Skip to main content
sharethis

"ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 แฉ "จุมพล" จงใจอุ้ม" ทักษิณ" คดีซุกหุ้น (ข่าวการเมือง,โพสต์ทูเดย์ หน้า เอ6) ย้อนคดีซุกหุ้นไม่โปร่งใสผู้พิพากษาแฉชัดมี "อุ้ม" ทักษิณ (แนวหน้า,หน้า 1) ผู้พิพากษาแฉศาลรัฐธรรมนูญ พยานเบิกความถล่มจุมพล วิ่งหารือ" แม้ว" พ้นซุกหุ้น ( ไทยโพสต์ ,หน้า 1) Judge 'lobbied' in PM's assets case (บางกอกโพสต์, หน้าข่าวทั่วไป)

วานนี้(13 ต.ค.) หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับพาดหัวข่าวกรณี นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ปากคำต่อศาลอาญาในฐานะพยานคดีฝ่ายจำเลย ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ฟ้องหมิ่นประมาท น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้าและพวก กรณีการวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

โดยคำเบิกความของประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พาดพิงถึงนายจุมพล ณ สงขลา ว่า มีเจตนาจงใจช่วยนายกรัฐมนตรีฯ ให้พ้นความผิด บางฉบับได้สัมภาษณ์เพิ่มเติมความเห็นของนายจุมพล ต่อคำเบิกความของนายวสันต์ ในทำนองตัดพ้อต่อว่า เป็นการขายเพื่อน

ทั้งมีการสัมภาษณ์ผู้คนในหลายวงการเพิ่มเติม จนเป็นเรื่องบานปลายถึงขั้นมีผู้เสนอเสนอให้ยื่นถอดถอนผู้กระทำผิดออกจากตำแหน่งสำคัญ

อย่างไรก็ดีในแง่การรายงานข้อเท็จจริง มีข้อสังเกตถึงการนำเสนอข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ไทยว่า เหตุใดจึงมีสื่อบางฉบับเท่านั้นที่นำเสนอข่าวดังกล่าว บางฉบับรายงานเหตุการณ์เพียงสั้นๆ ขณะที่บางฉบับอาทิ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศ กลับไม่มีเนื้อหาข่าวสำคัญชิ้นดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย

นักข่าวสายศาลสังกัดหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาและเพื่อนนักข่าวอีกหลายคนไม่ได้เข้าไปฟังคำสอบนายวสันต์ด้วยตนเอง เนื่องจากบอร์ดแจ้งหมายนัดสอบคดีที่หน้าศาลอาญา ระบุข้อความเพียงว่า มีการสอบพยานคดีดังกล่าว แต่ไม่ได้ลงชื่อนายวสันต์ จะมีก็เพียงผู้สื่อข่าว 1-2 ฉบับเท่านั้นที่ทราบ

เขายอมรับว่า การนำเสนอข่าวในลักษณะการให้ปากคำต่อศาล โดยเฉพาะที่พาดพิงถึงบุคคลสำคัญทั้งฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารสูงสุดของประเทศ ต้องละเอียดอ่อน รัดกุม เพราะเคยมีกรณีตัวอย่างว่า ฝ่ายโจทย์ยื่นฟ้องศาลว่า สื่อละเมิดอำนาจศาลโดยนำข้อความให้ปากคำในศาลไปเผยแพร่ แม้ว่า ท้ายที่สุด ศาลมิได้มีคำสั่งลงโทษสื่อก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้สื่อข่าวระมัดระวังการนำเสนอมากขึ้น

"เท่าที่ทราบ มีเพื่อนนักข่าว รายงานข่าวชิ้นนี้ให้กับหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ แต่ไม่เห็นตีพิมพ์ อาจจะเป็นได้ว่า เพราะนักข่าวของตนไม่ได้เป็นผู้ส่งข่าวให้โดยตรง และเรื่องราวก็หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาลและบุคคลสำคัญระดับประเทศ ทำให้บก.บางฉบับตัดสินใจไม่ตีพิมพ์" เขาให้ความเห็น

นักข่าวอาวุโสประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า กองบก. ไม่ทราบหมายข่าวดังกล่าว ทำให้นักข่าวไม่ได้รายงานข่าวสำคัญชิ้นดังกล่าวต่อหัวหน้าข่าวการเมือง

"ในที่ประชุมโต๊ะข่าววันนี้(14 ต.ค.)ก็คุยกันถึงเรื่องนี้ว่า ให้ตามประเด็นต่อเนื่อง เพราะเห็นว่า เป็นประเด็นใหญ่ ส่วนเรื่องตกข่าวเมื่อวาน(13 ต.ค.) ไม่ได้พูดถึงมากนัก"

ขณะที่นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ซึ่งพาดหัวข่าวดังกล่าวในหน้าแรกกล่าวติดตลกว่า คงเป็นเพราะไทยโพสต์ถูกฟ้องจนชิน ทำให้บก.ไม่ต้องคิดมากว่าควรจะตีพิมพ์ข่าวชิ้นนี้หรือไม่

ส่วนที่หลายฉบับไม่ได้ตีพิมพ์ข่าวสำคัญนั้น เป็นไปว่า หากตีพิมพ์ก็จะกระทบกับงบโฆษณาประชา สัมพันธ์ของบริษัทในเครือฯ ที่สัมพันธ์กับบุคคลในข่าว โดยเฉพาะปัจจุบันถือเป็นกลุ่มฯ ที่ใช้จ่ายสูงในอันดับต้นๆ ของเม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบ

หากหนังสือพิมพ์ถูกถอนโฆษณา ก็หมายถึง เม็ดเงินในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ถือเป็นรายได้หลักของสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะหายตามไปด้วย

ในประเด็นเดียวกัน ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์รายวันย่านวิภาวดีรังสิตตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีคนเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวเข้ากับกระแสรัฐประหาร เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่ปรากฏในข่าวโยงใยสัมพันธ์กับกลุ่มก้อนการเคลื่อนไหวทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ทำให้สื่อลังเลที่จะเสนอข่าวดังกล่าวทันที

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ได้จากการพูดคุยในวงนักข่าวเท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานหรือมูลเหตุอะไรที่สนับสนุนแนวคิดแต่อย่างใด

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการนำเสนอข่าวที่กำลังดังไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

กองบรรณาธิการ
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net