มีทางเลือก ต้องตกเป็น "ทาสคำข้าว" คือทุกอย่างทุกคำที่กินเข้าไปมีการจ่ายเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน" นายอุบลกล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนจากเครือข่ายด้านเอดส์ กล่าวว่า จากตัวอย่างที่ผ่านมาทำให้ไม่เชื่อมั่นว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถให้ข้อมูลต่อรัฐอย่างรอบด้านเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตร โดยเฉพาะข้อมูลด้านยาซึ่งกรมฯ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ และมีผลต่อการต่อรองของทีมเจรจา

"ไทยกำลังจะเข้าสู่ระบบที่อำนวยความสะดวกให้บริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาจดสิทธิบัตรยาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ยาที่ติดสิทธิบัตรและจำเป็นต้องใช้ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะมีมากขึ้น และราคาแพงต่อไป เพราะการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญและจดสิทธิบัตรของไทยจะคืบหน้าได้ยาก " น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net