Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 12 ต.ค. 47 "คณะกรรมการมีมติร่วมกันว่าจะต้องคัดค้านการจดสิทธิบัตรของมหาวิทยาลัยคอร์แนล ที่กำลังยื่นขอจดยีนสร้างโปรตีนของไวรัสใบด่างวงแหวน ซึ่งจะทำให้ไวรัสนี้ทุกสายพันธุ์ทั่วโลกกลายเป็นของเขาทั้งหมด แต่คงต้องให้เอ็นจีโอเป็นผู้ทำบทบาทนี้ เพราะกรมวิชาการเกษตรเกรงจะเสียความสัมพันธ์กับคอร์แนล" นายเจริญ คัมภีรภาพ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังการประชุมครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการศึกษาคำขอสิทธิบัตรจากสหรัฐอเมริกา

คณะกรรมการดังกล่าวตั้งขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังเกิดกรณีมะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนออกมานอกแปลงทดลองที่ขอนแก่น เพื่อศึกษาผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้บริษัทมูลนิธิแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลกำลังยื่นคำขอสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองยีนสร้างโปรตีนของไวรัสใบด่างวงแหวน ต่อสำนักงานสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา โดยในใบคำขอระบุถึงไวรัสสายพันธุ์ไทย และมีชื่อนักวิจัยไทยคือ ดร.นงลักษณ์ ศรินทุ อยู่ในรายชื่อนักประดิษฐ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว

ทั้งนี้ ยีนสร้างโปรตีนในไวรัสใบด่างวงแหวนเป็นส่วนสำคัญในการทำการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)ในมะละกอ เพื่อให้มะละกอมีความต้านทานต่อไวรัสดังกล่าว ซึ่งตามข้อมูลของภาครัฐระบุว่าเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรไทยโดยหาทางแก้ไขไม่ได้มากว่า20 ปี

นายเจริญกล่าวว่า หากสิทธิบัตรเป็นของคอร์แนล ไม่ว่ายีนตัวนี้ซึ่งอยู่ในมะละกอจีเอ็มโอที่กำลังมีปัญหาการปนเปื้อนกระจายไปอยู่ที่ใด สิทธิความเป็นเจ้าของของคอร์แนลก็จะตามไปด้วย

"การเป็นผู้ร่วมประดิษฐ์ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ทรงสิทธิในสิทธิบัตรนั้น จึงต้องตรวจสอบให้ได้ว่าเมื่อครั้งที่ดร.นงลักษณ์เดินทางไปทำการวิจัยมะละกอจีเอ็มโอที่คอร์แนลนั้น มีการลงนามตกลงกันไว้อย่างไร แต่จากที่เจ้าหน้าที่สอบถามดร.นงลักษณ์ ซึ่งไม่ได้มาร่วมชี้แจงในวันนี้ทางโทรศัพท์ ท่านยอมรับว่าตอนที่ไปทำวิจัยรู้อยู่แล้วว่าสิทธิบัตรจะเป็นของคอร์แนล" นายเจริญกล่าว

นายเจริญยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ดี กรมวิชาการเกษตรได้มีจดหมายไปยังมหาวิทยาลัยคอร์แนลเพื่อขอถือสิทธิร่วมในสิทธิบัตร ในฐานะที่นักวิจัยไทยเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ และไปในนามของกรมวิชาการเกษตร แต่ทางคอร์แนลได้ตอบปฏิเสธ โดยอ้างนโยบายของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาว่า หากมีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใด ผู้ทรงสิทธิจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งสำหรับมหาวิทยาลัยคอร์แนล มีบริษัทมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นผู้บริหารสิทธิอยู่

ด้านดร.สุณี เกิดบัณฑิต นักวิจัยจากสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า ในคำบรรยายคำขอสิทธิบัตรของคอร์แนลระบุความคุ้มครองในยีนสร้างโปรตีนของไวรัสใบด่างวงแหวน ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ควบคุมการแสดงออกของยีนทั้งหมดของสิ่งมีชีวิต โดยระบุว่าหากยีนสร้างโปรตีนของไวรัสใบด่างวงแหวนสายพันธุ์ใดก็ตาม มีความเหมือนกับยีนที่คอร์แนลขอจดเกิน 85% จะต้องเป็นของคอร์แนล

"มันเป็นประเด็นทางจริยธรรมของงานวิจัย เพราะไวรัสนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลก และมีความเหมือนกันอยู่มากกว่า 90% อยู่แล้ว ฉะนั้นก็เท่ากับไวรัสใบด่างวงแหวนทั่วโลก ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติกลายเป็นของเขาไปด้วย หากจะนำไปใช้ประโยชน์ก็ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร" ดร.สุณีกล่าว

ชี้" คอร์แนล" ผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

นายเจริญ กล่าวว่า หากยีนสร้างโปรตีนดังกล่าวจัดเป็นสารพันธุกรรม ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ ซีบีดี (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคีแล้ว มีเงื่อนไขว่าหากประเทศใดจะเคลื่อนย้ายสารพันธุกรรมจากรัฐหนึ่งไปใช้ประโยชน์หรือจดสิทธิบัตรอีกรัฐหนึ่ง จะต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อขออนุญาตจากประเทศเจ้าของทรัพยากร และต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเท่าเทียม

"สิทธิบัตร" ขาดความใหม่
นายเจริญกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่จะสามารถนำไปคัดค้านคอร์แนลได้คือ เรื่องการขาดความใหม่ ซึ่งถือว่าไม่ตรงเงื่อนไขข้อที่หนึ่งของหลักขอจดสิทธิบัตร เนื่องจากดร.สุณีให้ข้อมูลว่า ความคล้ายคลึงของยีนสร้างโปรตีนไวรัสใบด่างวงแหวนนั้นเคยตีพิมพ์เป็นรายงานเผยแพร่ในวารสารทั้งของต่างประเทศและของไทยมานานแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายเจริญเสนอว่า ควรจะยื่นคัดค้านในฐานะที่ยีนสร้างโปรตีนในไวรัสใบด่างวงแหวนเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ และเป็นทรัพยากรของประเทศไทยด้วย มหาวิทยาลัยคอร์แนลจึงไม่มีสิทธินำไปจดสิทธิบัตรตั้งแต่ต้น

"ถ้าสู้กันในประเด็นว่าจะขอเป็นเจ้าของร่วมก็จะเป็นปัญหาไม่จบ เพราะจะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้ไทยถูกกดดันให้อนุญาตจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต กรณีนี้ต้องสู้เต็มที่เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับพืชพันธุ์อื่นๆ อีกมากมายที่อาจต้องเจอปัญหาเดียวกัน นี่เป็นระดับการต่อสู้ที่เข้มข้นสูงสุด ซึ่งต้องนำเสนอเป็นอีกทางออกหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการครั้งต่อไป" นายเจริญกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net