Skip to main content
sharethis

ข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหา "มะละกอจีเอ็มโอ" ดูเหมือนจะจางหายไปแล้วหลังนายกรัฐมนตรี ยอมถอยเรื่องการเปิดให้ปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ และอนุญาตให้ทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา โดยยังไม่นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

อีกทั้งยังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อตรวจสอบเรื่องสิทธิบัตรและการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" จะหลั่งน้ำตาลาจากกระทรวงเกษตรฯ ที่รักยิ่งของเขาไป

กว่าจะมี "ข่าว" ออกมาอีก ผู้คนก็อาจจะลืมความสำคัญของประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ "จีเอ็มโอ" ไปแล้ว ซึ่งหลายคนอาจมองเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะ "ชิน" เมื่อข่าวออกมามากและ "เฉย" เมื่อข่าวคราวเริ่มจางหาย แม้ว่าเรื่องนั้นจะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและหลากหลายมิติ และยังไม่มีหลักประกันในความผันผวนของนโยบายเรื่องจีเอ็มโอเลยก็ตาม

แต่หากลองนึกถึงใครสักคนที่จะ "ไม่ชิน" และ "ไม่เฉย" กับเรื่องของจีเอ็มโอแล้ว..... คงต้องมีซักคนที่นึกถึง "ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีต "ไอ้ก้านยาว" หนึ่งในสมาชิก "คนเดือนตุลา"

"จีเอ็มโอ มันเป็นเรื่องของการตลาด โดยอาศัยนักวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือของการเจาะตลาด อ้างเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เนื้อแท้ก็คือการเจาะตลาดขายของ โดยเจตนารู้ทันกันอยู่"

"จุดยืนของผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนเป็นรัฐบาล จนมาเป็นรัฐมนตรีก็ยังคัดค้าน พอค้านก็ถูกปลด ถูกปลดก็ยังยืนคัดค้านอยู่" ประพัฒน์ยังยืนยันคำเดิมแม้ในวันที่กลับมาใช้ชีวิตเกษตรกรอย่างเป็นสุขในสวนเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขาบุกเบิกทำมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

"ภรรยาผมทำเป็นสวนผสม ปลูกมะม่วง มังคุด น้อยหน่า ฟักแฟง อะไรบ้างไม่รู้ ปลูกสะเปะสะปะ ผมอยู่ที่นั่นก็สบายดี สบายมาก"

"ชีวิตคนเราจะอะไรกันนักกันหนา อะไรทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ชีวิตมนุษย์มันต้องมีอะไรที่เป็นตัวของเราเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง ยิ่งเป็นรัฐมนตรี การเป็นรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อคนจำนวนมาก ไม่แค่ในยุคนี้ แต่ในยุคหน้าๆ สืบไป ถ้าทำอะไรผิดพลาดแล้วลูกหลานเราจะลำบาก มันจึงต้องรอบคอบ" คำบอกเล่าความรู้สึกของอดีตรัฐมนตรี

บทบาทของเขาในการผลักดันเรื่องนี้ชัดเจนมาตั้งแต่ครั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำข้อเสนอของกลุ่มสมัชชาคนจน ตลอดจนเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณา กระทั่งมติ ครม.ออกมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2544 ไม่อนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งไม่อนุญาตให้มีการทำวิจัยพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่พอจะทัดทานการเปิดเสรีจีเอ็มโอได้ในเบื้องต้น

ตอนที่รับผิดชอบกำกับงานวิจัยและพัฒนาของกรมวิชาการเกษตร เขาก็เคยสะท้อนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า" แม้การศึกษาวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างรีบด่วนและเป็นความต้องการของเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรที่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ แต่ว่าเรายังมีเกษตรกรอีกหลายระดับที่จะต้องดูแล เพราะฉะนั้นจึงต้องรอบคอบอย่างมาก เราพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ แต่อีกด้านหนึ่งคือเราต้องตั้งหลักให้ดีในการรับเทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อจะไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิตในภาคการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต"

พร้อมกันนั้นก็มีการศึกษามาตรการกีดกันทางการค้าว่าด้วยเรื่องจีเอ็มโอของประเทศคู่ค้าต่างๆ และการกำหนดกรอบนโยบายเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพที่เริ่มจริงเป็นจังขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นายกฯ คนเดียวที่มีตัวแทนจากต่างชาติเข้าพบเพื่อให้ผ่อนปรนเงื่อนไขเกี่ยวกับจีเอ็มโอ เพราะแม้ตัวเขาเองก็ยอมรับว่ามีการติดต่อพูดคุยจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยีเช่นกัน ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องปกติของระบบการทูตที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์

"เขาก็อยากจะขายสินค้าเขา ทูตก็มาเจอ รัฐมนตรีก็มาเจอ ให้เราช่วยผ่อนคลายเรื่องการทดสอบจีเอ็มโอ ให้ประเทศไทยยอมรับเสีย และในทางการทูตผมนั่งเป็นรัฐมนตรี ผมก็ตอบปฏิเสธไม่ได้ มันก็เสียสัมพันธไมตรีอันดีงาม นักการเมืองก็ต้องรับแต่ขอเวลา" ประพัฒน์เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในการสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยที่ต่อเนื่องแก่นักวิจัยก็เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งเขาพบในช่วงดำรงตำแหน่ง

"ในกรมวิชาการเกษตรเองแล็บก็ไม่มี แล็บที่มีก็เล็กมาก และกระจัดกระจายอยู่กันแบบอนาถามาก อยู่ในโรงรถ ตอนหลังอธิบดีไม่เข้าใจก็ไปทำลายทิ้ง"

"กลายเป็นว่าการส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีของเราเอง โดยนักวิจัยของไทยเอง ในเรื่องทดลองต่างๆ ไม่เกิด แล้วไปยอมรับเทคโนโลยีต่างชาติมาทดลองต่อในประเทศไทย หน้าที่เราก็แค่ให้นักวิจัยเอาพันธุ์ของเขามาปลูก แล้วศึกษาว่ามีผลกระทบอะไรหรือไม่เท่านั้น"

"มันเป็นการช่วยยืนยันเทคโนโลยี ความรู้ของต่างชาติ เพื่อที่จะมาขายเอาเงินคนไทยอีกต่อหนึ่ง ความรู้สึกของผมในเวลานั้นรู้สึกว่า เป็นทาสทางความคิดที่ปลดปล่อยไม่ไป เป็นทาสที่ยอมศิโรราบกับต่างชาติอย่างไม่มีทางโงหัว ถ้าหากใครมีโอกาสที่ได้บริหารองค์กรนี้ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์เสียใหม่"

อย่างไรก็ดี แนวคิดเช่นนี้ทำให้เขาค่อนข้างโดดเดี่ยวในรัฐบาล ซึ่งยิ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อพิจารณาดูกรอบนโยบายด้านเทคโนโลยีชีวภาพของรัฐบาลที่ออกมาหลังจากเขาพ้นตำแหน่งแล้ว โดยคาดหวังให้ประเทศไทยมุ่งสร้างธุรกิจชีวภาพสมัยใหม่ ให้เกิดการลงทุนทำวิจัยพัฒนาและตั้งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพไม่น้อยกว่า 100 บริษัท มูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี (1 ใน 6 เป้าหมายระดับชาติของคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546)

"ผมอาจจะเป็นคนกลุ่มน้อยมากในชนชั้นสูง แต่ถ้าเรากำลังรู้ว่าคนขับรถจะพารถพวกเราไปตกเหวก็ต้องตะโกนโหวกเหวกว่าอย่าขับเส้นนี้ พอเราตะโกนโหวกเหวกก็กลายเป็นพวกพูดมาก คิดแปลกพิสดารไม่เหมือนเขา น่าจะเงียบๆ ไว้ แต่ผมไม่ใช่ ไม่เห็นด้วยก็ต้องลุกขึ้นมาพูด จะเกลียดจะชังก็ช่าง"

"ชีวิตผมอาจจะลำบาก อนาคตทางการเมืองอาจจะตีบตัน แต่ผมไม่เห็นแคร์เลย เราเป็นอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ สุดท้ายคนไทยก็จะเข้าใจเอง" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ คนนี้ยังคงมั่นใจในจุดยืนดังเดิม

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net