Skip to main content
sharethis

ประชาไท-24 ก.ย. 47 วันนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี(สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)ได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน พ.ศ. ....โดยให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีการประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รองโฆษกฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่จำเป็นต้องยกเลิกวิธีการทำประชาพิจารณ์ เพราะวิธีการมีเพียงแค่รับฟังความคิดเห็น ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

แต่หลังจากนี้ ให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่า ต้องรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการอนุมัติที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

"การรับฟังในที่นี้ ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย แต่ไม่ใช้บังคับแก่โครงการที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศที่ต้องดำเนินการทันที" รองโฆษกฯ กล่าว

โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นฯ แม้กำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องเป็นไปโดยเปิดเผย ต้องเปิดเผยสรุปผลและเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านได้

ภายใต้คณะกรรมการที่ปรึกษาการรับฟังความคิดเห็นฯ ที่มีปลัดสำนักนายกฯ เป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน โดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขและแนวปฏิบัติ

แต่ระเบียบนี้ไม่ใช้บังคับกับโครงการหรือกิจกรรมที่กฎหมายกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือประชาชนไว้เป็นการเฉพาะ และโครงการที่ ครม.มีมติให้ดำเนินการเร่งด่วน เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ผลประโยชน์ของประเทศหรือสาธารณะ ที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที

ทั้งนี้การแถลงผลการประชุมครม.ไม่ได้ระบุว่า มีการนำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน พ.ศ. ....เข้าพิจารณา

เพียงแต่กล่าวสั้นๆ ว่ามีการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีการประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ก่อนหน้านี้นายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า ร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน

เนื่องจากสาระของร่างฯ ซึ่งมีการกำหนดข้อยกเว้นไม่ให้มีการรับฟังความคิดเห็นกรณีที่เป็นโครงการที่ครม.มีมติให้ดำเนินการเร่งด่วนนั้น จะทำให้ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะรัฐสามารถอ้างได้เพื่ออนุมัติโครงการ ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญด้วยเนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นระบุไว้ชัดเจนถึงสิทธิดังกล่าว ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิฯกำลังยกร่าง พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชน

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net