Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 16 ต.ค.47 "เรายอมรับว่า ขณะนี้ไม่ว่าทางจังหวัดหรือชาวบ้าน ได้รับข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้น้อยมาก จังหวัดยังไม่มีใครเห็นรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA นี้เลย ล่าสุดทาง ส.ว.เชียงรายทั้ง 4 ท่าน ได้เข้าพบ นายวรเกียรติ สมสร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้มีการศึกษาในภาครวมทั้งหมด เพราะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ อำเภอใดอำเภอหนึ่ง แต่คนทั้งจังหวัด และที่สำคัญ คือ ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการและตัดสินใจ" นายนพพร ต้อนรับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ระบุ

เมื่อบ่ายวานนี้ ที่ ห้องดอยตุง รร.ดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย นสพ.โพสต์ทูเดย์ ได้จัดสัมมนาเรื่อง "มิติใหม่การค้าการลงทุนตามแนวชายแดนภาคเหนือ" โดยเฉพาะในประเด็น เชียงแสน ประตูเศรษฐกิจไทย-จีน และการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 500 คน

ทั้งนี้คำถามที่ผู้เข้าร่วมฯ ส่วนใหญ่ให้ความสนใจคือ การดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่ผ่านมา เหตุใดคนเชียงรายไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม และทำไมถึงต้องมีการศึกษาและเจาะจงเฉพาะพื้นที่ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน

นายนพพร กล่าวว่า ทางจังหวัดเคยเสนอให้มีการศึกษาอีไอเอทั้งจังหวัด โดยใช้กรอบการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม ของ ม.มหิดล แต่สุดท้ายก็ถูกตีกลับ ทำให้หลายคนเกิดความสงสัย ซึ่งตนคิดว่าจะต้องนำไปปรับใหม่ และนำเสนออีกครั้ง

นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าฝ่ายชายแดนและเลขานุการสมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทยพม่า เปิดเผยว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรม นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่สถานที่ตั้งนั้น หลายคนบอกว่าเป็นที่น่าเสียใจ ที่มีการสร้างในเขตอ.เชียงแสน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

"หากเรามองเห็นแต่อนาคต มองเห็นแต่เงิน แต่ไม่ได้ย้อนมองไปในอดีต ในสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างเอาไว้ เราจะทำอย่างไร ขอให้ทุกคนได้ตระหนัก และเรียกร้องให้รัฐได้มองฐานความคิดชองชาวบ้าน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะสุดท้ายในอนาคต เราไม่รู้ว่านิคมอุตสาหกรรมฯ นั้นคือยาแก้จน หรือ ยาพิษ"

นายธรษิณ เหล่ารุ่งโรจน์ นักวิจัยเรื่องศักยภาพของเชียงแสนกับการค้าชายแดน ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามว่า แรงจูงใจของประเทศจีนที่มีการลงทุนในประเทศไทย นอกจากเรื่องภาษีแล้ว ยังมีอะไรแอบแฝงอีก

นายธรษิณได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักการ การขนส่งทางบกย่อมดีกว่าการขนส่งทางน้ำ เมื่อมีการสร้างสะพานข้ามน้ำโขง ที่อ.เชียงของ แล้วเหตุใดต้องมาสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ ที่ อ.เชียงแสน ทำไม่ไม่กระจายความเจริญไปอำเภออื่นๆ

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน ได้เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพราะเชียงแสน เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มากว่าพันปี เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีโบราณ
สถานอยู่รายรอบ หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ย่อมทำลายเอกลักษ์ของเมืองเชียงแสนอย่างแน่นอน

"ที่สำคัญก็คือ ผมมองว่า อ.เชียงแสน และอำเภอใกล้เคียง กำลังเป็นเหยื่ออันโอชะของจีน ที่เขาจะเข้ามาใช้ตะเกียบจิ้มเอาเนื้อชิ้นใดเข้าปากก็ได้ ยิ่งมีทราบข่าว บ.ไทยจีนพัฒนา เข้ามากว้านซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ ต.ศรีดอนมูล ต.ป่าสักน้อย อ.เชียงแสน กว่า 3,000 ไร่ โดยใช้วิธีการซื้อที่ดินเป็นของบริษัทส่วนหนึ่ง และมีการกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน ในราคาขายตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท และใช้วิธีการทำสัญญามัดจำกับชาวบ้าน ตั้งแต่ไร่ละ30,000-40,000 บาท"

"ล่าสุดเมื่อเข้าไปสอบถามแล้วเป็นความจริง อีกทั้งยังได้ทำสัญญาทาส กับชาวบ้าน ในกรณีหากมีการล้มเลิกโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ ชาวบ้านต้องชดเชยค่ามัดจำ 3 เท่าของจำนวนเงิน" นายมิติ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net