Skip to main content
sharethis

มติครม.เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2546 ได้รับทราบผลการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า ไทย(ECS) : สนับสนุนการเปิดประตูการค้าภาคเหนือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2546 ณ เมืองพุกาม สหภาพพม่า ให้ดำเนินการตามข้อตกลงใน ปฏิญญาพุกาม (Bagam Declaration) 5 สาขา คือ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านเกษตรและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือทั้งสอง เน้นการพัฒนาเมืองชายแดนในลักษณะเมืองคู่พี่น้องระหว่างกัน เช่น แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เป็นต้น

ในวันที่ 18-19 ตุลาคม นี้จะมีการ การประชุม ครม.ที่อำเภอแม่สอดซึ่งนับเป็นครั้งแรกในสมัยการประชุมประจำปีงบประมาณ 2548 และครั้งแรกสำหรับการประชุมครม. อำเภอชายแดน อีกทั้งเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการประชุมครม.ในพื้นที่อำเภอ หลังจากที่เคยประชุมครั้งแรกที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ประเด็นหลัก ที่จะมีการพูดคุยในการประชุมครม.สัญจร ครั้งนี้ คือ การแก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียม การเชื่อมสัมพันธไมตรีพม่า ผันน้ำเมยลงเขื่อน และการตรวจสอบโครงการตามงบประมาณการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดยผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ประกอบด้วย อบจ. เทศบาล -อบต.ของจังหวัดตากเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และครม.ในการผลักดันให้ยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตก อ.แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด พบพระ และอุ้มผาง แยกตัวออกมาเป็นจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย ซึ่งมีแม่สอดเป็นศูนย์กลาง และของบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม งบฯเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะ/สิ่งปฏิกูล

นอกจากนี้จะเสนอให้ครม. สร้างสัมพันธ์ ไทย - พม่า โดยเชิญผู้นำพม่ามาประชุมที่แม่สอด หรือที่จังหวัดเมียวดี ของประเทศพม่า รวมทั้งการผลักดันให้สนามบินแม่สอด เป็นสนามบินร่วมไทย - พม่า ก่อนการก้าวไปสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งชาวพม่าสามารถเดินทางโดยเครื่องบินจากเมืองย่างกุ้ง มาลงที่ไทย ก่อนจะเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพ ฯ ไปยังจังหวัดเมียวดี และนักท่องเที่ยว - นักธุรกิจ สามารถเดินทางไป-มาระหว่างย่างกุ้ง - แม่สอดได้อย่างสะดวก

ผู้ที่ริเริ่มการจัดตั้งจังหวัดใหม่ คือ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก เขต 2 เมื่อปี 2544 โดยต่อมานายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่สอดเข้ามาสานต่อและเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดัน เนื่องจากศักยภาพในปัจจุบันมีความพร้อมสูง ไม่ว่าทางด้านพื้นที่ สภาพภูมิศาสตร์ รายได้ของประชากร สภาพเศรษฐกิจ เป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษเนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว มีการติดต่อกับประเทศพม่า และต่อไปในอนาคตการคมนาคมเส้นทางนี้จะไปสู่ยุโรปได้

ทางเทศบาลเมืองแม่สอดได้ทำหนังสือที่ ตก 52101/ว 427 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2546 ถึงพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตาก ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยนายประวิทย์ สีห์โสภณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ขอให้ทางจังหวัดตรวจสอบข้อมูลและความเหมาะสม รวมทั้งความเห็นในการจัดตั้งจังหวัดใหม่ดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2524

ต่อมานายศิวะ แสงมณี ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือที่ มท. 0310.1/9058 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ว่า ในการดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลความเหมาะสม พิจารณาเห็นว่า การขอยกฐานะ 5 อำเภอชายแดนดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ จึงให้ชะลอการจัดตั้งจังหวัดใหม่ไว้ก่อน

พื้นที่จังหวัดตากแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งชัดเจน คือ ฝั่งตะวันออกมี 3 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา และกิ่งอำเภอวังเจ้า มีอำเภอเมืองตากเป็นศูนย์กลาง และฝั่งตะวันตกที่อยู่ติดกับชายแดนพม่ามี 5 อำเภอ คือ อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง มีอำเภอแม่สอดเป็นศูนย์กลาง

โดยพื้นที่ชายแดนตะวันตก เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาศที่ 1 ถึง ไตรมาศที่ 3 สิ้นเดือนกันยายน 2547 ตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทย-พม่า สูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท แล้วเป็นตัวเลขการค้าที่สูงที่สุดนับแต่มีการค้า ชายแดนทางด่านถาวรแม่สอดเมียวดี และคาด ว่าก่อนสิ้นปี 2547 หรือสิ้นสุดไตรมาศที่ 4 จะมีตัวเลขการส่งออกสินค้าสูงถึง 13,000-15,000 ล้านบาท ที่ผ่านมานี้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าทางด้าน อ.แม่สอด มีมูลค่าประมาณ 8,200 กว่าล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับทั้งปี 2546 (1 มกราคม 2546-1 มกราคม 2547) มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,080 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว

ขณะที่การลงทุนปัจจุบันปริมาณการของผลผลิตรวมของโรงงานใน อ.แม่สอด มีมูลค่า 5,443 ล้านบาท จำนวน 155 โรงงาน จากทั้งจังหวัดที่มีอยู่ 443 โรงงาน รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,591.65 ล้านบาท แยกเป็นโรงงานขนาดเล็ก 200 โรงงาน ขนาดกลาง 81 โรงาน และโรงงานขนาดใหญ่ 293 โรงงาน โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้า แปรรูปสินค้าเกษตร และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง

โดยในปี 2546 มูลค่าการค้าของไทยกับ 3 ประเทศ (พม่า , ลาว , กัมพูชา) มีมูลค่า 97,412 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.36 ของมูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (รวมมาเลเซีย) ซึ่งมีมูลค่า 286,830.6 ล้านบาท สำหรับปี 2547 (ม.ค. - เม.ย.) มูลค่าการค้าชายแดนกับ 3 ประเทศ มีมูลค่า 34,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.2 โดยพม่า เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง รองไปเป็นลาว และกัมพูชาตามลำดับ

รายงานการวิจัยเรื่อง "การย้ายถิ่นข้ามพรมแดนไทย-พม่า และสถานการณ์เสี่ยงต่อโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ย้ายถิ่น : พื้นที่แม่สอดและแม่สาย" โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากปัญหาทางการเมือง-การสู้รบในพม่า ที่นำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกอรปกับสภาพเศรษฐกิจในพม่าที่ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ก่อให้เกิดการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยจำนวนมาก รวมทั้งท้องที่จังหวัดตาก โดยเฉพาะแม่สอด ที่เป็นพื้นที่ที่มีสถานประกอบการอุตสาหกรรม

ส่วนใหญ่ทำงานตามสถานประกอบการต่างๆทั้งในภาคเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม กิจการธุรกิจบริการและค้าขาย ก่อสร้าง คนขายของหน้าร้าน คนรับใช้ตามบ้าน รับจ้างทำนา-ไร่ สวนผัก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยกระจายตัวกันอยู่ตามชุมชนต่างๆ 16 ชุมชน แต่สำหรับคนมุสลิมชาวพม่า จะรวมตัวกันอยู่เป็นชุมชนของตนเอง พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และมากกว่า 1 ใน 3 มีอายุไม่เกิน 20 ปีโดยในกลุ่มแรงงานหญิงส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นโสด

เนื่องจากแม่สอด ติดกับรัฐกะเหรี่ยง จึงมีเชื้อชาติกะเหรี่ยงเข้ามาถึง 54.8% พม่า 34.4% ที่เหลือเป็นเชื้อชาติอื่นๆ 10.8% โดยในกลุ่มเชื้อชาติพม่า ส่วนมากจะมีการศึกษาดีเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่กะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะทำงานในภาคเกษตรกรรมและบริการ โดย 39.5% ต้องเสียค่านายหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท แต่ในกลุ่มที่ทำงานในสถานบริการทางเพศจะเสียจำนวนสูงสุดถึง 24,000 บาท

ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ย 1,485 บาท/เดือน ราว 46.3% มีรายได้อยู่ในช่วง 1-2,000 บาท โดยกลุ่มหญิงบริการทางเพศที่มีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 8,033-20,000 บาท/เดือน ซึ่งเมื่อคำนวณทั้งหมดที่ฐานตัวเลข 45,030 คน จะมีรายได้ประมาณ 94.5 ล้านบาท/เดือน หรือประมาณ 1,134 ล้านบาท/ปี

ปี 2547 อ.แม่สอด จ.ตาก หัวเมืองชายแดนด้านตะวันตกของไทย ที่มีพรมแดนติดกับประเทศพม่า มีอายุครบ 105 ปีบริบูรณ์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 99 กม. ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่เป็น "คนพม่า" มากกว่า 70% มีคนไทยแท้ไม่ถึง 30%เท่านั้น โดยตัวเลขคนข้ามชาติในแม่สอดที่แท้จริงอาจจะมากกว่า 1 แสนคน หรือมากกว่าคนไทยไม่น้อยกว่า 4-5 เท่าตัวเป็นอย่างต่ำ ถ้ารวมประชากรทั้งหมดของจังหวัดตากจะมีอยู่ประมาณ 150,000 คน เป็นคนไทย 90,000 คน เป็นคนพม่า 60,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ ที่อาศัยช่องทางนี้ผ่านเข้าออก รวมทั้งการเข้ามาเพื่อทำมาหากิน-หางานทำ-ลี้ภัยสงครามแม้กระทั่งการเข้ามาตั้งรกรากในแม่สอดกลายเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดไปแล้ว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net